สังเกต 6 การเปลี่ยนแปลง สัญญาณเสี่ยงสู่การเป็นโรคซึมเศร้า

สังเกต 6 การเปลี่ยนแปลง สัญญาณเสี่ยงสู่การเป็นโรคซึมเศร้า

สังเกต 6 การเปลี่ยนแปลง สัญญาณเสี่ยงสู่การเป็นโรคซึมเศร้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคซึมเศร้า ในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะเป็นโรคชนิดใหม่ที่ผู้คนล้วนเป็นกันมาก แต่แท้ที่จริงแล้ว โรคซึมเศร้าต่างจากอาการซึมเศร้าอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว จึงทำให้น้อยคนนักที่จะเข้าใจถึงสภาวะของผู้ป่วยโรคนี้อย่างแท้จริง ดังนั้น วันนี้เรามี 6 การเปลี่ยนแปลงหลักๆ ที่จะช่วยให้คุณสามารถสังเกตอาการตนเอง และคนใกล้ตัวว่ามีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้านี้หรือไม่มาฝากกัน

1.อารมณ์เปลี่ยนแปลง

โดยที่มักจะพบบ่อยๆ ก็คือ กลายเป็นคนที่เศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อยกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ในบางรายอาจไม่แสดงอาการออกมา แต่หน้าตาหรืออารมณ์จะไม่สดชื่นแจ่มใสเหมือนเคย นอกจากนี้ ยังเบื่อหน่ายกับกิจกรรมหรือกิจวัตรที่เคยชื่นชอบ รวมทั้งไม่อยากตื่นนอน เกิดความรำคาญ หงุดหงิดฉุนเฉียวได้ง่าย ซึ่งคนใกล้ตัวจะสามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างชัดเจน

2.มองทุกอย่างรอบตัวในแง่ลบ

มักจะมองเห็นแต่ด้านแย่ๆ มองเห็นแต่ความล้มเหลว ผิดพลาด คิดแต่เรื่องที่บั่นทอนจิตใจ ท้อแท้ หมดหวังกับชีวิต ในบางรายมักจะมีความไม่มั่นใจในตัวเอง ลังเล รู้สึกตนเองไร้ค่า ไร้ความสามารถใดๆ ซึ่งการย้ำคิดย้ำทำแต่เรื่องเหล่านี้ก็จะทำให้อาการแย่ขึ้น และทวีความรุนแรงไปสู่การฆ่าตัวตายได้

3.ความจำแย่ลง

มักจะเริ่มหลงลืมได้ง่ายขึ้น เนื่องจากไม่ใส่ใจต่อสิ่งรอบข้าง จิตใจเหม่อลอยอยู่กับความคิดที่ปรุงแต่งออกมา จึงทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในหน้าที่การงาน จึงมีการทำงานอย่างผิดพลาดเป็นประจำ งานออกมาไร้ประสิทธิภาพ รวมทั้งลาหยุดงานบ่อยโดยไร้สาเหตุ จนกระทั่งทำให้ต้องถูกลดงานหรือถูกให้ออกจากงานเลยทีเดียว

4.มีอาการทางร่างกายร่วมด้วย

เช่น เบื่ออาหารจนน้ำหนักลดฮวบ อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ท้องผูก ปากคอแห้งผาก ในบางคนอาจปวดศีรษะเป็นประจำ การนอนหลับก็ยากขึ้น โดยส่วนใหญ่มักจะตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อไม่ได้ หรือตื่นขึ้นมาแต่เช้ามืดแล้วกลับมานอนกลางวันแทน

5.ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป

เนื่องจากบุคลิกของผู้ป่วยมักจะพูดน้อยลง ไม่แจ่มใส หดหู่ รวมทั้งก้าวร้าวในบางครั้งจึงทำให้มักจะเกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง ไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว และคนใกล้ชิด

6.เกิดอาการโรคจิตประเภทอื่นร่วมด้วย

ในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและปล่อยไว้ให้เรื้อรังยาวนานต่อเนื่องแล้ว ผู้ป่วยมักจะมีอาการรุนแรงของโรคซึมเศร้าร่วมกับโรคจิตประเภทจิตหลอน หรืออาการหลงผิดร่วมด้วย ซึ่งทำให้การรักษายากลำบากกว่าเดิม

โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ เพียงแค่ต้องใช้เวลา การรักษาที่ถูกวิธี การได้รับความเข้าใจ และกำลังใจจากคนในครอบครัวตลอดจนคนรอบข้าง แต่เหนือสิ่งอื่นใด ตนเองก็ต้องให้กำลังใจตนเองเพื่อก้าวผ่านช่วงเวลาลำบากนี้ไปให้ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook