เปลี่ยน “เมนูยี้” เป็น “เมนูโปรด”
เจ้าตัวเล็กเพิ่งจะกินอาหารเสริมมาแค่ 6 เดือนก็ออกแววว่า ยี้อาหารเสียแล้ว บ้างก็ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินผัก ไม่กินไข่ ไม่กินปลา อาหารที่ไม่กินล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งนั้น เมื่อมีสัญญาณว่าลูกเบื่ออาหาร คุณแม่มือโปรอย่างเราจะทำยังไงดีล่ะคะ
ช่วยด้วยลูกไม่กิน...(อีกแล้ว)
Madame เชื่อว่า แทบทุกบ้านอาจจะเคยประสบปัญหาลูกไม่กินอาหารบางประเภทแบบนี้ค่ะ แล้วคุณแม่ก็มานั่งเครียดเปิดตำราหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร บ้างก็ว่าฝีมือตัวเองไม่ถึงขั้นบ้างล่ะ ลูกเบื่ออาหารบ้างล่ะ แต่จริงๆ แล้ว สาเหตุที่เด็กๆ เขาเบื่ออาหารบางประเภทนั้นมันมีที่มาค่ะ
ป้าเกศบอกว่า ถ้าให้จัดลำดับสุดยอดอาหารที่เด็กๆ ร้องยี้แล้วล่ะก็ อาหาร 5 อันดับที่ลูกไม่กินนั้นได้แก่...
- ข้าว เด็กๆ นี่ขี้เบื่อนะคะ กินข้าวอยู่ทุกวันๆ ลูกก็ไม่อยากจะกินเพราะเบื่อค่ะ
- ไข่ ที่เด็กๆ ไม่กินก็เพราะก็กลิ่นคาวเหมือนปลานั่นแหละค่ะ โดยเฉพาะไข่ตุ๋นหรือไข่ต้ม
- ผัก เพราะส่วนใหญ่ผักจะมีกลิ่นเหม็นเขียวเป็นเอกลักษณ์ ยิ่งถ้าผักชนิดไหนที่มีเสี้ยนเยอะแล้วคุณแม่เลือกผักไม่เหมาะแล้วล่ะก็ ลูกเห็นผักทีไรเป็นต้องร้อง "ผัก...ยี้...ผัก" เลยล่ะค่ะ
- ปลา อาหารประเภทนี้ไม่ว่าแต่เด็กล่ะค่ะที่รู้สึกยี้ ผู้ใหญ่เราบางคนก็ยังยี้กับกลิ่นคาวของปลา ถ้าคุณแม่ไม่มีเทคนิคการปรุงที่ดี หรืออาจจะพลั้งเผลอฝีมือตกไปหน่อยตั้งแต่ครั้งแรก กลิ่นคาวของปลาจะติดจมูกลูกไปตลอดเลยล่ะ
- เนื้อสัตว์ ไม่ใช่ว่าลูกจะอยากกินมังสวิรัติหรอกนะคะ แต่เนื้อสัตว์ต่างๆ ยกเว้นเนื้อปลา จะค่อนข้างเหนียวและเคี้ยวยาก ด้วยความที่ฟันของลูกยังไม่สามารถบดเคี้ยวได้ดีพอ ลูกเลยไม่อยากกิน ยิ่งถ้าคุณแม่ทำชิ้นใหญ่เกินความสามารถที่จะเคี้ยวได้ พอฟันกระทบกับเนื้อเหนียวๆ ลูกก็จะคายทันที
ที่นี้คุณแม่คงพอรู้แล้วใช่ไหมคะ ว่าลูกไม่กินอาหารบางประเภทเพราะอะไร ต่อไปนี้เป็นเทคนิคแปลงเมนูสุดยี้เป็นเมนูสุดโปรดให้ลูกค่ะ
ตกแต่งเติมสีสัน
คุณแม่ต้องไม่เหนื่อยที่จะปรับเปลี่ยนเมนูอาหารไปเรื่อยๆ แต่อาศัยการการดัดแปลงส่วนผสม หน้าตา และสีสันของอาหาร รวมถึงการตั้งชื่ออาหารให้ดึงดูดความสนใจจากลูก เช่น ข้าวไข่เจียวธรรมด๊า...ธรรมดา คุณแม่ก็ปรับจากไข่เจียวแผ่นใหญ่ 1 แผ่น โดยแบ่งเจียว 2 ครั้ง หรือเจียวแผ่นใหญ่ ใช้พิมพ์รูปต่างๆ กดให้เป็นรูปร่าง แล้ววางแต่งหน้าบนข้าวสวยแสนอร่อย
รวมไปถึงการเพิ่มสีสัน โดยการเปลี่ยนสีข้าวด้วยผักที่มีสีสันแตกต่างกันไป เช่น ข้าวสีเหลืองทองจากฟักทอง ข้าวสีเขียวก็ใช้ใบเตยสดคั้นน้ำ หรือข้าวสีส้มจากแครอต หรือคุณแม่อาจใช้วิธีการใส่ผักที่หั่นเป็นรูปร่างต่างๆ ต้มสุกแล้วหุงรวมลงไปในหม้อ เพื่อเพิ่มคุณค่าสารอาหารและสีสัน หน้าตาอาหารให้น่ากินมากขึ้น
ดัดแปลงเมนูเพิ่มความแปลกใหม่
จาก ที่ผัดๆ ทอดๆ แล้วราดบนข้าวให้เจ้าตัวเล็กกิน คุณแม่ลองเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนออาหารให้ลูกรู้สึกแปลกตาบ้าง ก็จะช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากลิ้มลองรสชาติ ลองพลิกตำราอาหารต่างชาติดูบ้างสิว่า พอจะเอามาดัดแปลงใช้กับเมนูไทยๆ ได้บ้างไหม เช่น ม้วนอาหารที่เป็นแผ่นด้วยการจัดเรียงวัตถุดิบเป็นชั้นๆ แล้วหั่นชิ้นพอคำ ก็จะได้อาหารที่มีลักษณะคล้ายข้าวปั้นญี่ปุ่น หรือใช้วิธีการดัดแปลงอาหารที่เด็กๆ กินได้ให้คล้ายกับอาหารจานโปรดของผู้ใหญ่ เช่น ยำ ส้มตำ ต้มยำ ฯลฯ เพราะบางครั้งการที่ลูกๆ เห็นผู้ใหญ่กินอาหารต่างๆ แล้วอยากกินบ้าง
งัดเทคนิค ปรุงให้ถูกปาก
คือ การเติมเทคนิคก่อนที่อาหารจะสุกและการปรุงอาหารให้สุก เพื่อกลบกลิ่นหรือเลี่ยงไม่ให้ลูกเผชิญหน้ากับอาหารที่ไม่กินโดยตรงค่ะ อย่างเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่ลูกไม่ชอบกินเพราะรสชาติและกลิ่นของอาหาร คุณแม่ก็อาจต้องปรับจากที่หั่นเป็นชิ้นแล้วนำไปต้ม ทอด ปิ้ง หรือย่าง มาเป็นสับแล้วผสมใส่ไปในอาหารอื่นๆ เช่น ผสมเนื้อหมูใส่กับผักที่มีเนื้อเนียนไม่มีเสี้ยน หมูสับผสมมันบดและฟักทอง ปรุงรส แล้วปั้นหรือกดด้วยพิมพ์ คลุกแป้งสาลี ไข่และเกร็ดขนมปัง ก่อนจะทอดให้เหลืองกรอบกินคู่กับซอสฝีมือคุณแม่
ด้วยเทคนิคง่ายๆ เพียงเท่านี้ จากจานยี้ก็กลายเป็นจานโปรดของลูกได้แล้วค่ะ
เรื่องโดย : Madame
ขอบคุณข้อมูลจาก momypedia
ขอบคุณภาพประกอบจาก Photos.com