วัฒนธรรมแดร็กในโลกไร้เพศของ 'ปันปัน นาคประเสริฐ' เจ้าแม่แดร็กควีนไทย
ดราม่าบนโซเชียลมีเดียปะทุทันที หลังจากการประกาศว่า รูพอล แดร็กเรซ (Rupaul's DragRace) รายการเรียลลิตี้จากสหรัฐฯ ของรูพอล อองเดร ชาร์ลส์ (RuPaul Andre Charles) ซึ่งเป็นขวัญใจของผู้ชมค่อนโลก และปังมาตลอด 10 ซีซั่น กำลังเตรียมออกอากาศในประเทศไทยในชื่อ แดร็ก เรซ ไทยแลนด์ (Drag Race Thailand)
แน่นอนว่า อคติทางเพศมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าบนโลก แม้ฝ่ายคอนเซอร์เวทีฟจะออกมาตีอกชกหัว แย้งเรื่องความไม่เหมาะสมของเนื้อหาวี้ดว้ายกระตู้วู้ และค่อนข้างเฉพาะกลุ่มคนรักร่วมเพศ ทว่าหากลองมองปรากฏการณ์ใหม่รอบๆ ตัวด้วยใจที่เป็นกลาง ยอมรับ เข้าใจ และอยู่ร่วมกันไปเหมือนปกติ รายการแดร็กเรซต้นฉบับนั้นสะท้อนเรื่องโลกไร้เพศ ไร้การแบ่งแยก และปัจจุบันการทำแดร็กยังกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศให้มากขึ้นด้วย
สำหรับรายการเวอร์ชั่นไทย นอกจากจะได้ ‘อาร์ต-อารยา อินทรา’ สไตลิสต์ที่คร่ำหวอดในวงการแฟชั่นมายาวนานกว่า 30 ปี มาทำหน้าที่เป็นโฮสต์แล้ว ทางบริษัทกันตนาผู้ซื้อลิขสิทธิ์ยังปฏิวัติรูปแบบรายการด้วยการนำ ‘ปันปัน-แพนแพน นาคประเสริฐ’ แดร็กควีนแถวหน้าของประเทศไทย ผู้โลดแล่นอยู่ท่ามกลางสปอร์ตไลท์มาสมทบความเปรี้ยวซ่าและเผ็ดจัดจ้าน
บ่ายวันธรรมดากลางห้างดังในกรุงเทพฯ วอยซ์ ออนไลน์ ทักทายกับปันปัน ชายหนุ่มหน้าตาดีวัย 30 ทรงผมสั้นสกินเฮด แต่งตัวเรียบง่ายมีสไตล์ ดีกรีนักเรียนนอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สหรัฐฯ ซึ่งเขาตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตในการเป็นแดร็กควีนมืออาชีพ ควบคู่กับการเป็นครูสอนเต้นแวคกิ้ง (Waacking) และทำโชว์ทุกวันอาทิตย์ที่แม็กกี้ ชูส์ (Maggie Choo's) แจ๊สบาร์เปี่ยมมนต์ขลังย่านสีลม
ระหว่างรอปันปันลงรองพื้น ปัดแก้ม ทาปาก ขอย้อนความกันสักนิด ปันปันเป็นลูกครึ่งไทย-ไต้หวัน พูดได้ 3 ภาษา ไทย อังกฤษ จีนกลาง เคยจับงานดีเจ พิธีกร นักแสดง และแดนเซอร์ ก่อนก้าวเข้าสู่วงการแดร็กควีนเมื่อประมาณ 8 ปีก่อน จากคำแนะนำของ ‘ไจ๋ ซีร่า’ แดร็กควีนระดับอินเตอร์ ผู้ครอบครองฉายามาดอนนาเมืองไทย ต่อด้วยการสร้างสีสันสดใสในมาสเตอร์คลาสของเดอะ เฟซ ไทยแลนด์ ซีซั่น 3 ซึ่งทั้งหมดหล่อหลอมให้ปันปันสามารถแสดงออกความเป็นตัวของตัวเองได้เฮฮา บ้าบอ สร้างสรรค์ และลุ่มลึกในเวลาเดียวกัน
หลังจากเวลาเดินผ่านไป 2 ชั่วโมง ปันปันพลิกโฉมไปเป็นคนละคน เปลี่ยนแปลงไปทุกรายละเอียด โดยสวมบทบาทเป็นสาวสวยสมบูรณ์แบบภายใต้ชื่อ ‘แพนจินา ฮิลส์’ (Pangina Heals) แตกต่างจากภาพลักษณ์เดิมตั้งแต่การพูด การวางตัว การเดินเหิน หรือกระทั่งความห่างของซี่ฟันเจ้าแม่แดร็กควีนก็เก็บครบทุกจุด
แพนจินาถูกกำหนดให้เป็นผู้หญิงผมบลอนด์ ท่าทีดุดัน ร้ายกาจ และพูดจาจิกกัดเก่งสุดๆ เธอแนะนำตัวกับเราอีกครั้งด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำว่า “สวัสดีค่ะ ฉันชื่อแพนจินา ฮิลส์ วันนี้มาในลุคมาดอนนา
คุณก้าวเข้าสู่แวดวงแดร็กควีนด้วยคาแรคเตอร์ของมาดอนนาหรือเปล่า
ปันปัน : จริงๆ ปันชอบโคเวอร์มาดอนนาอยู่แล้ว เพราะพี่ไจ๋ ซีร่า คนสอนปันแต่งหญิงเขาเป็นมาดอนนาเมืองไทย ทำให้เราอยากลองของบ้าง และพอได้ลองแต่งก็ชอบเอกลักษณ์ความเป็นมาดอนนา แต่ไม่ได้ก้าวเข้าสู่แดร็กควีนด้วยมาดอนนา จุดเริ่มต้นจริงๆ คือปันแต่งหญิงราวๆ ปี 2011 และเป็นเลดี กากา เพราะปันเป็นคนชอบเอาชนะ คือถ้าสามารถทำคาแรคเตอร์ยากๆ อย่างป้าแชร์ (เชอริลีน ซาร์กิเซียน) มาดอนนา มารายห์ อะไรก็ทำได้หมด ประกอบกับส่วนตัวเป็นคนชอบเลดี กากา อยู่แล้ว และเกิดการแข่งขันหนึ่งที่หากชนะจากการแต่งเป็นเลดี กากา จะได้ไปดูคอนเสิร์ตของนางที่นิวยอร์ก แล้วเราชนะ และการแต่งหญิงครั้งนั้นเป็นแรกที่ทำให้เรารู้สึกสนุก เหมือนได้ไปฮาโลวีนทุกวัน รู้สึกมันไม่ผิด มันเป็นการเอนเตอร์เทนคนอื่น ให้ความสุขคนอื่น และให้ความสุขตัวเองด้วย
“สังคมชอบเอาเรามาใส่ไว้ในกล่องเล็กๆ เลยรู้สึกว่าการแต่งหญิงเป็นอะไรที่พังกล่องกล่องได้เร็วสุด ง่ายสุด สนุกสุด และมันสุด”
แล้วทำไมไม่แต่งหญิงทุกวันไปเลย
ปันปัน : ปันแต่งหญิงเวลาได้เงิน ปันแต่งหญิงเวลาปันอยากไปแ_กเหล้า คือปันเกิดมาเป็นคนชอบเรียกร้องความสนใจจากคนอื่น เวลาไปเที่ยวแล้วต้องการกลายเป็นจุดสนใจก็จะแต่งหญิง คือปันไม่ได้อยากผ่า อันนั้นเป็นเรื่องของทรานส์ (Transgender) แต่ปันชอบค_ยของปันมาก อุ๊ยส์! ปันชอบกระจู๋ของปันมาก เพราะฉะนั้นปันจะเป็นผู้ชายในตอนกลางวันอยู่แล้ว ปันไม่ต้องการแปลงเพศ แดร็กเป็นการแสดง และปันชอบการแสดง
ช่วง 5 ปีที่คลุกคลีอยู่กับวัฒนธรรมแดร็ก คุณโคเวอร์คาแรคเตอร์ใครไปแล้วบ้าง
ปันปัน : ล่าสุดเพิ่งทำมารายห์ได้ สนุกมากกก (ลากเสียง) เราศึกษาคาแรคเตอร์อยู่เป็นอาทิตย์ ดูวิธีการพูด การแสดงความรู้สึกเวลานางโกรธ เวลานางพูดเรื่องผู้ชาย นอกจากนั้นก็มาดอนนา ป้าแชร์ เลดี กากา บริตนีย์ สเปียส์ เอมี ไวน์เฮาส์ จริงๆ มีอีกหลายคน แต่ลืมหมดแล้ว (หัวเราะ)
จากข้อถกเถียงบนโลกออนไลน์ที่บางคนออกมาบอกว่า แดร็กควีนต้องมีเพศกำเนิดเป็นชายเท่านั้น คุณช่วยเคลียร์ประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจนหน่อยได้ไหม
ปันปัน : ไม่จริง ไม่เห็นด้วย ความแตกต่างระหว่าง ‘แดร็ก’ และ ‘แดร็กควีน’ ไม่เหมือนกัน เลดี กากา ก็นับเป็นแดร็ก เพราะแดร็กเป็นการแต่งให้มากกว่าเดิม ให้ใหญ่กว่าเดิม ให้เลิศกว่าเดิม ให้สนุกกว่าเดิม และมันเป็นศิลปะ ส่วนคำว่าแดร็กควีน 90 เปอร์เซ็นเป็นเกย์ หรือบางคนก็เป็นผู้ชาย คือคนเกิดมามีจู๋ และข้ามไปเป็นผู้หญิงก็เป็นแดร็กควีนได้ เพราะฉะนั้นหลายคนชอบถามว่า คนเป็นทรานส์สามารถทำแดร็กได้ไหม คำตอบคือ มันเป็นศิลปะที่ทุกคนสามารถทำได้ ผู้หญิงก็สามารถทำได้ แต่ถ้าผู้หญิงแต่งเป็นผู้ชายเรียกว่า ‘แดร็ก คิง’
“จริงๆ สังคมชอบเอาคนไปใส่ไว้ในกล่อง เธอต้องเป็นเกย์ เป็นกระเทย เป็นแดร็กควีน คือไม่ตรีตราคนอื่นดีกว่า เพราะทุกคนแตกต่างกันหมด”
จุดเปลี่ยนที่ทำให้แดร็กควีนกลายมาเป็นอาชีพหลักของคุณคือ
ปันปัน : เพราะเริ่มได้เงิน (หัวเราะ) ไม่ๆ จริงๆ แล้วปันแต่งเพราะความสนุก และสนองความต้องการของตัวเอง แต่ในที่สุดแล้วคนก็ชอบ และได้เรียนรู้ จริงๆ ปันเป็นคนชอบเที่ยว ชอบเพลงยุค 90s อารมณ์มาดอนนา บริตนีย์ คริสตินา และมันไม่ค่อยมีเพลงแบบที่ชอบเวลาไปเที่ยว ปันก็เลยทำงานกับคุณเคนที่แม็กกี้ ชูส์ คือจัดปาร์ตี้ที่เราอยากจะไปเที่ยวเอง (สายตามุ่งมั่น) แล้วก็โชว์เอง และพอมาจุดนี้คนก็ชอบโชว์เรา เพราะเรารักการโชว์มาก
ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่า รักมากขนาดไหน
ปันปัน : เวลาเราจะโชว์เพลงไหนเราจะฟังเพลงนั้นทั้งอาทิตย์ เป็นพันกว่ารอบ เพื่อให้รู้ว่าทุกๆ อิริยาบถที่ออกมามันเป็นแบบที่เราต้องการ
สำหรับคนไม่รู้จักวัฒนธรรมแดร็กมาก่อน ถ้าไปแม็กกี้ ชูส์ ในคืนวันอาทิตย์จะพบกับอะไร
ปันปัน : ความมัน ความโหด ความเหี้ย เพราะสังคมแดร็กควีนที่ปันอยู่ไม่ได้เน้นสวย (แต่ขอโทษที่เกิดมาสวยด้วย) เน้นความมัน เพราะปันรู้สึกว่าเรื่องสวยทุกคนทำได้ แต่ความคิด และความครีเอทีฟของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สมมุติปันจะทำโชว์มาดอนนาก็ต้องทำให้ครบทุกอย่าง ต้องดูรายละเอียด แม้กระทั่งซี่ฟันของนาง หรืออาจจะสร้างคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง ซึ่งตัวแพนจีนาก็เป็นชะนีผมบลอนด์ ปากหมา คือมันมีความ OCD – Obsessive Compulsive Disorder (โรคย้ำคิดย้ำทำ) อยู่กับแดร็ก ซึ่งต้องดูรายละเอียด เก็บรายละเอียดให้มากที่สุด และนั่นเป็นสิ่งที่สนุกมากสำหรับปัน เพราะปันเป็นความโรคจิตเล็กน้อย นิดนึง หรือมากๆ (สงสัยในตัวเอง)
เคยทำการบ้านหนักขนาดไหน
ปันปัน : มากกกกกก ถ้าเกิดคุณรักสิ่งที่ทำ คุณก็จะทำการบ้าน ถ้าคุณอยากได้ผัว คุณก็ต้องรู้ความชอบของเขา ชีวิตประจำวันของเขา และแดร็กก็เหมือนผัวของปัน จริงๆ ก็ทำการบ้านหนักทุกอาทิตย์ แต่ที่หนักสุดๆ คือเล่น Die Another Day ของมาดอนนา ทำเอาเส้นเอ็นขาดตอนโชว์เลย เพราะกระโดดลงจากเวที และเส้นเอ็นขาดตรงนั้น แต่ก็ยังคลาดต่อ เลือดไหลจริงๆ เพราะอินกับคาแรคเตอร์มาก เพราะนางเป็นนักโทษ และโมเม้นท์นั้นเราลืมไปแล้วว่า ความจริงกับโชว์คืออะไร อันตรายเหมือนกันนะบางครั้ง
“ถ้าเกิดคุณรักสิ่งที่ทำ คุณก็จะทำการบ้าน ถ้าคุณอยากได้ผัว คุณก็ต้องรู้ความชอบของเขา ชีวิตประจำวันของเขา และแดร็กก็เหมือนผัวของปัน”
ความหินสุดๆ ของการทำแดร็กควีนอยู่ตรงไหน
ปันปัน : แล้วแต่คนนะ คือปันเป็นแดนเซอร์มาก่อน การเต้นเป็นสิ่งที่ชอบอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยาก สำหรับปันการเก็บรายละเอียดของปาก การลิปซิงค์ และการเก็บลมหายใจเวลาร้องอาจดูเป็นเรื่องยากหน่อย เพราะปันเก็บการออกเสียง เฮ้อ ฮู้ อู้ ซีด เล็กๆ น้อยๆ หมดเลย เก็บหมดเหมือนกับต้นแบบกำลังร้องเอง
ดูเหมือนโรคจิตเหมือนกันนะ
ปันปัน : มากกกกก โรคจิตจริงๆ ปันรู้ตัว แล้วลองคิดดู การร้องเสียงสูง เสียงต่ำมันไม่เหมือนกัน ดังนั้น เวลาลิปซิงค์ก็ต้องทำให้มากกว่านักร้องจริงอีก
สกิลล์หลักๆ ที่แดร็กควีนต้องมีประกอบด้วยอะไรบ้าง
ปันปัน : ขอให้มีความสุขกับตัวเอง และก็ทำให้ดีที่สุด และสกิลล์การแต่งหน้า ตัดเย็บเสื้อผ้าระดับหนึ่งก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเต็มทุกอย่าง เพราะหลายๆ คนที่ชนะรูพอลแดร็กเรซไม่ได้มีทุกอย่าง แต่เขามีคาแรคเตอร์ของตัวเองที่ทำให้แตกต่างจากคนอื่น เขามีคาแรคเตอร์น่าจดจำ ทำให้ผู้ชมมีความสุข ทำให้ผู้ชมขำก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเก่งไปหมดทุกด้าน ไม่มีใครเกิดมาเก่งไปหมดทุกด้านหรอก
ความรู้สึกหลังจากทราบว่า ตัวเองได้รับเลือกให้เป็นพิธีกรร่วมของแดร็กเรซเวอร์ชั่นไทย
ปันปัน : ฉี่แตกค่ะ เพราะอยากให้รายการมาเมืองไทยมากๆ เพราะจริงๆ วัฒนธรรมการแดร็กเป็นวัฒนธรรมแบบตะวันตกที่คนไทยกำลังให้ความสนใจ แต่ปันรู้สึกว่ามันเป็นศิลปะที่ถ้าคนไทยเริ่มสนใจคนไทยจะรักมัน เพราะแดร็กมันไม่ได้เกี่ยวกับเพศหรอกนะ คือคนที่เป็นเกย์ส่วนใหญ่มาแต่งแดร็กก็จริง แต่จริงๆ มันเป็นเอนเตอร์เทนเม้นท์ เกี่ยวกับครีเอทีฟ เกี่ยวกับศิลปะ แล้วจะได้เห็นว่า คนพวกนี้เขาแค่อยากทำให้คนอื่นมีความสุข
จากประสบการณ์การใช้ชีวิตในสหรัฐฯ วัฒนธรรมแดร็กของคนอเมริกันเป็นอย่างไรบ้าง
ปันปัน : โอ๊ยยย (ลากเสียง) ใหญ่กว่าเมืองไทยเยอะ ที่นั่นทรานส์น้อยกว่าแดร็กด้วยซ้ำ แต่เมืองไทยสาวประเภทสองจะเยอะกว่า เหมือนตรงกันข้ามเลย ที่นั่นใครๆ ก็ทำแดร็กได้ แต่เมืองไทยหลายๆ คนอาจติดอยู่กับวิธีคิดที่ว่า ผู้ชายดูแมนๆ ทำไมไปแต่งหญิง อยากตัดทิ้งหรือเปล่า ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ มันไม่เกี่ยว มันเป็นศิลปะ
แต่การตัดสินใจมาเป็นพิธีกรร่วมดูปฏิวัติรูปแบบรายการต้นฉบับอยู่เหมือนกัน
ปันปัน : ปันแฮปปี้มาก แต่การตัดสินใจปฏิวัติต้องถามพี่เต้ (ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก) แต่รูพอลก็มีคนเดียวในโลกนะคะ เพราะฉะนั้นการอยู่กับฟอร์แมตเดิมๆ ก็เหมือนกับการที่ทุกคนแบ่งแยกว่า คนนั้นเป็นกระเทย คนนั้นเป็นแดร็กควีน ทำไมไม่ลองแหกกฎแล้วมาดูกันว่าจะสนุกหรือไม่
กดดันบ้างไหมกับหน้าที่การงานใหม่ที่ได้รับ
ปันปัน : ไม่ค่ะ เพราะปันมั่นใจมาก ปันมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เพราะปันลิปซิงค์ ปันทำโชว์มานาน ปันสามารถทำพิธีกรได้ ปันสามารถทำให้คนมีความสุข และขำได้
สรุปแล้วมีอะไรที่ปันปันทำไม่ได้บ้าง
ปันปัน : (ทวนคำถาม) อะไรที่ปันทำไม่ได้หรอ (ครุ่นคิด) ปันไม่สามารถเก็บเงินอยู่ (หัวเราะ) นั่นเป็นปัญหา เพราะไปลงที่ชุดหมดค่ะ ก็นั่นแหละ ไม่สามารถหยุดทำแดร็กควีนได้ ปันเชื่อว่า สาเหตุที่ปันไม่มีเงินในบัญชีอาจจะเป็นเพราะลงไปกับชุดหมด ซึ่งน่าจะถึงหลักล้านแล้วแน่ๆ (พูดเบา) เพราะปันมีห้องๆ หนึ่งที่เก็บชุดอย่างเดียวเลย
สังคมไทยจะได้อะไรกับการเปิดรับวัฒนธรรมแดร็กควีน หรือรายการแดร็กเรซไทยแลนด์บ้าง
ปันปัน : ความสนุกสนาน ความบันเทิง และการศึกษา เพราะทุกคนจะทราบว่า แดร็กควีนไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่เกี่ยวกับความมัน ความรักที่มีต่อการแต่งหญิง และให้ดูคุณภาพของการเป็นผู้หญิงดีๆ ที่สังคมมักมองว่าอ่อนแอ ด้อย หรือไม่ดีเท่ากับสังคมชาย เอามันมาทำให้มันสนุก มาเฉลิมฉลองความเป็นผู้หญิง จริงๆ แล้วในวัฒนธรรมแดร็กผู้ชายต้องรักผู้หญิงมากๆ เลยนะ ถึงได้เอามาเป็นต้นแบบ หรือเอามาล้อ เพราะถ้าเกิดคุณไม่รักใครสักคนจริงๆ คุณไม่สามารถล้อเข้าได้ เพราะฉะนั้นสำหรับปันมันเป็นการเฉลิมฉลองความเป็นผู้หญิง เฉลิมฉลองความเป็นศิลปะ และหวังว่ามันจะทำให้สังคมไทยเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้นด้วย แต่ก่อนที่จะเปิดปันขอให้หันมาสนใจก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่าชอบ หรือไม่
วัฒนธรรมแดร็กสอนอะไรคุณบ้าง
ปันปัน : เยอะมาก สอนให้ปันรักตัวเอง มั่นใจในตัวเอง รักศิลปะรักการแสดง และอย่าซีเรียสกับอะไรมาก เพราะชีวิตสั้นจริงๆ แล้วเวลาเราสามารถทำให้คนแฮปปี้ในช่วงเวลา 5 นาทีเท่านั้น แล้วลืมสิ่งร้ายๆ ของชีวิต เขาอาจจะโดนแฟนทิ้ง อาจจะมีเรื่องอะไรไม่ดีเกิดขึ้นในครอบครัว แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นเขามาดูโชว์เราแล้วเขายิ้ม เขาลืม และสำหรับปันก็แฮปปี้กับจุดนั้น เหมือนได้เยียวยาคนอื่นไปพร้อมๆ กับเยียวยาตัวเองด้วยในกระบวนการ ปันก็เลยชื่อแพนจินา ฮิลส์ และเวลาปันเป็นผู้ชายปันไม่สามารถมั่นใจได้ขนาดนี้ด้วยซ้ำ
ทำไมคาแรคเตอร์ของ แพนจินา ฮิลส์ ต้องดูเฟี๊ยซ เปรี้ยวซ่า และร้ายกาจมาก
ปันปัน : มันเป็นคาร์แลคเตอร์ลึกๆ ของปันอยู่แล้ว คือปันเรียนในแอลเอมา ทำให้รู้จักคนแบบนั้นเยอะ และวิธีการพูดภาษาอังกฤษของปันก็เหมือนชะนีผมขาวที่ไม่มีสมองอยู่แล้วก็เข้าทางมาก
ไม่ค่อยเห็นแดร็กควีนคาแรคเตอร์เรียบร้อยใสๆ เลย
ปันปัน : ก็มีนะ แต่ใครอยากจะไปคนเรียบร้อย ดังนั้น แดร็กควีนใสๆ ต้องมีความฉลาดอีกแบบหนึ่ง (ดีดนิ้ว) แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัน ปันไม่เรียบร้อย ปันซน
ขนาดรายการเพิ่งออนแอร์หลายคนยังหาเรื่องมาดราม่าบนโซเชียลมีเดียได้ มองอนาคตสังคมไทยกับการนำเสนอรายการเกี่ยวกับความหลากลายทางเพศอย่างไร
ปันปัน : โอ๊ยยยยยย (เบะปากมองบน) รายการอยู่ในมือคนดู ปันหวังให้คนลองดูเปิดใจก่อนก็พอ เพราะแค่เรื่องชุดของพี่หมูอาซาว่า หรือของมารีญา ยังมีปัญหาดราม่ากันไปมากมาย เพราะฉะนั้นถ้ารายการแดร็กเรซไทยแลนด์โดนด่าก็เป็นเรื่องธรรมดามาก แต่สุดท้ายก็อยากให้สนับสนุนคนไทย แล้วมาดูกันว่า เด็กๆ แดร็กควีนประเทศไทยทั้ง 10 คน ที่เก่งมากๆ จะเป็นโอท็อปส่งออกได้หรือไม่