ถ้าฉัน ท้อง เธอรับผิดชอบไหวไหม?

ถ้าฉัน ท้อง เธอรับผิดชอบไหวไหม?

ถ้าฉัน ท้อง เธอรับผิดชอบไหวไหม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Big Idea
เรื่อง : รัตติกาล พูลสวัสดิ์

Unplanned Pregnancy
ถ้าฉัน "ท้อง" เธอรับผิดชอบไหวไหม?



พ่อแม่วัยใสมีอายุน้อยลงมากขึ้นทุกวัน วิธีการจัดการปัญหาของเด็กกลุ่มนี้จึงขาดวุฒิภาวะ เพราะส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา ผลของการตั้งครรภ์ในวัยเยาว์จึงประสบกับความเครียด และความกดดันจากสังคม วิธีการทำแท้งเถื่อนจึงเป็นทางออกแรก บางรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต อาจต้องย้อนถามผู้ใหญ่ในสังคมว่าปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม เขาไม่มีทางเลือกอื่นในชีวิตแล้วหรือ?

กระบวนการความเข้าใจเรื่องเพศมีด้วยกันหลากหลาย ทั้งเรื่องสุขภาพของวัยรุ่นที่อยู่ในสภาพไม่พร้อม พฤติกรรมการยับยั้งชั่งใจต่อการอยากรู้อยากลอง พัฒนาการของชายและหญิงต่อการเจริญพันธุ์ที่สมบูรณ์ สัมพันธภาพกับทักษะชีวิตที่ส่งผลถึงการรู้จักผิดชอบชั่วดี รวมถึงสังคมวัฒนธรรมที่ต้องพร้อมรองรับและโอบอุ้ม เพื่อเตรียมพร้อมรับการเผชิญปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม แต่ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา หากไม่ถูกขัดเกลาอย่างถูกต้อง เราก็คงต้องวิ่งไล่ตามแก้ปัญหากันเหมือนเดิม

 

ปัจจัยสาเหตุที่เกิดขึ้นจากครอบครัวและสังคม
ต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชน
สังคมไทยเป็นสังคมที่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น เด็กเกิดขึ้นมาอยู่ในยุคสมัยที่ค่อนข้างพร้อม จึงทำให้การเรียนรู้เรื่องต้นทุนชีวิตผ่านประสบการณ์มีน้อยลง การปลูกฝังเรื่องความรับผิดชอบให้ลูกของพ่อแม่ยังมีน้อยมาก ต้องถามว่าเด็กถูกฝึกเรื่องความรับผิดชอบมามากน้อยเพียงใด

อาจารย์นคร สันธิโยธิน อาจารย์วิชาสุขศึกษา ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย แนะนำวิธีการสอนเรื่องความรับผิดชอบให้กับเด็กผ่าน ‘วิธีการเลี้ยงไข่ต้ม' โดยให้เด็กพกไข่ติดตัวตลอด 24 ช.ม. เมื่อครบแปดวันก็จะนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกันว่าแต่ละคนไปเจออะไรมาบ้าง ถ้าเป็นเด็กที่ฝากคนอื่นเลี้ยง เขาก็จะไม่มีประสบการณ์มาเล่า บางคนทำไข่หล่นพื้นก็ต้องเก็บพกติดตัว แม้ขึ้นรถเมล์ไข่ต้มส่งกลิ่น ก็ต้องพร้อมบอกคนข้างๆ ถึงสาเหตุที่ต้องเลี้ยงไข่ต้ม แต่ถ้าเด็กที่ถูกอบรมมาดี เขาจะนำไข่ห่อกระดาษทิชชู่เก็บใส่กล่อง วิธีการรักษาไข่ของแต่ละคนจะบ่งบอกถึงต้นทุนชีวิตในการเลี้ยงดูของพ่อแม่ในเรื่องความรับผิดชอบของเด็กด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมเรื่องการตระหนักถึงความรับผิดชอบก่อนที่เด็กจะเข้าสู่ความรับผิดชอบในชีวิตที่แท้จริง

ความใกล้ชิดพ่อแม่
คนที่สามารถพูดคุยกับเด็กได้ดีที่สุดคือพ่อแม่ แต่พ่อแม่กลับไม่กล้าคุยเรื่องเพศอย่างเปิดเผยกับบุตรหลาน ทั้งที่การอบรมและความใกล้ชิดจะช่วยให้เด็กปรับทัศนคติเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับชีวิต ถ้าเด็กขาดต้นทุนชีวิตที่ดี หรือประสบการณ์ที่ได้รับจากพ่อแม่ เด็กอาจเรียกร้องความรัก และอาจแสวงหาความรักจากความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นมากกว่าบุคคลใกล้ตัว พ่อแม่ต้องรู้จักปรับและโตไปพร้อมกับลูก เพราะโดย ‘ฐานความคิดของมนุษย์เป็น Sexual Being' เวลาวัยรุ่นเกิดเหตุการณ์ตกหลุมรัก พ่อแม่ควรสร้างความเท่าทันและเน้นวิธีจัดการ มากกว่าห้ามปรามความรู้สึก วิธีการแสดงความรักและการสื่อสารให้เข้าใจ กระบวนการความคิดแล้วรู้จักนำมาประยุกต์ใช้กับตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าสร้างความน่ากลัวมากเกินไปเด็กจะต่อต้านและอาจเป็นห่วงโซ่ของปัญหาต่อไปได้

ความพร้อมของระบบการศึกษา
ครูอาจารย์ยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะช่วยเหลือเด็ก และครูไม่ได้ถูกเตรียมตัวมาเกี่ยวกับแผนการเรียนวิชาเพศศึกษา ที่ควรปรับให้เขากับยุคสมัย ซึ่งวิชาเพศศาสตร์จะแตกต่างจากวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ที่มีความตรงไปตรงมา และคำตอบมีถูก-ผิด แม้แต่วิชาสุขศึกษาก็ยังเป็นบทเรียนพัฒนาการของวัย ที่ยังไม่ครอบคลุมเรื่องเพศศาสตร์มากนัก แต่เรื่องทัศนคติที่จะลงลึกเป็นส่วนสำคัญมากกว่า ถ้าเกิดทัศนคติแบบนี้แล้วจะมีผลอย่างไรต่อชีวิต ประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพของครูมาก ทั้งเรื่องค่าครองชีพและเป้าหมายของการศึกษา ไม่เพียงเขาได้เด็กที่เก่งและฉลาด แต่เด็กเหล่านี้ยังเรียนรู้เรื่องการใช้ทักษะชีวิตพื้นฐานด้วย ดังนั้น ครูจะต้องปรับบทบาทหน้าที่เพื่อสะท้อนทัศนคติที่ดีโดยใช้ทักษะเพิ่มเติม และรู้จักตั้งคำถามเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ การรับฟังก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กแก้ไขปัญหา แต่ทุกวันนี้เพียงแค่เด็กพกถุงยางอนามัยไปโรงเรียนก็ถูกเชิญผู้ปกครองเสียแล้ว

ทัศนคติของผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่ไม่ได้ทำหน้าที่ของผู้ใหญ่ให้ถูกต้อง ความจริงแล้วเรื่องเพศสัมพันธ์ของเด็กวัยรุ่น ผู้ใหญ่ควรเข้าใจมากกว่าที่จะมองว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอก แต่เราควรบอกให้รู้และเข้าใจถึงการเดินทางเข้าสู่โพรงนั้น ว่ามีทางลัดและทางออกจากโพรงที่ถูกต้องได้อย่างไร เริ่มต้นจากผู้ใหญ่ที่ต้องทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงระบบความคิดก่อน เพราะผู้ใหญ่ในสังคมจะติดกับระบบของสังคมและวัฒนธรรม ที่คำนึงเรื่องศีลธรรมมากเสียจนลืมไปว่า การให้เด็กตั้งครรภ์กลับมาเรียนหนังสือได้เหมือนเดิมอาจเป็นผลดีกว่าที่จะปล่อยให้เด็กต้องออกไปเผชิญชีวิตข้างนอก เพราะบางทีถ้าเด็กเห็นตัวอย่างจากเพื่อน เด็กอาจไม่ได้นึกสนุกทำตามอย่าง แต่ถ้าผู้ใหญ่ในสังคมมีทัศนคติห่วงภาพลักษณ์ของโรงเรียนมากกว่าการเสียโอกาสของเด็กหนึ่งคนที่จะต้องเติบโตสร้างคุณภาพให้กับประเทศชาติ กลับกลายเป็นว่าคนหนึ่งๆ ต้องหมดคุณภาพ เพราะผู้ใหญ่ในสังคมไม่เผื่อช่องว่างระหว่างคำว่าศีลธรรมกับจรรยาบรรณ

 

ความเข้าใจเรื่องเพศ เด็กเข้าใจมานานพอแล้ว
รอบรู้ในเชิงเยอะ แต่ขาดคุณภาพ เด็กวัยรุ่นเกิดมาในยุคสมัยที่เพียบพร้อม ไม่สามารถจัดการชีวิตที่นอกเหนือจากการเรียนได้ เพราะไม่มีทักษะการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ชีวิต เด็กวัยรุ่นมีการพัฒนาไปในทางที่เร็วขึ้น โดยเฉพาะเรื่องค่านิยม สังคมวัยรุ่นมองเป็นเรื่องแปลกทันที ถ้าเพื่อนคนไหนไม่มีแฟนจะกลายเป็นเรื่องประหลาด เป็นแกะดำของสังคม ที่สำคัญเด็กวัยรุ่นเรียนรู้เรื่องเพศผ่านประสบการณ์ที่โดดเดี่ยว ด้วยการหาข้อมูลจากสื่อรอบตัวที่เขาถนัด ผ่านเว็บไซต์ หรือกลุ่มเพื่อนที่ยังขาดวุฒิภาวะ ด้วยข้อจำกัดการขาดทางเลือก เมื่อประสบปัญหาการตั้งครรภ์ เด็กจึงหาซื้อยาขับเลือดจากอินเตอร์เน็ต หรือวิธีการนำเสนอข้อมูลเรื่องการทำแท้ง ข้อมูลเหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งที่สังคมไทยควรตระหนักว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เด็กและเยาวชนที่ประสบกับปัญหาควรมีทางเลือกมากพอที่จะทำให้เขาจัดการกับชีวิตตัวเองได้ เพราะส่วนใหญ่เด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม เขาขาดทางเลือกมากกว่าการทำความเข้าใจเรื่องเพศหรือวิวัฒนาการของระบบสืบพันธุ์

การโอบอุ้ม และการรองรับจากหน่วยงาน
หน่วยงานราชการไม่มีสวัสดิการพอที่จะโอบอุ้มคนตามสถานการณ์ในรูปแบบต่างๆ เพราะปัญหาเด็กตั้งครรภ์ไม่พร้อมมีปัจจัยที่ต่างกัน พ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว จึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น โรงพยาบาลส่วนใหญ่รักษาโรคโดยแยกประเภท แต่ไม่มีแพทย์เฉพาะด้านที่ดูแลเรื่องการปรับตัวของวัยรุ่น เมื่อปัญหาเรื่องของจิตใจในเชิงฮอร์โมนหรืออารมณ์ จึงต้องใช้วิธีการรักษาแบบจิตเวชและสูตินารีเวชผสมผสานกัน และไม่มีสถานสงเคราะห์ใดที่รองรับเรื่องนี้โดยตรง เพราะเป็นสถานสงเคราะห์ที่รองรับผู้หญิงที่ถูกละเมิดทางเพศเท่านั้น แต่ยังไม่มีสถานสงเคราะห์รองรับปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม เจ้าหน้าที่จึงขาดความรู้และคำแนะนำที่ถูกต้อง สิ่งแวดล้อมภายในสถานสงเคราะห์จึงมีปัจจัยความต้องการที่แตกต่างกัน พ่อแม่วัยเยาว์ถูกจัดเข้าศูนย์ดูแลรวมกับเด็กที่ถูกล่วงละเมิด ซึ่งเราต้องมองว่าเป็นคนละประเด็น ดังนั้น หลังจากเกิดปัญหาเด็กจึงถูกตัดสิทธิ์หลายอย่าง เด็กผู้หญิงไม่สามารถไปเรียนได้ตามเดิม ส่วนเด็กผู้ชายก็อิสระลอยลำ ทั้งๆ ที่ปัญหานี้ต้องดูแลและให้ความรู้อย่างใกล้ชิดทั้งสองฝ่าย

คุณอุษาสินี ริ้วทอง หัวหน้ารณรงค์ทางสังคม องค์การแพธ กล่าวเพิ่มเติมว่า "องค์กรหรือเครือข่ายที่ดูแลปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อมเป็นเพียงการศึกษาทางเลือก แต่ถ้าได้การรองรับจากหน่วยงานต่างๆ ที่ดี ก็จะทำให้ทุกฝ่ายทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น"

สถิติการตั้งท้องในวัยเรียน ประเทศไทยเป็นอับดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย แต่ประเทศที่เปิดเรื่องนี้มากอย่างญี่ปุ่นกลับอยู่ที่อันดับที่ 8 ดังนั้น คนรุ่นใหม่ที่มีโอกาส ต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้สังคมมองเรื่องเพศในรูปแบบที่เข้าใจมากขึ้น มองเรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อีกสิ่งหนึ่งคือการเคารพความแตกต่างที่หลากหลาย จงอย่าตัดสินจากสิ่งที่เขาเป็น เราควรมองให้เข้าใจอย่างลุ่มลึกด้วยว่า ภาพรวมของสังคมทั้งหมดที่ออกมาในรูปแบบนี้ สาเหตุเกิดจากอะไร

 


วิธีการตั้งรับกรณีที่เด็กและเยาวชนท้องไม่พร้อมนั้น ทางเลือกของพวกเขามีแค่ 2 ทางคือ อุ้มท้องต่อ และยุติการท้อง หากแต่จะมีหนทางสักอย่าง เพื่อให้พวกเขาได้ตั้งรับและรับมือกับสภาวะต่างๆ ได้ทัน น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี ที่จะทำให้พวกเขาไม่เลือกหนทางอันนำไปสู่ความสลดใจ

อย่างที่ประเทศอเมริกา กรณีที่เด็กและเยาวชนของเขาท้องไม่พร้อมนั้น เขาจะนำเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย (คุณพ่อคุณแม่มือใหม่) เข้าโรงเรียนพิเศษเฉพาะที่สอนเรื่อง "ครรภ์" ทุกอย่าง คือ โรงเรียนจะมีบริการที่เป็นมิตรต่อแม่วัยรุ่นและหาไม่ได้ในโรงเรียนทั่วไป เช่น มีคลินิกที่มีพยาบาลและผดุงครรภ์ประจำ เพื่อให้บริการก่อนและหลังคลอดแก่แม่วัยรุ่น มีบริการดูแลเด็กแรกเกิด ทารก และเด็กวัยหัดเดิน รวมทั้งให้การศึกษาเบื้องต้นแก่เด็กที่อายุครบ 4 ขวบ และบริการดูแลเด็กเล็กยังขยายเวลาออกไปสำหรับวัยรุ่นหญิงที่ลงทะเบียนเรียนเพิ่มเติมภาคค่ำในวิทยาลัยใกล้เคียงด้วย

นอกจากนี้ โรงเรียนจะมีการหารือกับผู้ปกครองของเด็กทั้งคู่ ว่ามีการตัดสินใจอย่างไร หากตั้งใจจะคลอดเด็กจะเลี้ยงดูกันได้หรือไม่ อย่างไร แต่หากไม่ต้องการที่จะท้องต่อ ก็จะมีนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาดูแลแทน หรือหากคลอดแล้วไม่ต้องการเด็ก จะมีวิธีการหาพ่อแม่บุญธรรมต่อไป


ทางเลือกในประเทศไทยเมื่อ "ท้องไม่พร้อม"
1.ตั้งท้องต่อ
- กรณีที่ไม่มีครอบครัวหรือคนใกล้ชิดดูแลระหว่างท้อง คลอด และหลังคลอด สามารถติดต่อขอรับบริการบ้านพักชั่วคราวได้
- หากไม่พร้อมที่จะดูแลเด็กในระยะยาว สามารถติดต่อหน่วยงานเพื่อหาผู้อุปการะบุตรบุญธรรมได้
- การเลี้ยงดูเด็กในระยะยาว สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือด้านอาชีพและสังคมสงเคราะห์ได้
2.ยุติการตั้งท้อง
- มีหน่วยงานที่ให้บริการกับผู้หญิงที่ตัดสินใจยุติการท้อง โดยให้ระบุบริการว่า "ปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ" แต่ต้องยุติเมื่อตั้งท้องไม่เกิน 3 เดือน และทำโดยแพทย์เท่านั้น

ขอขอบคุณข้อมูล
คุณอุษาสินี ริ้วทอง
หัวหน้างานรณรงค์ทางสังคม องค์การแพธประเทศไทย
น.พ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook