“บูคู เอฟซี” ทีมฟุตบอลไม่จำกัดเพศ บนสนามแห่งความเท่าเทียม

“บูคู เอฟซี” ทีมฟุตบอลไม่จำกัดเพศ บนสนามแห่งความเท่าเทียม

“บูคู เอฟซี” ทีมฟุตบอลไม่จำกัดเพศ บนสนามแห่งความเท่าเทียม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่คนนอกพื้นที่จดจำก็หนีไม่พ้นการเป็นพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่เคร่งครัด ผู้หญิงชาวมุสลิมที่แต่งกายมิดชิด พร้อมผ้าคลุมผมหรือฮิญาบ กลายเป็นภาพจำที่ใครๆ ต่างก็นึกถึง หารู้ไม่ว่าภายในกรอบความขึงขังของศาสนาอิสลามที่แสดงผ่านสื่อ ยังมีผู้หญิงหลายคนที่ลุกขึ้นมาทลายกรอบและใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ รวมทั้งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ รวมอยู่ด้วย เพียงแต่สังคมส่วนใหญ่ไม่ได้ให้พื้นที่ในการแสดงตัวตนของคนเหล่านี้มากเท่าไรนัก

และไม่ใช่แค่พื้นที่ทางวัฒนธรรมเท่านั้น พื้นที่สาธารณะพื้นฐาน ที่เปิดให้ผู้หญิงได้เข้าไปใช้บริการอย่างเป็นอิสระ โดยไม่ถูกเพ่งเล็งถึงความเหมาะสมก็ยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยากออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีพื้นที่ออกกำลังกายที่จำกัดเฉพาะในสวนสาธารณะ การออกมาวิ่งริมถนนถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากอาจมีอันตราย และเป็นเรื่องที่ไม่สำรวม

การขาดแคลนทั้งพื้นที่ในการแสดงตัวตนอย่างเป็นอิสระ และพื้นที่ในการดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน จุดประกายให้ ดร.อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหานี้ โดยเริ่มจากการชวนคนใกล้ตัวมาเตะฟุตบอล และคิดจัดตั้งทีมฟุตบอลในชื่อเดียวกับร้านหนังสือของตัวเองในจังหวัดปัตตานีว่า บูคู เอฟซี ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2559

ทีมฟุตบอลบูคู เอฟซีBuku Classroomทีมฟุตบอลบูคู เอฟซี 

“เราก็คิดว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องผู้หญิงออกกำลังกายอย่างเดียว แต่เรื่องนี้มันสะท้อนสังคมโดยรวมผ่านกิจกรรมแค่อย่างเดียวคือกีฬา มันสะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างมากมาย ทั้งการใช้พื้นที่สาธารณะของผู้หญิง บทบาทของผู้หญิง หรือว่าวิธีคิด ความคิด ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับสรีระร่างกายของผู้หญิง เช่น ห้ามเคลื่อนไหวเยอะ ห้ามเปิดเผย ห้ามใส่กางเกงเพราะดูไม่เรียบร้อย เราเห็นเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่าแค่การออกกำลังกายมันบอกอะไรเราได้หลายอย่าง ถ้าอย่างนั้นเราน่าจะทำอะไรกับเรื่องนี้ได้” ดร.อันธิฌาเล่าถึงที่มาของการจัดตั้งทีมฟุตบอลบูคู เอฟซี ที่เธอออกตัวว่าไม่ใช่ทีมฟุตบอลหญิงทีมแรกของปัตตานี เพราะยังมีทีมฟุตบอลหญิงที่เก่งกาจหลายทีม ชนิดที่ว่าสามารถการันตีชัยชนะในระดับภาคได้เลย เพียงแต่ทีมฟุตบอลหญิงเหล่านี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการเท่าที่ควร

นอกจากนี้ เธอยังนิยามทีมบูคู เอฟซี ว่าเป็นทีมฟุตบอลที่รวมเอาเพศต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ใช่แค่ผู้หญิง เพื่อสร้าง “พื้นที่การเรียนรู้ทางสังคม” ในสนามฟุตบอล ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายที่ยิ่งกว่ากีฬาทั่วไป

“สนามฟุตบอลสี่เหลี่ยมมันเป็นภาพจำลองของสังคม คือมันจะมีกติกาอยู่ชุดหนึ่ง มีเครื่องมือ คือลูกบอล มีเส้นตีอยู่ มีโกลสองอัน แล้วก็มีคนเล่น เหมือนสังคมข้างนอกที่มีพื้นที่ทางกายภาพที่คนต้องอยู่ร่วมกัน แล้วก็มีกติกาบางชุดในการอยู่ร่วมกัน ถ้าเรามีหลายอาชีพ มีหลายเพศ มีสรีระร่างกายที่แตกต่างกัน บางคนวิ่งช้า บางคนวิ่งเร็ว เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในสังคมข้างนอก สิ่งเหล่านี้เราคิดว่ามันสะท้อนในกีฬาฟุตบอลได้”

Buku Classroom

ในขณะที่การแข่งขันฟุตบอลโดยทั่วไปกีดกันคนจำนวนมากออก เหลือไว้เพียงคนที่มีร่างกายแข็งแรงและทนทานต่อการต่อสู้ในสนามเพียงไม่กี่คน ไม่ต้องพูดถึงผู้หญิง ผู้ชายที่ร่างกายไม่แข็งแรง คนพิการ เด็ก และกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่ง ดร.อันธิฌามองว่ากีฬาชนิดนี้เป็นภาพสะท้อนที่ดีของสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ขาดพื้นที่สำหรับผู้ที่อ่อนแอกว่า จึงหาวิธีให้คนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย ได้มาร่วมเล่นฟุตบอลไปด้วยกัน โดยเป้าหมายไม่ใช่เพื่อเอาชนะ แต่เพื่อสร้างพลังให้ผู้เล่นในทีม นั่นหมายความว่ากติกาในการเล่นก็จะเปลี่ยนไป

“เวลาที่ผู้เล่นลงสนาม เราไม่กันใครออก เช่น เขาเป็นเด็ก ตัวเล็ก หรือเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยเตะบอล หรือเป็นคนอายุเยอะ เราจะเชื้อเชิญให้เขาลองเล่น และบอกคนอื่นไปด้วยว่าเรากำลังมีคนที่เขาวิ่งไม่เก่งเหมือนคนอื่น มันเป็นโจทย์ของคนที่เล่นอยู่ตอนนั้นว่าคุณจะทำอย่างไรถ้ามีคนเล่นที่เขามีกำลังน้อยกว่าคุณ วิธีการเล่นมันจะเปลี่ยนไปทันที คนที่เตะบอลเก่งๆ เขาจะใช้ทักษะของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อเอาชนะคนอื่น แต่ใช้ทักษะของเขาสร้างความสนุกและทำให้คนอื่นๆ สามารถมีส่วนร่วมได้ แล้วมันจะกลายเป็นเกมที่ใครชนะใครไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และทำให้คนทุกคนสามารถสนุกกับกีฬาชนิดเดียวกันในเวลาเดียวกันได้” ดร.อันธิฌาอธิบายถึงการเรียนรู้ผ่านการวิ่งและส่งบอล ซึ่งทำให้ผู้เล่นแต่ละเพศเข้าใจถึงความหลากหลายของมนุษย์มากขึ้น โดยที่ไม่มีการทำข้อบังคับ ลงโทษให้รู้สึกผิดหรือกลัว แต่ใช้วิธีการพูดคุยสื่อสารกันเป็นหลัก นำไปสู่การเติบโตทางจิตใจ นอกเหนือจากร่างกายที่แข็งแรง

ในขณะที่ฟุตบอลทั่วไปจะมีตำแหน่งผู้เล่นที่ตายตัว แต่สำหรับบูคู เอฟซี สมาชิกในทีมสามารถสลับตำแหน่งกันได้ตามใจ ซึ่งคุณนุรยาฮาตี ยูโซ๊ะ ผู้ประสานงานโครงการและผู้รักษาประตูของทีม ได้เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศการลงสนามครั้งแรกในฐานะนักเตะว่า

“ตื่นเต้นมาก เพราะลงครั้งแรก เราก็ไม่เคยเตะมาก่อน อายมาก เราก็คลุมฮิญาบ ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ลงสนาม พอเล่นครั้งแรกก็กรี๊ดเลย พอลูกมาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเล่นตั้งแต่เด็กๆ โตมาก็ไม่ค่อยได้เล่น กรี๊ดอย่างเดียว จะเตะลูกก็กรี๊ด แต่ว่าสนุกมาก ไม่เครียดเลยค่ะ แต่พอมาเป็นผู้รักษาประตู เพื่อนก็จะฝากความหวังให้เรารักษาประตูเพื่อไม่ให้ลูกเข้า ไม่ได้ส่งให้เราเล่นด้วย แต่ไว้ใจเรา ให้เราไปรักษาประตูของทีม เราก็โอเค บางทีเพื่อนเล่นเก่ง ก็พยายามไม่ให้ลูกมาถึงเรา พยายามสกัดให้ไปไกลประตู เราก็ เฮ้อ วันนี้สบายจัง ลูกไม่มา” คุณตีเล่าให้ฟังพลางหัวเราะ

Buku Classroom

นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ในการเปิดพื้นที่ให้กับคนทุกเพศทุกวัยได้แสดงตัวตนแล้ว ผลพลอยได้ที่มาพร้อมกับทีมฟุตบอลทีมนี้ก็คือ “การเติบโต” ของทีมงาน โดยคุณสุไฮดา กูทา ผู้จัดการทีม ได้เล่าให้เราฟังถึงสิ่งที่เธอได้รับจากการร่วมงานกับทีมบูคู เอฟซี โดยเฉพาะแรงบันดาลใจในการต่อยอดความรู้ของเธอ เพื่อมาพัฒนาทีมในอนาคต

“เราได้ประสบการณ์ ได้พัฒนาทีม ได้อบรมการเป็นโค้ช และได้เรียนรู้จากทีมของจังหวัดปัตตานี เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ในอนาคตก็คิดว่าจะไปเรียนเป็นโค้ชเพิ่มเติมเพื่อที่จะมาสอนน้องๆ หรือสร้างทีมเป็นรุ่นต่อรุ่น แล้วก็จะมีการทำคลินิกฟุตบอล คือรับสมัครทีมแบบไม่จำกัดเพศให้มาแข่งฟุตบอลกัน โดยเราจะเป็นคนจัดการแข่งขัน”

ด้านคุณตีเอง นอกจากจะได้เพิ่มทักษะด้านกีฬาแล้ว การทำงานในทีมบูคู เอฟซี ยังเป็นแรงผลักดันให้เธอเติบโตสู่การเป็นนักกิจกรรมเพื่อสิทธิของผู้หญิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

“อย่างแรกที่ได้จากการทำงานกับทีมนี้คือ เราต้องเปิดใจ เพราะที่นี่ก็มีบรรทัดฐานทางสังคมที่ตรงเป็นเส้นเดียว เหมือนเขาเชื่อว่าผู้หญิงที่ไปเตะบอล ฉีกแข้งฉีกขา จะดูไม่เป็นผู้หญิง แรกๆ เราก็กลัว แต่ตอนหลังก็สงสัยว่าทำไมเราต้องกลัว ก็เปิดใจกับตัวเอง ตั้งคำถามกับตัวเองไปเรื่อยๆ ค่ะ อย่างที่สองก็คือ รับฟัง เรียนรู้ที่จะรับฟังคนอื่นว่าทำไมเขาคิดต่างจากเรา พยายามรับฟังเขาให้มากที่สุด แล้วก็การทำงานเป็นทีม ต้องมีความเข้าใจว่าคนเรามีความถนัดไม่เหมือนกัน ความคิดเราต่างกัน แต่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร จะทำงานด้วยกันอย่างไร เรารู้สึกว่าเราเติบโตมากขึ้น มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นที่จะบอกว่าตัวเองทำงานกับบูคู ที่ทำเรื่อง Gender และ Sexuality แล้วก็รู้สึกมีความสุขกับงานที่เลือก มีอิสระมากขึ้นทางความคิด มีคนรับฟังเสียงเรา คอยบอกว่าเมื่อเราถูกละเมิดสิทธิแล้วต้องทำอย่างไร เพื่อที่จะช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือคนที่ถูกละเมิดสิทธิได้ เราก็เลยมีความสุขกับสิ่งที่เราเลือก แล้วก็พร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับมัน”

“เราคิดว่ามันเป็นต้นทุนที่ดีของชุมชนที่จะได้เรียนรู้ เด็กผู้ชายหลายคนได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับการมาเตะบอลกับผู้หญิง เขาจะรู้จักเด็กผู้หญิงที่ตัวเล็กกว่าเขามาก แต่เตะบอลเก่ง มันทำให้มุมมองของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิงมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้แช่แข็งว่าผู้หญิงอ่อนแอ ทำอะไรไม่ได้ ผู้หญิงขี้บ่น เขาก็จะมาเจอผู้หญิงที่ไม่ขี้บ่นและเตะบอลเก่งมาก เขาจะมาเจอหลายอย่างและได้เรียนรู้ไปด้วย และคนในทีมมีวัฒนธรรมคือจะไม่ล้อกัน และยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน ไม่มองว่าความแตกต่างเป็นเรื่องตลก นอกเหนือจากเรื่องเพศก็จะมีเรื่องพวกนี้ด้วย” ดร.อันธิฌากล่าว

Buku Classroom

เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อคนเราลุกขึ้นมาทำสิ่งที่แตกต่างจากความเชื่อของสังคมส่วนใหญ่ ดร.อันธิฌาเองก็ยอมรับว่านอกจากเสียงชื่นชมจากผู้หญิงที่ต้องการพื้นที่สำหรับออกกำลังกายแล้ว ยังมีเสียงจากชุมชนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากคิดว่าทีมฟุตบอลที่มีสมาชิกทั้งเพศชาย เพศหญิง และ LGBTQ+ อาจเปิดโอกาสให้มีเรื่องชู้สาว หรือส่งเสริมให้เยาวชนเป็น LGBTQ+ ซึ่ง ดร.อันธิฌา ในฐานะผู้ก่อตั้งทีม รู้สึกว่าไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

“เราไม่ได้มีปัญหากับคนที่ปฏิเสธหรือวิพากษ์วิจารณ์ หรือต่อต้าน เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา เขาไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเรา แต่เราเรียนรู้ด้วยกันได้ ถ้าเขาไม่เห็นด้วยกับเรา เขาก็ต้องทนดูเราเตะไปเรื่อยๆ นี่แหละ แล้วเขาจะอยู่อย่างไรกับความไม่เห็นด้วยของเขา เราคงไม่เลิกเตะหรอกค่ะ แล้วเราก็คงจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเขาไม่เห็นด้วย มันก็ต้องมีกระบวนการเรียนรู้บางอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง เราก็ไม่ไปสู้กับเขา” ดร.อันธิฌากล่าว

เมื่อการตั้งทีมฟุตบอลบูคู เอฟซี ไม่ใช่แค่การฟอร์มทีมไปแข่งขัน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนอื่น ที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงในภารกิจสุดหินครั้งนี้ก็คือความท้อแท้ ทว่า ดร.อันธิฌาก็ยังยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงสังคม ก็ต้องเริ่มที่ตัวเอง และหากต้องการให้ผู้หญิงเกิดความมั่นใจ ตัวเธอเองก็ต้องมั่นใจก่อน เพื่อส่งผ่านกำลังใจนี้ไปสู่ผู้หญิงและคนชายขอบกลุ่มอื่นๆ

“มันเป็นกิจกรรมที่แปลก พอเราเลือกทำงานที่ยาก แต่ทำผ่านกิจกรรมที่มีพลัง สิ่งที่เกิดขึ้นคือมันทำให้เรามีพลังทุกครั้งที่ทำงาน การเตะบอลมันเป็นทั้งงานและพื้นที่ของเราในการเสริมพลัง แล้วเราต่างคนต่างเสริมพลังให้กันในขณะที่อยู่ในสนามฟุตบอล มันเลยทำให้เราสามารถทำงานที่ยากได้ แต่ว่าเราทำด้วยเสียงหัวเราะ เราทำด้วยร่างกายที่แข็งแรงมากขึ้น แล้วของที่มันเป็นความยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทัศนคติ มันเลยกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เรายืนหยัดแล้วก็เผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเข้มแข็ง” ดร.อันธิฌากล่าวอย่างมั่นใจ

 ทีมบูคู เอฟซี เข้ารับรางวัลผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2561ทีมบูคู เอฟซี เข้ารับรางวัลผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2561

และเมื่อถามถึงโครงการในอนาคต ดร.อันธิฌามองว่าทีมบูคู เอฟซี จะเติบโตไปเป็นต้นแบบและสร้างความร่วมมือกับชุมชนอื่นๆ ในการสร้างพื้นที่สำหรับเยาวชน รวมทั้งพัฒนาทักษะด้านกีฬาฟุตบอลอย่างจริงจัง เพื่อสร้างโค้ชฟุตบอลที่มีความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายในสังคม เพื่อถ่ายทอดความเข้าใจนี้ไปสู่คนรุ่นอื่นๆ

นับตั้งแต่การเป็นกลุ่มเล่นฟุตบอลเล็กๆ เมื่อเกือบสองปีที่ผ่านมา บูคู เอฟซีฝ่าฟันกันมาจนกระทั่งมีผู้เล่นตัวจริงที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 9 ขวบ และอายุมากที่สุดคือ 41ปี ที่สามารถลงสนามแข่งขันจริงจัง และทีมฟุตบอลแห่งความหลากหลายนี้ก็เป็นสนามทดลองที่ให้บทเรียนแก่ทั้งสมาชิกในทีมและตัว ดร.อันธิฌาเอง ตั้งแต่สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น และจิตใจที่มั่นคงกว่าเดิม

“สิ่งที่เราต้องเจอและต้องยืนหยัดกับมัน ถ้าเราห่อเหี่ยว ถ้าเราท้อ หรือกลัว เราจะวิ่งหนี แล้วน้องๆ จะเป็นอย่างไร เราก็เลยรู้สึกว่าการที่เราเรียนรู้แบบนี้ ข้ามความกลัวของตัวเอง เผชิญหน้ากับความท้าทาย และเป็นคนแรกและคนสุดท้ายที่จะยืนอยู่ในสนามฟุตบอล ในที่สุดมันทำให้เราเติบโตแล้วก็เข้มแข็ง มันเป็นเรื่องของความมั่นคงข้างในใจด้วย และเราก็รู้ว่าเรากำลังทำอะไร เราไม่ต้องกังวล พูดกี่รอบเราก็พูดได้เหมือนเดิม เพราะมันเป็นสิ่งที่เราคิด ที่เราทำจริงๆ สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเราเองที่ได้เต็มๆ เลย ไม่ใช่เราไปสร้างหรือเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเดียว ตัวเราเองก็เปลี่ยนแปลงด้วย” ดร.อันธิฌาสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook