หากสังคมไม่เข้าใจ ‘สิทธิในร่างกาย’ ใส่เสื้อคอเต่าเล่นสงกรานต์ ก็ถูกลวนลามได้อยู่ดี?
จากกระแสในโซเชียลมีเดีย #donttellmehowtodress #tellmentorespect เรียกร้องสิทธิในการแต่งตัวของผู้หญิงโดยไม่ถูกลวนลาม ‘สิทธิในร่างกาย’ อยู่ตรงไหนในระบบเพศของไทยที่ไม่เท่ากัน?
'วอยซ์ออนไลน์' คุยกับ ‘มัจฉา พรอินทร์’ นักรณรงค์ด้านสิทธิ ทั้งประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ สิทธิเด็ก สิทธิชาติพันธุ์ และสิทธิสตรี ที่เสนอว่า สาเหตุสำคัญข้อหนึ่งของปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นเพราะผู้หญิงไม่มีสิทธิในร่างกายของตัวเอง
วอยซ์ ออนไลน์ : สิทธิในร่างกายสำคัญอย่างไร?
สิ่งที่สำคัญมากที่สุดที่ทำให้มนุษย์มีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ก็คือเนื้อตัวและร่างกาย มนุษย์มีอิสระและเสรีภาพในร่างกายของตัวเอง แต่เราจะพบว่าระบบสังคมควบคุมเนื้อตัวและร่างกายของผู้หญิงตั้งแต่เกิดจนตาย เด็กผู้หญิงต้องแต่งตัวยังไง เด็กผู้หญิงต้องทำตัวยังไง เราจะต้องยืนยังไง เราจะต้องเดินยังไง การทำแบบนี้มันหมายความว่า ผู้หญิงถูกควบคุมเนื้อตัวร่างกาย จิตใจ และจิตสำนึก
เมื่อคนไม่สามารถจะมีอิสระเสรีได้อย่างที่ควร เลือกไม่ได้ว่าต้องใส่ชุดยังไง เลือกไม่ได้ว่าอยากจะมีชีวิตเป็นยังไง มันส่งผลกระทบต่อชีวิตทั้งหมดของเขา
วอยซ์ ออนไลน์ : สิทธิในร่างกาย อำนาจ และการถูกละเมิดทางเพศเกี่ยวข้องกันอย่างไร?
เราอยู่ในระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรม ให้อำนาจไม่เท่ากันระหว่างเพศ ระบบสังคมอนุญาตให้เพศหญิงและชายทำในสิ่งเดียวกันแต่ให้คุณค่าไม่เท่ากัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาเป็นตัวของตัวเอง มีความเชื่อมั่น มีพลังอำนาจในตัวเองกลับถูกสังคมบอกว่าเธอทำอย่างนี้ไม่ได้ ผู้หญิงที่ถูกข่มขืน ถูกล่วงละเมิดทางเพศ จึงถูกมองว่าเป็นเรื่องการแต่งตัวของปัจเจก ถูกบอกว่าคุณแต่งตัวอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ และบอกว่าถ้าเราแต่งตัวเรียบร้อย เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อ ไม่ถูกละเมิด
แต่ในความเป็นจริงคือ ต่อให้คุณใส่เสื้อคอเต่าเมื่อคุณมีอำนาจน้อย คุณก็มีสิทธิที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศ
สังคมควรจะต้องเคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิผู้หญิง เมื่อผู้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใด ผู้หญิงต้องเข้าถึงความเป็นธรรมได้
วอยซ์ ออนไลน์ : ไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่ถูกละเมิด ผู้ชายเองก็เช่นกัน?
ระบบเพศเองก็ไม่ได้เป็นธรรมกับผู้ชาย ผู้ชายที่ต้องแบกภาระความเชื่อที่ว่าจะต้องเข้มแข็ง ร้องไห้ไม่เป็นสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ผู้ชายเจ็บปวดมาก เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศไม่ได้ทำให้ผู้ชายมีอำนาจน้อยลง แต่การเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศ
คือทำให้ผู้หญิงมีอำนาจ มีศักยภาพ และผู้ชายเองก็มีศักยภาพมากขึ้น ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างที่กดทับ ไม่กดทับผู้หญิง ไม่กดทับผู้ชาย ไม่กดทับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
เราควรเลิกโฟกัสว่าผู้หญิงต้องแต่งตัวยังไง แต่มาโฟกัสว่าเราจะทำยังไงให้สังคมปลอดภัย และเมื่อใครก็ตามไม่ว่าหญิง ชาย หรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ถูกละเมิด ตำรวจก็ต้องรับแจ้งความและดำเนินการตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นเลิกสนใจเรื่องการแต่งกายของผู้หญิง ไปโฟกัสว่าเราจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้คนที่ถูกละเมิดในมิติต่าง ๆ เข้าถึงความเป็นธรรมได้ยังไง