เบี้ยกุดชุม ระบบการเงินเฉพาะหมู่บ้าน

เบี้ยกุดชุม ระบบการเงินเฉพาะหมู่บ้าน

เบี้ยกุดชุม ระบบการเงินเฉพาะหมู่บ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Money Money
เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ / ภาพประกอบ : อรุณโรจน์ รัตนพันธ์


ระบบการเงินมีหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่ใครจะเลือกนำไปใช้อย่างไรให้เหมาะสมกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการออมเงิน การเพิ่มเงินด้วยการลงทุน หรือการเล่นหุ้น ก็คือ ระบบการเงินที่แต่ละคน แต่ละความสามารถของระดับการเงินจะเอื้ออำนวย แต่มีระบบการเงินชนิดหนึ่งที่มีการใช้บางสิ่งแทนค่าเงิน เพื่อใช้จ่ายภายในหมู่บ้านของตน เกิดระบบการแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งของต่างๆ กับสิ่งที่แทนเงิน ที่เรียกว่า เบี้ยกุดชุม แห่งหมู่บ้านสันติสุข อ.กุดชุม จ.ยโสธร
ย้อนกลับไป 10 กว่าปีที่ผ่านมา หมู่บ้านสันติสุข นับว่าเป็นศูนย์กลางของการใช้เบี้ยกุดชุม แทนการใช้เงินจริง ซึ่ง คุณศิลป์ธนูศักดิ์ ศรีมันตะ ผู้ใหญ่บ้านสันติสุข ได้เล่าให้ฟังว่า "สมัยก่อนที่นี่ใช้เบี้ยกุดชุมแทนการใช้เงินจริงในวันที่มีตลาดนัดในหมู่บ้าน เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน อาทิ ผัก ผลไม้ ของเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งจะมีเบี้ยตั้งแต่ 1, 5, 10 และ 50 เบี้ย แต่ที่ใช้กันส่วนใหญ่ก็มีเพียง 1 และ 5 เบี้ย เพราะใช้ง่าย และสิ่งที่ซื้อก็มีราคาอยู่ประมาณนี้ ที่ใช้เบี้ยแทนเงินจริงได้ ข้อดีของการใช้เบี้ยกุดชุมอย่างในสมัยก่อนนั้น ก็คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านมีกิจกรรมทำร่วมกันเพื่อเกิดความรักความสามัคคีกับคนในหมู่บ้าน เชื่อมโยงให้ชาวบ้านได้มีการพูดคุยกันมากขึ้นทำให้คนขยันมากขึ้น

 

"แต่เนื่องจากปัจจุบัน ชาวบ้านได้ลดความสนใจในเรื่องของการใช้เบี้ยกุดชุมลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นเพราะพวกเขาต้องใช้จริงในการซื้อของใช้ต่างๆ มากกว่า ผู้รับ (พ่อค้าแม่ค้า) ก็อยากได้เงินจริงที่สามารถใช้กับหมู่บ้านอื่นหรือในเมืองได้ ผู้ซื้อ (คนในหมู่บ้าน) ก็ต้องจ่ายด้วยเงินจริงและต้องหาเงินจริงมากขึ้น บางคนต้องให้เงินลูกไปโรงเรียนก็ไม่สามารถใช้เบี้ยกุดชุมให้ลูกไปโรงเรียนได้"

"แต่กระนั้นผู้ใหญ่เองก็อยากให้มีการใช้เบี้ยกุดชุมต่อ เวลามีตลาดนัดเราก็จะประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านนำเบี้ยกุดชุมออกมาใช้ ให้พ่อค้าแม่ค้ารับเบี้ยด้วย แต่ก็เข้าใจว่าชาวบ้านไม่ได้ต้องการอีกต่อไป


อีกอย่าง อัตราแลกเปลี่ยน 1 เบี้ย ก็เทียบเท่าผัก 1 กำ ราคาเงินจริงก็อยู่ที่ 2 บาท แล้วผักแบบนี้แทบทุกบ้านก็มีกินอยู่แล้วไม่ต้องซื้อไม่ต้องนำเบี้ยมาแลก เบี้ยกุดชุมที่เคยใช้กันอย่างคึกคักก็เลยค่อยๆ เงียบหายไป ขนาดเด็กๆ ในหมู่บ้านนี่ยังไม่อยากได้เบี้ยกุดชุมเลย บอกว่าอยากได้เงินจริงมากกว่า เงินจริงซื้อของเล่นได้ เงินจริงเอาไปโรงเรียนซื้อขนมได้"

เบี้ยกุดชุม เริ่มละลายหายไปตามกาลเวลา และตามค่าครองชีพที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาตามช่องว่างของชนบทที่อยู่ห่างไกลมาติดๆ ค่าเงินที่ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าเพียงพอต่อการดำรงชีวิต หล่อเลี้ยงผู้คนในหมู่บ้าน ท้ายสุดแล้ว "ค่าของเงิน" ก็มีมูลค่ามากกว่าเบี้ยกุดชุมที่ชาวบ้านหลายคนแอบเสียดายระบบการเงินในรูปแบบนี้

 

ขอขอบคุณ
คุณศิลป์ธนูศักดิ์ ศรีมันตะ ผู้ใหญ่บ้านสันติสุข อ.กุดชุม จ.ยโสธร

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook