แม่หญิงกระเกด อยู่ไฟครั้งแรก ทรมานจริงไหม ออเจ้าต้องรู้!
เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายแล้วสำหรับ "บุพเพสันนิวาส" ละครที่ทำเอาติดกันอย่างทั่วถึงไม่ว่าจะเป็นเด็กน้อย วัยรุ่น ไปจนถึงวัยชรา ทำเอาฟินกับฉากต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสายตาพิฆาตจากคุณพี่เดช (โป๊ป ธนวรรธน์) ความทะเล้นของแม่หญิงการะเกด (เบลล่า ราณี) หรือทีเด็ดฉาก "โล้สําเภา" ของทั้งคู่
จนตอนล่าสุดคืนวันนี้ (วันที่ 11 เมษายน) ฉากคำมั่นสัญญาต่อหน้าคันฉ่องของคุณพี่เดชที่มีให้แม่การะเกด หรือ ฉากคลอดลูกของแม่หญิงการะเกดกับการโหนผ้ากับขื่อ พร้อมกับ "การอยู่ไฟ" ครั้งแรกแบบโบราณที่สุดแสนทรมาน เป็นอีกหนึ่งซีนประทับใจไม่แพ้กัน ทำให้เราได้รู้ว่าการเป็นแม่คนในสมัยก่อนนั้นมันไม่ง่ายเลยจริงๆ
อยู่ไฟคืออะไร?
การอยู่ไฟหลังคลอด เป็นเรื่องคุ้นเคยกันดีและเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของคนสมัยก่อน เพราะคนสมัยนั้นเชื่อว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัว สรีระ หรือหน้าท้อง ทำให้หลังคลอดคุณแม่มีอาการปวดเมื่อยหรืออักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณสันหลังหรือที่ขา
ดังนั้นจึงมีผู้คิดค้นวิธี โดยอาศัยภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อฟื้นฟูร่างกายของคุณแม่หลังคลอด เพื่อปรับสมดุลในร่างกายให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว โดยใช้ความร้อนเข้าช่วย
การอยู่ไฟของคนไทยได้ทำสืบต่อกันมานานแล้ว จนบางคนเรียกระยะหลังคลอดว่า "ระยะอยู่ไฟ" แม้ในวรรณคดีของไทยอันเก่าแก่เองก็ยังกล่าวถึงเรื่องการอยู่ไฟด้วย "เพราะเชื่อกันว่าการอยู่ไฟจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายและจิตใจ รวมทั้งช่วยบรรเทาความปวดเมื่อยลงได้ และถือกันว่าเป็นการบำบัดโรคหลังคลอด ทำให้คุณแม่มีสุขภาพดีในภายหน้า เมื่อแก่ตัวลงก็ยังคงแข็งแรงเหมือนเดิม"
การอยู่ไฟในสมัยโบราณ
การอยู่ไฟมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดตามแต่จะนิยมกัน บ้างก็บอกจะต้องอยู่ในเรือนไฟที่สร้างเป็นกระท่อมเล็กๆ ขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยคุณแม่จะต้องเข้าไปนอนผิงไฟ พร้อมกับลูกที่จะนอนอยู่บนกระด้ง โดยคุณแม่จะต้องนอนบนกระดานไม้แผ่นเดียวทุกๆ วัน
หรือจะต้องนอนอยู่บนกระดานแผ่นใหญ่ที่เรียกว่า "กระดานไฟ" ถ้ายกกระดานไฟให้สูงขึ้นแล้วเลื่อนกองไฟเข้าไปใกล้ๆ หรือเอากองไฟมาก่อไว้ใต้กระดานก็จะเรียกว่า "อยู่ไฟญวน" หรือ "ไฟแคร่" (นอนบนไม้กระดาน ส่วนเตาไฟอยู่ใต้แคร่ มีแผ่นสังกะสีรองทับอีกที เหมือนการนอนปิ้งไฟดีๆ นี่เอง) แต่ถ้านอนบนกระดานไฟซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับพื้นและมีกองไฟอยู่ข้าง ๆ จะเรียกว่า "อยู่ไฟไทย" หรือ "ไฟข้าง" (ก่อไฟอยู่ข้างตัวบริเวณท้อง) บ้างก็เรียกกันไปตามชนิดของฟืน ถ้าใช้ไม้ฟืนก่อไฟก็เรียกว่า "อยู่ไฟฟืน" (นิยมใช้ไม้มะขาม เพราะไม่ทำให้ฟืนแตก) แต่ถ้าใช้ถ่านก่อไฟก็จะเรียกว่า "อยู่ไฟถ่าน" และข้างๆ กองไฟมักจะมีภาชนะใส่น้ำร้อนเอาไว้เพื่อใช้ราดหรือพรมไม่ให้ไฟลุกแรงเกินไป
ขณะอยู่ไฟมีความเชื่ออีกว่า คุณแม่หลังคลอดห้ามอาบน้ำเย็น ดื่มแต่น้ำอุ่น งดอาหารที่ทำให้แสลง ห้ามดื่มน้ำเย็น หรือทานของเย็นเด็ดขาด กินข้าวกับเกลือ หรือปลาเค็ม ซึ่งการอยู่ไฟหลังคลอดของคนสมัยก่อนนั้น คุณแม่จะต้องอยู่ในเรือนไฟประมาณ 7-15 วัน ซึ่งในระหว่างที่อยู่ไฟห้ามไม่ให้ออกจากเรือนไฟ เพราะเชื่อว่าจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายปรับตัวไม่ทัน แล้วจะส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้ หรือที่คนสมัยย่า ยาย เรียกว่าอยู่ไฟไม่ถึง จึงทำให้ร่างกายหนาวสะท้านได้
การอยู่ไฟสมัยใหม่
การอยู่ไฟแบบปัจจุบัน สะดวก สบายขึ้นมากมาย โทรกริ๊งเดียวมีแบบเดลิเวอรี่ส่งตรงพร้อมคนชำนาญการมาถึงบ้าน จะเลือกทำ 3 5 7 10 วันก็แล้วแต่ความสะดวกของคุณแม่ต่ละคน
ทั้งการนวดประคบ โดยใช้ลูกประคบร้อนที่ห่อไปด้วยสมุนไพรต่างๆ มานวดคลึงตามบริเวณร่างกายและเต้านม หรือนั่งทับลูกประคบ 1 ลูก เพื่อช่วยลดอาการปวดเมื่อยและรักษาแผลหลังคลอด
การเข้ากระโจมและอบสมุนไพรนานาชนิด ขั้นตอนนี้จะช่วยให้รูขุมขนได้ขับของเสียและทำความสะอาดผิวให้เปล่งปลั่งขึ้น จะเป็นการอบตัวด้วยไอน้ำร้อนโดยให้คุณแม่หลังคลอดเข้าไปนั่งบนเก้าอี้ แล้วเอาผ้าห่มทำกระโจมคลุมไว้ แล้วหม้อที่มีน้ำสมุนไพรจะระเหย ซึมผ่านผิวหนังเข้าไปบำรุงผิวพรรณและขับน้ำคาวปลาได้ดียิ่งขึ้น
เมื่ออบตัวเสร็จก็จะเอาน้ำที่เหลือในหม้อมาอาบหรือทาตัวภายหลังตาม ใช้เวลา 15-20 นาที เหงื่อจะออกมากเป็นการช่วยลดน้ำหนักไปด้วยในตัว
นอกจากนั้นยังเป็นเหมือนการผ่อนคลายหลังคลอดของคุณแม่ด้วย แต่ละร้านยังมีฟังก์ชั่นเสริมให้เลือกมากมาย ตอนผู้เขียนอยู่ไฟหลังคลอด ได้ลองเกือบหมดทุกบริการเสริม มีทั้งเสริมการขัดหน้า ขัดตัว พอกตัว นวดสลายเซลลูไลท์ นวดเปิดท่อน้ำนม ช่วงเวลานั้นหลังคลอดใหม่ๆ ได้ทำครบทุกขั้นตอน นอนสบาย เพลินๆ จนแอบลืมให้นมลูกเลยทีเดียว
>>>10 ข้อห้ามของการอยู่ไฟ
>>>โอบไม่รอบก็ยังรัก...คำสัญญาหน้าคันฉ่องของคุณพี่เดช "บุพเพสันนิวาส"
>>>เบ่งแรง! "การะเกด" โหนผ้ากับขื่อ คลอดลูกแฝดให้คุณพี่เดช "บุพเพสันนิวาส" ตอนจบ
อัลบั้มภาพ 33 ภาพ