หนูน้อยกับพฤติกรรมขี้อ้อนที่พ่อแม่ควรรู้และเข้าใจ
พฤติกรรมขี้อ้อนถือเป็นพฤติกรรมประจำตัวของลูกน้อยเลยก็ว่าได้ เพราะหลังจากที่พวกเขาลืมตาดูโลก พ่อแม่คือคนสำคัญที่คอยมอบความรักและความอบอุ่น พร้อมทั้งดูแลและใส่ใจในทุกๆ เรื่องให้กับพวกเขา ยิ่งถ้าเป็นช่วงเวลาที่ร้องไห้งอแง คนที่ลูกน้อยต้องการมากที่สุดก็คือ พ่อแม่นี่แหละ วันนี้ชวนพ่อแม่มาเข้าใจการเลี้ยงลูกอย่างพฤติกรรมขี้อ้อนของลูกรักกัน
ทุกครั้งที่ลูกน้อยร้องไห้งอแง สิ่งที่คุณแม่เริ่มทำเป็นอันดับแรกเลยก็คือ การอุ้มลูก เพราะหลังจากที่อุ้มลูกน้อยแล้ว เสียงร้องไห้มักหยุดไป หากถามว่าการที่คุณแม่ทำอย่างนี้บ่อยๆ จะเป็นการทำให้ลูกเคยมือหรือไม่ แน่นอนว่ามันย่อมทำให้ลูกเคยมือ สังเกตได้ง่ายๆ เวลาที่ลูกร้องไห้แล้วคุณแม่ไม่ยอมเดินเข้าไปอุ้ม ลูกจะไม่ยอมหยุดร้องไห้ง่ายๆ กว่าจะหยุดก็ใช้เวลามากพอสมควร นั่นอาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขี้แยและโมโหง่ายจากการเป็นเด็กร้องไห้บ่อย
การที่ลูกน้อยร้องไห้ นั่นคือการแสดงออกว่าเขาต้องการใครสักคน และใครสักคนก็ไม่ใช่ใครอื่นใดนอกจากคนที่มอบความรักและความอบอุ่นให้พวกเขาตั้งแต่วันแรกที่เขาลืมตามองดูโลก ทุกครั้งที่ร้องไห้แบบไม่มีสาเหตุ แค่เพียงคุณแม่ส่งเสียงให้ได้ยิน หรือเดินเข้าไปโอบกอดหรืออุ้ม ก็ช่วยให้ลูกสงบลงได้ เสมือนเป็นการเรียกร้องความสนใจในรูปแบบของเด็กน้อย เพราะเด็กย่อมมีความรู้สึกและเข้าใจได้ว่า หากร้องไห้งอแงก็จะมีคุณแม่เข้ามาโอบอุ้มปลอบโยน และนั่นก็ทำให้เขาได้รับความรักและความสุขจากคุณแม่นั่นเอง
ทำไมคุณแม่จึงไม่ควรหงุดหงิดเวลาที่ลูกร้องไห้งอแง
Ulrich Diekeyer ชาวเมืองมิวนิค ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้กล่าวไว้ว่า อาการร้องไห้ของลูกน้อยเพื่อเรียกร้องให้คุณแม่มาอุ้มนั้น ถือเป็นอาการที่เรียกว่าการอ้อนของลูกน้อย ซึ่งการอ้อนในลักษณะนี้อาจนำมาสู่การทำให้ลูกมีนิสัยเคยตัว ซึ่งหากคุณแม่เดินเข้าไปอุ้มบ่อยๆ หรือทำแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ย่อมทำให้ลูกมีนิสัยเรียกร้องความสนใจแบบนี้ได้นั่นเอง
และแน่นอนว่าการเรียกร้องความสนใจของลูกน้อยในลักษณะนี้ย่อมนำมาสู่เรื่องที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะย่อมทำให้การเลี้ยงลูกของคุณแม่ต้องเหนื่อยมากๆ อีกทั้งยังเป็นการทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ถูกตามใจจนเคยตัวได้ ในขณะเดียวกันการที่คุณแม่ปล่อยให้ลูกร้องไห้โดยไม่เข้าไปปลอบใดๆ เลยก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเช่นกัน เพราะจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่มีนิสัยขี้โมโหได้ ดังนั้นควรรู้ระดับของการตามใจอย่างเหมาะสม
ตามใจแค่ไหนถึงจะเหมาะสม
คุณแม่ควรหาสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้ลูกร้องไห้เสียก่อน ดูว่าลูกฉี่หรืออึออกมาหรือยัง เช็คดูว่าลูกไม่สบายหรือเปล่า กินนมอิ่มไหม เป็นต้น หากตรวจสอบดูแล้วว่าไม่มีปัญหาอะไรแต่ลูกยังร้องไห้อยู่ แนะนำให้คุณแม่ชี้ชวนให้เขาดูสิ่งรอบตัวที่น่าสนใจ เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนให้ลูกสนใจสิ่งรอบตัวแทนการร้องไห้ แต่หากยังไม่ได้ผลก็ต้องอุ้มแล้วปลอบเพื่อให้หยุดร้อง เพราะถึงอย่างไรแล้วการอุ้มและปลอบโยนเขาคือวิธีที่ดีที่สุดนั่นเอง