การศัลยกรรมกระดูกของเจ้าตูบ

การศัลยกรรมกระดูกของเจ้าตูบ

การศัลยกรรมกระดูกของเจ้าตูบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คลินิกโรคออร์โธปิติกส์ ระบบประสาท และเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชื่อของ คลินิกโรคออร์โธปิติกส์ ระบบประสาท และเวชศาสตร์ฟื้นฟู อาจจะฟังดูไกลตัว แต่โรคและอาการเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยงที่ต้องมารักษาที่คลินิกแห่งนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวคุณและสัตว์เลี้ยงของคุณมากกว่าที่คิด สังเกตได้จากปริมาณสัตว์เลี้ยงที่มาให้คุณหมอรักษาซึ่งมากพอสมควร เพื่อทำความรู้จักกับคลินิกแห่งนี้และเรื่องใกล้ตัวที่เราพูดถึงให้มากขึ้น In Emergency ฉบับนี้จึงขอพาคุณผู้อ่านมาพูดคุยกับ ผศ.น.สพ.ดร.กัมปนาท สุนทรวิภาต คุณหมอประจำคลินิกโรคออร์โธปิติกส์ ระบบประสาท และเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


แนะนำ

"เราเริ่มจะเปิดเป็นคลินิกศัลยกรรมกระดูก ข้อต่อ และระบบประสาท แล้วก็เรื่องของเวชศาสตร์ฟื้นฟู เราเปิดเพื่อที่จะรองรับตึกใหม่ของโรงพยาบาลสัตว์เล็กที่กำลังก่อสร้าง เมื่อถึงตรงนั้นก็จะทำออกมาเต็มรูปแบบ ตอนนี้เราเริ่มรับเคสที่ค่อนข้างจะมีความซับซ้อนเยอะๆ เป็นเคสที่หนักจริงๆ ที่คุณหมอธรรมดาเขาไม่อยากรับเพราะจะค่อนข้างยาก เราก็จะรับสัตว์ป่วยมารักษาแบบเฉพาะทางในวันพฤหัสบดี จะตรวจและก็เตรียมผ่าตัด ผมจะดูแลเคสตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งหายดีเป็นปกติ ทำให้เคสมีเข้ามาค่อนข้างเยอะ เพราะจะทวีคูณขึ้นทุกวัน"

"เราเริ่มมีศัลยกรรมเหมือนโรงพยาบาลอื่นๆทุกอย่าง ทั้งการใส่เพลท (คล้ายกับการดามเหล็กเข้าไปในกระดูก) ศัลยกรรมกระดูกหัก แก้ไขกระดูกหัก ในอนาคตก็จะเริ่มนำอุปกรณ์สมัยใหม่เข้ามาใช้ให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่กระดูกหัก ดามแล้วก็จบกัน แต่เราต้องมีการกายภาพบำบัดให้เขาด้วย ทั้งนี้ด้วยความที่เรายังไม่มีหน่วยที่รับฝากสัตว์เลี้ยง เราก็เลยจะให้เจ้าของช่วยทำกายภาพบำบัด เราจะสอนวิธีการให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงทำ บางครั้งในกรณีที่เร่งด่วนจริงๆ เราก็จะส่งไปยังคลินิกต่างๆที่เขามีเรื่องของการกายภาพบำบัด แต่โดยพื้นฐานเราจะเน้นไปที่การให้เจ้าของเริ่มหัดทำก่อน คาดว่าไม่เกิน 3 เดือนเราก็จะมีคลินิกที่เป็นเวชศาสตร์ฟื้นฟูจริงๆ"

 

 

ศัลยกรรมกระดูก

"เรื่องของศัลยกรรมกระดูกที่เราเริ่มทำมาก่อนก็จะมีทั้งการปรับมุมข้อเข่าซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ผลกว่าแบบเก่า การส่องกล้องเข้าไปดูในข้อต่อ รวมทั้งการรักษาโรคต่างๆที่สัตว์ทั่วไปไม่ค่อยเจอกัน เจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่ค่อยรู้จัก เช่น รูมาตอยล์ เป็นลักษณะของภูมิคุ้มกันที่มีปัญหาที่ทำให้เกิดการต้านกับข้อต่อของตัวเอง เป็นสาเหตุของข้อต่อกร่อน ซึ่งจะเจอค่อนข้างเยอะ อย่างเมื่อเช้าผมเจอมา 4 รายแล้ว ตามโรงพยาบาลอื่นๆปกติแล้วจะเจอกันค่อนข้างน้อย แต่ที่คลินิกนี้จะเจอเป็นเรื่องปกติ บางวันไม่ต่ำกว่า 10 ราย เราพยายามจะทำให้คลินิกแห่งนี้อยู่ตัวให้ได้ เพราะเนื่องจากระบบกระดูก ระบบประสาท ระบบโครงร่างเข้าไปเกี่ยวเนื่องกันหมด ต้องการการฟื้นฟูที่ค่อนข้างเยอะ พื้นที่ตรงที่เราเห็นอยู่นี้เป็นส่วนชั่วคราวเท่านั้น ระหว่างรอตึกใหม่เสร็จ"

สาเหตุของโรคกระดูก

"เยอะแยะเลย ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการกระแทกเสมอไป อย่างเช่น โรคที่เกิดจากพันธุกรรม คือเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม แล้วทำให้เกิดความผิดปกติของการเจริญเติบโตของกระดูกโครงร่าง ไม่ว่าจะเป็นข้อสะโพกห่าง ข้อสะโพกเจริญผิดปกติ ข้อศอกเจริญผิดปกติ กระดูกอ่อนเจริญผิดปกติ พวกนี้ไม่ได้โดนกระแทกหรือได้รับอุบัติเหตุ ซึ่งเหล่านี้จะพบในลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่ค่อนข้างเยอะ หรือหัวเข่าเคลื่อนที่เราเจอค่อนข้างเยอะมาก"

 

 

วิธีการสังเกตว่าสัตว์เลี้ยงเป็นโรคกระดูกหรือไม่

"โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเป็นโรคทางกระดูกจะพบเห็นในสุนัขประมาณ 4-5 เดือนแรก มักจะไม่พบเห็นตอนเด็กมากๆ แต่บางครั้งก็พบได้เหมือนกัน คืออายุน้อยๆแล้วเดินขาแปๆ อาการที่เราจะสังเกตเห็นได้ชัดๆก็คือ สุนัขจะกระโดดเหมือนกระต่าย ไม่ได้เดินสี่ขา บางครั้งก็เดินขาแบะออก 2 ข้างเลย เหมือนแมวน้ำ หรือขาบิดผิดรูปไปเลยซึ่งจะเห็นได้ค่อนข้างชัด แต่ถ้าเป็นพวกข้อสะโพกเจริญผิดปกติจะไปเห็นที่อายุ 3 เดือนขึ้นไปแล้ว เดินแบบขาไม่มีแรง ออกกำลังกายไม่ได้นาน เดินมากไม่ได้ เจ็บ ยกขา กล้ามเนื้อลีบ นี่คือสิ่งที่เจ้าของจะสังเกตเห็นได้"

ข้อสะโพกเสื่อม

"ข้อสะโพกเจริญผิดปกติจะทำให้เกิดข้อเสื่อม เมื่อก่อนเชื่อกันว่าเป็นมาตั้งแต่กำเนิด แต่หลังๆนี่ไม่ใช่แล้ว มีสาเหตุหลายอย่างที่เขามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการ อาหาร การออกกำลังกาย พบว่าเกิดการพัฒนาตัวขึ้นมาถึงเกิดโรคนี้ขึ้นมาได้ วิธีการรักษาและการป้องกัน ก็คือ พยายามควบคุมเรื่องการจัดการ ศัลยกรรมบางอย่างที่เราสามารถทำได้ก่อนน้อยๆ พอเขาโตขึ้นจะได้ไม่ต้องทำศัลยกรรมใหญ่ๆ เช่น จี้แนวประสาทเชิงกรานจะทำให้ข้อสะโพกกลับมาเหมือนปกติซึ่งสามารถทำให้เขาได้ตอนอายุไม่เกิน 5 เดือนเท่านั้น ถ้าเกินกว่านั้นไม่ได้แล้ว ถ้าเจอตั้งแต่เด็กๆก็จะดี เราต้องเลือกศัลยกรรมที่เหมาะสมในแต่ละเคส จากนั้นก็เฝ้าดูพัฒนาการว่าเขาจะพัฒนาไปทางไหน โดยทั่วไปจะประสบความสำเร็จค่อนข้างเยอะมาก หมายความว่าจากแนวโน้มที่จะเป็นเยอะตอนอายุมากขึ้นก็จะน้อยลง ค่อนข้างมาก"

การปรับมุมข้อเข่า

"ปลาบึก" เป็นน้องหมาพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ อายุ 6 ปี ด้วยเพราะถูกกระแทกประกอบกับน้ำหนักตัวที่มากทำให้ขาหลังข้างขวาเกิดเอ็นไขว้ของข้อเข่าฉีก ซึ่งวิธีการผ่าตัดที่ดีที่สุดในการรักษาก็คือ การปรับมุมข้อเข่า ซึ่งในตอนที่ทำการรักษาเมื่อประมาณปลายปีที่แล้วยังไม่มีวิธีการรักษาแบบนี้ในบ้านเราเพราะไม่มีเครื่องมือ เจ้าของปลาบึกเลยซื้ออุปกรณ์ในการปรับมุมข้อเข่ามอบให้กับทางโรงพยาบาลสัตว์เล็ก และทำได้ผ่าตัดปลาบึกด้วยวิธีการนี้เป็นตัวแรก ซึ่งผลที่ออกมาก็น่าพอใจมาก เพราะตอนนี้ปลาบึกสามารถเดินได้เกือบเป็นปกติ

 

 

เคสแปลกๆ

"โดยทั่วไปแล้วมีหลายๆโรคที่เราไม่เชื่อว่าในเมืองไทยจะมีโรคนี้ด้วย ก็จะมีโรค Lyme Disease ซึ่งในเมืองนอกจะพบเยอะมาก เป็นเรื่องปกติเพราะติดต่อโดยเห็บ แต่ในบ้านเราเขาบอกว่าไม่มีเห็บสายพันธุ์นั้นก็เลยไม่เจอ แต่เมื่อเช้าเพิ่งเจอสุนัขป่วยเป็นโรคนี้ตัวหนึ่ง เราก็เลยคุยกับอาจารย์หมอทางด้านอายุรกรรมว่าจริงหรือเปล่า เพราะอาการเหมือน ลักษณะของโรคก็คล้ายกัน แต่ว่าเป็นสุนัขในบ้านเรา เจ้าของก็เลี้ยงค่อนข้างดี สุนัขแสดงอาการค่อนข้างชัดเจน แต่บ้านเรายังตรวจโรคนี้ไม่ได้ ถ้าเกิดสุนัขยังไม่ดีขึ้นจริงๆเราก็ต้องส่งผลตรวจไปที่เมืองนอกเพื่อดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งอาการของโรคนี้ก็เริ่มจากขาหน้าบวม ผ่านไปก็ขาหลังทั้งสองข้างบวม มีการปวดบริเวณกล้ามเนื้อและข้อต่อทั้งหมดเลย ไข้ขึ้นๆลงๆ ตอบสนองกับยาสเตรอลอยด์ค่อนข้างเยอะ ปกติแล้วเมื่อให้สเตรอลอยด์โรคบางโรคจะหายไปเลย แต่นี่จะขึ้นๆลงๆอยู่ตลอดเวลา"

โรคที่พบบ่อย

"ส่วนมากก็คือกระดูกหัก รองลงมาก็โรคเกี่ยวกับข้อสะโพกเจริญผิดปกติ สะบ่าหัวเข่าเคลื่อน โรคเกี่ยวกับข้อต่อต่างๆ ข้อต่ออักเสบ"

ฝากถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยง

"อยากให้ศึกษาพันธุ์สุนัขก่อน ว่าสุนัขแต่ละสายพันธุ์มีโรค หรือมีลักษณะการเลี้ยงดูอย่างไร บางคนเลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่ในคอนโด การพาสุนัขไปออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญ สุนัขในกลุ่ม Working Dog อย่างโกลเด้น หรือลาบราดอร์ ต้องการการออกกำลังกาย พอเขาออกกำลังกายได้ไม่พอ การพัฒนาการของกล้ามเนื้อไม่ดีพอก็จะเกิดปัญหาในอนาคต เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเลี้ยงสัตว์ ควรศึกษาก่อน โตเต็มที่ขนาดไหน ต้องออกกำลังกายมากน้อยขนาดไหน อาหารที่เขาควรจะได้รับเป็นยังไง หรือสุนัขพันธุ์เล็กเห็นว่าเขาออกกำลังกายเล็กๆน้อยก็คิดว่าไม่เป็นไร จริงๆต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของเขาด้วยว่าเปลี่ยนไปไหม แปลกไปหรือไม่ ควรรีบพามาหาหมอตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่รอให้เขาเป็นเยอะแล้วค่อยพามา"

ขอขอบคุณ
ผศ.น.สพ.ดร.กัมปนาท สุนทรวิภาต
สพ.ญ.ชาลิกา หวังดี
น.สพ.ศิราม สุวรรณวิภัช
ผศ.น.สพ.สุวิชา จุฑาเทพ
ผศ.น.สพ.ดร.สุมิตร ดุรงค์พงษ์ธร
สพ.ญ.ปิ่นรัตน์ ต่อวัฒนชัย

คลินิกโรคออร์โธปิติกส์ ระบบประสาท และเวชศาสตร์ฟื้นฟู
เวลาทำการ วันพฤหัสบดี-ศุกร์ 08.00-11.00 น.
โทร. 02-2189759 ต่อ 759

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook