“เสียวฟัน” เรื่องเสียวๆ ที่ทุกคนควรรู้
อาการเสียวฟัน ถือเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับเราทุกคน หากดูแลรักษาฟันและเหงือกไม่ถูกไม่วิธี แต่หลายคนที่มีอาการเสียวฟันอาจจะมองข้ามที่จะดูแลรักษาอย่างถูกต้องจริงจัง เพราะคิดว่าอาการเกิดขึ้นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว และไม่ใช่อาการเจ็บป่วยที่รุนแรงไม่น่าส่งผลอะไรต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ความคิดดังกล่าวเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะอาการเสียวฟันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของอาการเหงือกอักเสบหรือฟันเสื่อมสภาพ
สาเหตุของอาการเสียวฟัน
อาการเสียวฟัน คืออาการที่เกิดจากการที่เคลือบชั้นเนื้อฟันเสื่อมสภาพหรือถูกทำลาย จนทำให้ผิวฟันถูกกระตุ้นและส่งสัญญาณไปถึงโพรงประสาทฟันจนทำให้เกิดอาการเสียวฟัน ทั้งจากการแปรงฟัน การดื่มน้ำเย็น การทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว หรือรสหวาน หรือแม้แต่บางครั้งแค่โดนลมพัดฟันก็รู้สึกเสียวได้เช่นกัน เนื่องจากประสาทฟันถูกกระตุ้นจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง
โดยสาเหตุของอาการเสียวฟันมีที่มาได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นฟันยุ ฟันร้าว ฟันแตกบิ่น รวมทั้งอาจที่ดูรุนแรงมากขึ้นอย่างอาการอักเสบของเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟัน หรืออาการที่เรียกว่า เนิ้อฟันไวเกิน ซึ่งก็คืออาการเหงือกร่น และฟันสึก โดยสาเหตุของฟันสึกเกิดจาก การสูญเสียเคลือบฟัน การเคี้ยวอาหารแข็งเป็นประจำ รวมทั้งการที่ฟัดบดเคี้ยวกันอย่างไม่ถูกวิธี เช่น การนอนกัดฟัน นอกจากนี้การแปรงฟันที่ผิดวิธีและการทานอาหารที่มีสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ก็เป็นต้นเหตุให้ฟันสึกได้เช่นกัน
วิธีดูแลรักษาอาการเสียวฟัน
อันดับแรกต้องค้นหาสาเหตุของอาการเสียวฟัน ทำได้โดยการไปพบทันตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมตรวจวินิจฉัย สำหรับวิธีการรักษา ทันตแพทย์อาจใช้สารเคลือบฟลูออไรด์บริเวณฟันที่พบว่าเกิดปัญหา ซึ่งสารเคลือบฟันจะช่วยให้เนื้อฟันแข็งแรงขึ้น หรืออาจใช้วิธีการอุดผิวเนื้อฟันที่เป็นปัญหา ช่วยในการขัดขวางต่อการกระตุ้นที่เป็นสาเหตุของการเสียวฟัน
สำหรับวิธีการป้องกันและลดอาการเสียวฟันด้วยตัวเอง สามารถทำได้โดย เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีลักษณะของขนแปรงที่อ่อนนุ่ม และต้องแปรงฟันให้ถูกวิธี ห้ามขัดถูแรงเกินไป รวมทั้งการเลือกใช้ยาสีฟันที่มีสูตรเฉพาะเพื่อลดอาการเสียวฟันก็สามารถช่วยบรรเทาอาการเสียวฟันที่ปลายประสาทในตัวฟันได้ ที่สำคัญคือต้องแปรงฟันเป็นประจำสม่ำเสมอวันละ 2 ครั้งเช้า – เย็น พยายามหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ทำให้เกิดอาการเสียว พวกอาหารที่เย็นจัด มีรสเปรี้ยว หรือมีรสหวานมาก นอกจากนี้หากเป็นไปได้ควรไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือนเพื่อตรวจดูสุขภาพฟันและช่องปาก