BE MAGAZINE : กันยายน 2554
เรื่อง : กิตติพจน์ อรรถวิเชียร / ภาพ : นวมินทร์ กุลประดิษฐ์ / ประสานงานปก : รัตติกาล พูลสวัสดิ์
ถอดเทป : ประภาพรรณ สุภาชัยวัฒน์, วันเพ็ญ ควบพิมาย
มองสังคมไทย จากการเดินทาง
ผมพยายามเกริ่นให้น้อยเพื่อให้ทุกท่านได้อ่านสาระดีๆ จากผู้ชายที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่าง คุณวิกรม กรมดิษฐ์ แม้ว่าตัวของเขาเองจะได้ถูกจัดอันดับเป็นมหาเศรษฐีในเมืองไทย จากนิตยสารต่างประเทศ เขาเองก็ยังไม่หยุดนิ่งที่จะเดินทางตามหาความฝันของเขา เขาใช้เวลา 75 วันเพื่อเดินทางคาราวานท่องประเทศลุ่มน้ำโขง อะไรที่เขาได้ไปพบสัมผัส แล้วมันสะท้อนภาพรวมอย่างประเทศไทยที่เราอยู่อาศัยกันอย่างไร การเรียนรู้ผ่านสายตาของชายหนุ่มที่มีประสบการณ์สร้างตัวจากศูนย์ ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านจะได้เรียนรู้อะไรดีๆ จากผู้ชายคนนี้
สิ่งที่ได้จากการเดินทาง 75 วัน บนเส้นทางกว่าหมื่นกิโล คุณวิกรมมองผ่าน มองสังคม มองเห็นอะไรบ้าง?
3 ข้อนะ ข้อแรกก็เข้าใจว่าถึงแม้ว่าเราจะได้เดินทางมาหลายประเทศ หลายครั้งแล้วก็ตาม แต่ไอ้การเดินทางครั้งนี้มัน ต่างกันเนื่องจากว่า
ข้อ 1 เรารู้สึกว่าเราเข้าใจในเชิงลึกในเชิงละเอียดมากขึ้นกว่าเดิมเพราะว่าปกติเวลาเราบินขึ้นจากสนามบินมันก็มองอะไรไม่เห็นแล้ว จะกี่หมื่นกิโลเราเดินทางแล้วมันก็จะเป็นแค่ก้อนเมฆกับสนามบินแต่ไอ้อันนี้มันละเอียดเพราะทุกๆ หนึ่งกิโลเราก็จะได้เห็นได้สัมผัสกับสองข้างทางที่เราไป ฉะนั้นในหนึ่งพันกิโลมาเปรียบเทียบกับหนึ่งหมื่นกิโลของการเดินทางของเครื่องบินแล้วเทียบกันไม่ติดเลย เพราะหนึ่งพันกิโลมันเห็นอะไรได้เยอะ ฉะนั้นตรงนี้เราก็จะเห็นในเชิงละเอียด ในเชิงที่ว่าใกล้ชิดนะกับสิ่งที่เราเรียกว่ากำลังผ่านไปอันนั้นคือข้อ 1
ข้อ 2 พอเราเห็นเชิงลึกแล้วเราก็มีความรู้สึกว่าเอ๊ะ!! ชีวิตนี้มันมีการเคลื่อนไหวมีการที่จะต้องทำมาหากิน มีการที่จะต้องไปต่อสู้หรือจะไปแข่งขันทุกชีวิตไม่ว่าจะเป็นคนอะไรก็แล้วแต่ทุกชีวิต ชีวิตก็จะมีการขยับ มีการไปหาความอยู่รอด ฉะนั้นเราก็จะเห็นว่าโลกที่หมุนในทุกวินาทีมันจะมีคนทั้งเกือบ 7 พันล้านคนต่างขยับกันหมดเลย สะท้อนกลับไปลึกนิดหนึ่งทำให้เรารู้สึกว่าโลกมันช่างละเอียด โลกมันช่างกว้างใหญ่มากกว่าที่เรามีความรู้สึกในแต่ละวัน ที่วันนี้เรานั่งอยู่คุยกันในความรู้สึกของเรา
โลกก็มีอยู่แค่นี้เองเพราะเราเห็นอยู่แค่นี้ แต่ไอ้การที่เรานั่งในรถแล้วทำงานไปด้วยมันทำให้เราเห็นไอ้สิ่งเมื่อกี้ที่ว่าคือ มันมีการเคลื่อนไหวมีการต้องไปดิ้นรน มีการแข่งขัน ทุกชีวิตในโลกนี้ทำให้เรามีความรู้สึกว่า ถ้าเรามัวแต่มานั่งแล้วนึกอยู่ว่าโลกมันเล็กแค่นี้แล้วเราก็ขี้เกียจมันก็เท่ากับว่าคนอื่นเขาไปกันหมดแล้วนะ เราก็ ล้าหลัง ซึ่งสิ่งพวกนี้กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย สังคมไทยนึกอย่างที่เราคิด เป็นอย่างที่เราเคยเป็นคือเราก็คิดว่าประเทศอื่นมันก็มองไม่เห็น อาจจะมองเห็นCNN อะไรก็แล้วแต่มันไม่ลึกมันไม่ละเอียดมันทำให้เราไม่กระตือรือร้น นั่นก็เป็นสาเหตุอันที่ 2 ว่า เขาขยับกันไปแต่เราไม่ได้ขยับเร็วขนาดนั้น
ข้อที่ 3 ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของทั้งภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม จีน ไปที่ไหนทุกตารางกิโลเมตรเขามันมีความขยัน มีความตื่นเต้น มีความรู้สึกที่อยากจะทำหรือกำลังทำ ทำอย่างกระตือรือร้น ดูจากการเดินเท้าเขาไม่มานับการเดินไปทีละก้าว เขาเดินจ้ำอย่างรวดเร็ว หรือเวลาที่เขาทำงานเขาจะแข่งขัน เขาทำเหมือนกับว่าเขามีความรู้สึกว่าไอ้เวลาที่หมุนไปจะทำอย่างไรให้เขานั้นรวดเร็วกว่าเวลาที่กำลังเปลี่ยนไป นึกออกไหมของเรามันก็ชิล แต่ผมก็ไม่รู้ว่าไอ้คำว่าชิลมันแปลว่าอะไร มาจากภาษาอะไรก็ไม่รู้
ในภาษาอังกฤษแปลว่าสบาย สบาย ครับ?
อ่อ สบาย สบาย ก็คือ... เรากำลัง ไม่แข่งกับตัวเรา ไม่แข่งกับคนอื่น เรากำลังปล่อยให้มันผ่านไป ในขณะที่เขาขยับอยู่ ตลอดเวลา ซึ่งอันนี้ก็คือ 3 ข้อหลักจากที่เดินทางมาทั้งหมด 70 กว่าวัน จากรถของเราที่นั่งอยู่ในรถล้อหมุนไปกว่าสองหมื่นกว่ากิโล เรารู้สึกว่าไอ้ตรงนั้นมันสะท้อนให้เห็นว่าภูมิภาคเขาเติบโตกัน แล้วกำลังจะเติบโตกันในปี ค.ศ. 2020 นี้มัน
คืออะไร เรากำลังมองว่าจะเกิดเขตการค้าเสรีอีกสามสี่ปีข้างหน้า จะเกิดการเอารถไฟความเร็วสูง กำลังจะเกิดอะไรต่ออะไรต่างๆ สารพัดอย่างที่ซึ่งมันกำลังเปลี่ยนแปลงเยอะแยะเรากำลังย้อนกลับไปดูว่าจีนเมื่อยี่สิบปีก่อนมันเป็นอย่างไร เขาก็จนที่สุดกว่าเรา สิบปีที่แล้วเขาก็ยังไม่รวยกว่าเรา แต่มา 5 ปีที่ผ่านมาจีนรวยกว่าคนไทยรวยกว่าๆๆ แล้วกำลังก้าวไปเร็วกว่าแล้วกำลังจะกลายเป็นผู้นำของโลก เพราะว่าเขากระตือรือร้น เขาต้องการวิ่งให้เร็วกว่าเวลา เร็วกว่าเข็มนาฬิกา แต่ไอ้ของเราก็สบาย สบายมันเลยเกิดเป็นมุมมองเข้ามา
อะไรที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเติบโตได้เท่ากับประเทศเพื่อนบ้านเราหรืออาจจะช้ากว่า?
ความคิด คนไทยมีความคิดอยู่สองสามเรื่อง ความคิดอันแรกเลยที่เป็นปัญหาของคนไทยคือเห็นแก่ตัว เราเนี่ยเห็นแก่ตัวมากกว่าคนอื่น ฉะนั้นไอ้การที่เห็นแก่ตัวกว่าคนอื่น มันเลยทำให้คนไทยต้องการทำอะไรเพื่อตัวเองมากกว่าคนอื่นหรือพวกพ้อง เช่น คอรัปชั่น มีความขัดแย้ง วันนี้มันเป็นเพราะเราแบ่งพรรคแบ่งพวก การที่แบ่งพวกทำไมเพราะเราเห็นแก่ตัว ก็ในเมื่อสังคมไทยเป็นประเทศไทยเราควรจะต้องรักษาสังคมไทยรักษาประเทศไทย แต่ด้วยความที่เห็นแก่ตัวเราก็คือเอาผลประโยชน์ใส่ตัวเองที่เรียกว่า ‘ฉ้อราชบังหลวง' แล้วก็แบ่งพรรคแบ่งพวกจนนำไปสู่การขัดแย้งจนถึงทุกวันนี้
อันที่สองคนไทยมีมุมมองที่แคบทุกอย่างที่คนไทยจะทำ คนไทยจะคิดถึงความลำบากนำหน้า ชอบคิดว่ามันยากตัวเองคงทำไม่ได้หรอก และเรามีทัศนคติที่ต่ำหรือที่เขาเรียกว่าเออ อยากจะไปทดสอบตัวเองทำได้ไหมหรือเรียกว่าทัศนคติในแง่ลบ
ส่วนข้อที่สาม คือคนไทยมีความอิจฉาตาร้อนเยอะ สาเหตุนะเช่นเห็นคนนั้นทำอะไรขึ้นมาดีหน่อยจะรู้สึกเลยว่าคือมันจะ ต่างจากฝรั่งที่เวลาเห็นใครทำงานหรืออะไรออกมาได้ดีจะตบมือให้และจะมาช่วยกันดู ในการแข่งกันในสิ่งที่มันดี คนไทยเนี่ยถ้าใครทำอะไรดีก็จะพูดว่าพ่อมันรวย สามตัวนี้เป็นตัวฉุดทำให้ประเทศไทยต่ำ ล่าช้า ขัดแย้ง แบ่งแยก แล้วก็คนดีก็ไม่กล้าออกมาทำอะไร พอออกมาทำอะไรก็จะมีคนติว่าแล้วทำให้คนดีๆ ไม่ออกมาทำอะไรเพราะจริงๆ ในสังคมไทยคนดีๆ มีเยอะ เขาก็ไม่อยากเปลืองตัวทำให้คนเลวๆ ครองเมืองเยอะ
แล้วมุมมองด้านสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่คุณวิกรมได้ผ่านแต่ละประเทศ คุณวิกรมมองว่ามันมีความเชิงลึกหรือมันมีความแตกต่างยังไงกับประเทศไทยมากน้อยขนาดไหนครับ?
ประเทศในภูมิภาคนี้มีวัฒนธรรมที่คล้ายกัน คล้ายกัน ถามว่าคล้ายกันอย่างไรคือว่า หนึ่งภาษานี้คล้ายกันใกล้เคียงกัน เราพูดถึงบริเวณที่ติดลุ่มแม่น้ำโขงนี้นะ มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันเลย คำพูดนี้เกิดมาพูดในชีวิตประจำวันมีใกล้เคียงกันถึง 900-1,500 คำ สองแต่งตัวอยู่กินสร้างบ้านเห็นไหมคล้ายกัน ตั้งเป็นเรือน ใส่สะโหร่ง ความคิดคล้ายกันอัธยาศัยดี ซึ่งเรามองว่าเป็นคนครอบครัวเดียวกัน มีบรรพบุรุษมีที่มาใกล้เคียงกันเพราะลุ่มแม่น้ำโขง ทุกคนใช้ ทุกคนขึ้นไปลงมา
คือมันมีแม่น้ำสายหลักที่ทุกคนเดินทางกันอยู่แล้ว?
ก็แม่น้ำ มันก็เป็นคมนาคมในอดีตอยู่แล้ว ทีนี้มันไม่ใช่เรื่องของวัฒนธรรมอันเดียวแล้วมันเป็นเรื่องของชนชาติ ที่เขาเรียกกันว่าไต๋หรือไทย ไทยใหญ่พวกนี้มันมีภาษาที่พูดเหมือนกันอย่างน้อยก็ประมาณ 1,500 คำ แต่ระหว่างพวกนี้กับ จวง ก็จะเหมือนประมาณ 900 คำ ซึ่งก็แสดงว่าเอ๊ะ! ทำไมพวกนี้ถึงพูดภาษาประจำชีวิตนี้ทำไมมันเหมือนกันตั้งเยอะขนาดนั้นเพราะว่าเขาเกี่ยวข้องกันใช่ไหม
แต่ถ้าข้ามไปเลยที่ไม่เหมือนกันก็เวียดนาม ไอ้ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันเนี่ยมันจะไม่เหมือนกันแล้ว แสดงว่ามันไม่ค่อยเกี่ยวพันกันเท่าไร เวียดนามเขาไปทางจีน ฮั่น อะไร ฉะนั้นเนี่ยความใกล้เคียงในเชิงวัฒนธรรม ความคิด ถ้าเรามองในมุมที่ดี คนไทยก็สามารถใช้ตรงนี้ให้เป็นตลาดได้เมื่อคนไทยผลิตสินค้าอะไรออกมาก็จะสามารถขายได้ เพราะตัวเลขเราก็พูดเหมือนกันทำไมจะค้าขายกันไม่ได้ ไปมาหาสู่ทำธุรกิจท่องเที่ยวลงทุนมันก็มีความเป็นไปได้สูง
ถ้าเปรียบเทียบศักยภาพของประเทศไทย คุณวิกรมมองว่าด้านไหนของประเทศไทยที่สามารถเป็นเบอร์หนึ่งในภูมิภาคนี้ได้?
ก็อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไม้สอยในบ้าน พม่า ลาวมีไหม เขมร เวียดนามมีไหม ตอนสี่สิบปีที่ผ่านมาเราทำมาตลอด ในขณะเดียวกันถ้าเขาปลูกพืชพรรณต่างๆ เราก็สามารถซื้อมาได้ เอามาเป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เพราะเรามีเขาซื้อได้ เขามีเราก็ซื้อได้ ตอนหลังมาเวียดนาม จีนเขาเข้ามาผลิตแทนได้
คุณวิกรมเคยพูดถึงประเทศลาวว่าเขามีแหล่งพลังงานและทรัพยากร คุณวิกรมให้ทัศนะไว้ว่าน่าจะเติบโตได้ดีในภูมิภาคนี้เพราะเหตุผลใดครับ?
ก็เป็นเพราะประเทศลาวมีพื้นที่เกือบสี่แสนตารางกิโลเมตร ในขณะที่ประชากรลาวเขามีแค่หกล้านแปดแสนคน ฉะนั้นมีเฉลี่ยแล้วประชากรต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร เขาต่ำมาก ก็แสดงว่าเขามีทรัพยากรมากกว่าที่คนเขาสามารถเอาไปใช้ ฉะนั้นประเทศไทยที่เรามีประชากรมากกว่าตั้งสิบเท่าแต่พื้นที่ใหญ่กว่าลาวแค่สามสิบเปอร์เซ็นต์ เราก็ไม่ทำไมนะใช้โอกาสตรงนี้เข้าไปใช้ที่ลาวล่ะ
เช่นเราบอกว่าเราไปสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำตอนนี้เขาก็ไปทำแล้วตั้งเจ็ดพันเมกะวัตต์โน่นแหละ เราก็ต้องไปทำเพราะปัจจุบันลาวเขาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่เราไปทำแล้วมันไม่เสียหาย อย่างลาวเนี่ยฝนตกน้ำก็จะไหลลงน้ำโขง ลาวต่อไปโอกาสน้ำท่วมมันจะน้อยลงประเทศเขาจะสร้างเขื่อนและจะตัดไม้และนั่นจะเป็นจุดเสีย ประเด็นที่มันมีคือป่าไม้มันจะถูกตัดออกไปแต่จะกลายเป็นป่าเศรษฐกิจแทนป่าธรรมชาติ
แต่ในขณะเดียวกันลาวต้องการเงินลงทุนเพราะลาวน่ะจน และต่อไปเขื่อนในลาวจะผลิตไฟฟ้ากว่าสามหมื่นเมกะวัตต์ ถ้ามันผลิตไฟฟ้าได้สามหมื่นเมกะวัตต์เนี่ย นี่มันมีมูลค่าเท่าไรล่ะ ไอ้มูลค่าตรงนั้นไม่พอ น้ำไม่ท่วม แต่ถึงท่วมน้ำก็ไม่ท่วมเยอะ ในขณะเดียวกันเขามีคนเลี้ยงปลา เขามีการปล่อยปลาลงในเขื่อนแล้วปลาเขามันใหญ่มากและเหมือนมันโตขึ้นมันก็จะเป็นปศุสัตว์ ในระยะสั้นมันไม่ดีแต่ในระยะยาวจะดี แล้วถ้ามีคนดูแลจะดีมาก และต่อไปเหนือเขื่อนขึ้นไปจะเป็นป่าสีเขียวเต็มไปด้วยต้นยาง ถ้าเกิดเขาทำด้วยเป็นป่าเศรษฐกิจก็ดี
อะไรที่ทำให้คุณวิกรมมองระยะสั้นระยะยาวได้ หรือวิธีคิดแบบไหนที่ทำให้เรามองเห็นโอกาสแบบนี้ ?
ตั้งโจทย์สิ สมมติว่าวันนี้เรายืนอยู่ตรงนี้ ถ้าเรามองและสมมติไปว่าอีกสิบปีอีกห้าปี มันจะเกิดอะไรขึ้น มนุษย์สามารถที่จะสมมติ ไอ้การสมมติไม่มีหรอกที่จะถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามันมีความเป็นไปได้ห้าสิบเปอร์เซ็นต์เพื่อนำไปสู่การเตรียมตัวการวางแผนอย่างถูกต้องมันก็ดี อันนี้มันก็เป็นเรื่องที่ผมมองนะ แล้วก็คิดว่าเออ มนุษย์ทำไมถึงเดินไปเหยียบดวงจันทร์ได้ ทำไมมีมือถือเพราะมนุษย์คิดล่วงหน้า แต่ถ้ามนุษย์ไม่คิดล่วงหน้าแต่มันก็ไม่เกิด แต่ปัญหาของคนไทยคือไม่มองล่วงหน้าทำวันต่อวันและเชื่อเรื่องดวงและมีวิสัยทัศน์ไปถึงชาติหน้าแล้วทำไมคนไทยถึงต้องออกไปทำงานที่นั่นที่โน่น เป็นเพราะคนไทยไม่มองล่วงหน้ามองแต่วันต่อวัน แต่ในชีวิตจริงไม่มีอะไรเปลืองจริงไหม มันเป็นเพราะคนเราไม่ขยันผมไม่เคยเห็นคนรวยแล้วไม่ขยัน
ความฝันของคุณวิกรมยังเป็นการเดินทางอยู่ไหมครับ?
ความฝันของผม ผมก็มองว่าผมเป็นชีวิตชีวิตหนึ่งที่ไม่หยุดนิ่งแต่ต้องทำอะไรที่เหมาะสม ชีวิตคือการเคลื่อนไหวถ้าชีวิตไหนไม่เคลื่อนไหวมันก็ไม่ใช่ชีวิต ทุกชีวิตในโลกแม้แต่แพลก์ตอนยังเคลื่อนไหว เราจะทำอย่างไรให้เหมาะสมกับความเป็นจริง ความเป็นจริงคือเรื่องสภาพร่างกาย และสองคือเรื่องของความต้องการของเราคือเราต้องการอะไรก็ไปตรงนั้น ฉะนั้นผมตอนนี้ก็ 59 ปีแล้ว สิ่งที่จะทำก็ต้องทำตามที่ผมต้องการ ก็เดินทางบ้างไปในที่ที่ตัวเองไม่รู้จัก เขียนงานบ้าง ชีวิตคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลง เราเป็นผู้กำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ดวง ไม่ใช่พระเจ้า แต่เราเป็นผู้กำหนด
คุณวิกรมพูดถึงเรื่องดวงเรื่องโชคบ่อยมันสะท้อนถึงอะไรสังคมหรือสภาพแวดล้อมของสังคมใช่ไหมครับ?
เพราะเราไม่ฉลาด เราเลยเชื่อมันถ้าเราฉลาดเราจะไม่เชื่อมัน เหตุของความสำเร็จหนึ่งต้องขยัน มุ่งมั่น มีเหตุผล ต้องคิดว่าดีกับเขาดีกับเรา ถ้าทุกคนทำแบบนี้ไปจะประสบความสำเร็จจะดีไหมล่ะ แต่ประเทศไทยตำรวจเยอะมากเพราะประเทศไทยมีปัญหาทางด้านสังคม ถ้าสังคมดีตำรวจจะน้อย และสังคมดีทุกคนจะมีความสุข แต่ถ้าเราลองไปถามชาวนาดูสิก็จะพบว่ามันมีแต่ปัญหามันเป็นเพราะเชื่องมงายและไม่เข้าใจ
คุณวิกรมมองเห็นอะไรในสังคมไทย และจะพาไปสู่การประสบความสำเร็จบ้าง?
ยาก ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ประเทศที่เป็นมหาอำนาจน่ะยาก เพราะสิ่งที่ผมพูดมาเมื่อกี้ใช่หมดเลย ด้านเศรษฐกิจการเมือง มันจะต้องมีความร่ำรวย ความเข้มแข็ง แต่สังคมเรามันอ่อนปวกเปียก สังคมไทยมันเป็นสังคม คือคำว่าสังคมไทยนี้ถ้าจะพูดในหนังสือนี้คือสังคมเมือง แต่จริงสังคมไทยหมายถึงสังคมไทยทั้งประเทศ ประเทศไทยวันนี้เรามีคนจนกว่าค่อนประเทศ เรามีประมาณสามสิบแปดล้านคน อยู่ในภาคเกษตรยี่สิบกว่าล้านคนแค่เก้าถึงสิบเปอร์เซ็นต์ของมวลรวม
แสดงว่าประเทศไทยจนมาก และแสดงว่ารายได้เขาต่ำมาก ประเทศไทยส่วนใหญ่ของคนที่มีความคิดเรื่องโชคเรื่องดวงส่วนมากจะมาจากสังคมเกษตรและสังคมในเมืองก็ยังเห็นแก่ตัวและคิดแคบ แต่ถ้าในเมืองมองกว้างๆ มันก็จะดี แต่ถ้ายังคิดแบบนี้อยู่ก็เป็นแบบนี้ต่อไปไม่เจริญ อีกกี่ชาติเราจะเป็นมหาอำนาจได้
คุณวิกรมเป็นห่วงสังคมด้านไหนมากที่สุดครับ?
ความคิด เริ่มมาจากความคิดก่อน คือเห็นแก่ตัว ขี้อิจฉา ไม่ขยัน งมงายมันเป็นความคิด ความคิดตรงนี้นำไปสู่เศรษฐกิจ อย่างนี้คือปัญหาของสังคมไทยที่ก่อตัวมานานแล้วและกำลังขยายต่อไปเรื่อยๆ สังคมไทยเป็นสังคมเล็กๆ การที่คนรวยไปพูดอวดว่าเราเป็นลูกใคร ทำให้เกิดความแตกแยก ทำให้คนหลายๆ คนเขาถูกกดขี่ และมีหลายคนที่ต้องการเข้าไปทำงานในระบบราชการเพื่อไปกดขี่ชาวบ้านเขา
ผมมักจะได้ยินว่าคนรุ่นใหม่ที่เข้าไปทำงานเพราะเขาต้องการมีอำนาจ?
การเติบโตด้วยสิ่งที่ถูกต้องมันนอกจากสร้างความชอบธรรมให้สังคมแล้วและทำให้เจ้าตัวภูมิใจด้วย มีใครไหมที่กล้าเขียน ไม่มีใครกล้าเขียนแต่มีคนกล้าทำเยอะ และสังคมไทยก็เป็นอย่างนี้ด้วย ฉันต้องมีเส้น ฉันต้องมีอำนาจแต่ถ้าเรามองจะพบว่าสังคมเรามันอ่อนแอแล้วเราจะเอาอะไรไปสู้ประเทศอื่นได้ แล้วมันจะเจริญได้อย่างไรประเทศเรามันก็เหมือนครอบครัว ถ้าพี่น้องคิดจะเอาเปรียบเราจะไปสู้ใครเขาได้ เมื่อครอบครัวเราไม่เจริญจะไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร
คุณวิกรมเลือกที่จะเขียนหนังสือหลายๆ เล่ม เล่มล่าสุดจะออกต้นปีกับหนังสือที่ชื่อว่า ‘ชีวิตใหม่' ?
เออ ใช่ จากชีวิตของเราที่เคยเป็นดักแด้ นั่งอยู่เงียบๆ อยู่กับตัวเอง พูดคุยกับตัวเองมาสิบปี อยู่ที่เขาใหญ่ อยู่ที่กรุงเทพฯ กลายเป็นไปเรื่อยๆ ไม่ยึดติดผูกติด ไปเจอความจริง มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์ เพราะโลกเรามันกำลังหมุน มนุษย์ก็เป็นหนึ่งชีวิตคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือการณ์และเวลาที่เปลี่ยนไป เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน สถานที่เปลี่ยนมันก็เปลี่ยน เราจะต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก ฉะนั้นการที่ผมเดินทางมันเป็นเพราะว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องไม่ยึดติดอยู่กับที่ เพราะเราก็ทำงานทำการมาถึงจุดๆ หนึ่ง เก็บหอมรอมริบมีเงินมีทองที่จะใช้ ฉะนั้นเมื่อเรามีเงินมีทองที่จะใช้เราจะบอกว่าเราจะอยู่แต่บ้านกินใช้ไอ้เงินที่เรามีมันก็เป็นเหมือนมดเหมือนปลวก เราทำไมไม่เอาชีวิตของเราครึ่งหนึ่งทำงานครึ่งหนึ่งเดินทาง แล้วการที่เดินทาง เราได้ไปดูดซึมแล้วก็ได้ไปเห็นแล้วเราก็นำมาถ่ายทอดบอกพวกเรา
สังคมเรานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีอันนั้นไม่มีประโยชน์เหรอมันไม่ดีกว่าที่เรานั่งอยู่เฉยๆ เหรอ วันนี้ที่ผมได้ถ่ายทอดที่ผมพูดผมเขียนผมแสดงออกไปล้วนแต่มีความคิดว่าประเทศนี้ขุนเรามาเลี้ยงเรามา ทำไมเมื่อเรามีแล้วมาทำในสิ่งที่เป็นรูปธรรมและสามารถจับต้องได้และเป็นความจริงนั้นคือความรู้สิ เออแล้วการที่เราว่าไปลอยกระทงเพื่อทดแทนตอบแทนแม่น้ำ ผมว่าไอ้ตอบแทนแม่น้ำโดยการเสียตังค์เสียเวลาด้วยการที่บนแล้วบอกว่าขอให้พระแม่คงคาปกป้องคุ้มครองลูกนะกับแฟนที่กำลังคบกันขอให้ลูกกับแฟนต่อไปชาติหน้าจะได้มีโอกาสมาพบกันใหม่เป็นแฟนกันอีก ด้วยการไปซื้อโฟมมาแล้วนำมาลอยแล้วก็ กทม.มาเก็บ
ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเป็นการตอบแทนธรรมชาติหรือทำลายแม่น้ำที่เรากำลังบอกว่าพระแม่คงคา ผมไม่รู้ว่าไอ้ความคิดนี้มันถูกไหมกับไอ้คำว่า ฉันรักพระแม่คงคา กับไอ้การบอกเอาเงินทองของเราไปดูสิว่าตอนนี้ประเทศอื่นเขาทำอะไร ไอ้ตรงนี้เขาทำอย่างไรอันไหนยังไม่มีในบ้านเราเอามาเขียนเอามาถ่ายทอดอย่างเป็นจริงไม่มีซ้ายไม่มีขวา ทุกอย่างต้องมีเหตุผลไม่งมงาย ทุกอย่างที่เขียนต้องเป็นกลางและต้องเลือกแบ่งจัดอย่างมีเหตุผลอย่างถูกต้องอันนี้ต่างหากที่ผมว่าควรทำและเป็นสิ่งที่หนังสือผมที่ทำทุกเล่มจะยืนอยู่บนคำว่าเหตุผลและความถูกต้องเสมอ ความเป็นประโยชน์ต่อคนที่นำไปใช้และเพราะผมคิดว่าพวกเขาคือลูกหลานของผมเขาคืออนาคตของผม
ในฐานะที่ผมเป็นคนไทยคนหนึ่งอายุก็ขนาดนี้แล้ว สิ่งที่จะต้องทำมันคือความรับผิดชอบ มันเป็นความรู้สึกนะในหน้าที่ที่ผมควรจะต้องทำให้กับสังคมนี้เพราะสังคมนี้กำลังป่วย สังคมนี้กำลังอยู่ในขั้นที่วิกฤตของความคิดของความสามัคคี ของการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่เราล้าหลังนะอยู่ไปเรื่อยๆ ที่ผมชอบพูดว่าสี่สิบปีที่แล้วเราเป็นผู้นำเราเจริญกว่าเกาหลี เจริญกว่าสิงค์โปร์ มาเลเซีย จีน และวันนี้เรากำลังล้าหลังไปเรื่อยๆ เรากำลังจะถูกเวียดนามแซงหรือในอนาคตอีกสิบปีอาจจะถูกพม่าแซงก็ได้ อันนี้ผมมองว่าเป็นหน้าที่นะ ผมเป็นคนที่คิดจะทำอะไรแล้วไม่มีอะไรที่ทำแล้วหวังว่าอยากได้มาซึ่งชื่อเสียงผลประโยชน์ ผมทำเพราะว่าผมคิดว่านี้คือประเทศของผม ไอ้นี่คือความรับผิดชอบของผม ที่ผมควรจะทำอะไรเพื่อสังคม ฉะนั้นการเขียนหนังสือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิตใหม่ การเป็นอยู่หรืออะไรที่มันเกิดขึ้นหมดล้วนแต่ออกมาจากสิ่งที่ผมมองแล้วว่ามันดีและอะไรคือสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์และควรที่จะทำ
Quote
" ชีวิตคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลง เราเป็นผู้กำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ดวง ไม่ใช่พระเจ้า แต่เราเป็นผู้กำหนด"
"สามตัวนี้เป็นตัวฉุดทำให้ประเทศต่ำ เพราะ ล่าช้า ขัดแย้ง แบ่งแยก แล้วคนดีก็ไม่กล้าออกมาทำอะไร พอออกมาทำอะไร จะมีคนติว่า แล้วทำให้คนดีไม่ออกมาทำอะไรเพราะความจริงในสังคมไทยมีคนดีๆ เยอะ เขาก็ไม่อยากเปลืองตัว จึงทำให้คนเลวๆ ครองเมือง"