ขบวนการพนักงานไร้พุง
ประกาศด่วน (1) จากเจ้านายอันเป็นที่รักยิ่ง : พนักงานในองค์กรของเรา "ต้องไร้พุง!"
คำประกาศแบบสายฟ้าแลบส่งตรงถึงหน้าคอมพิวเตอร์ของพนักงานทุกคนในออฟฟิศ เป็นอันทำให้พนักงานทั้งชายและหญิงในออฟฟิศ โดยเฉพาะบุคคลที่มี "พุง" สะดุ้งโหย่งสุดตัว เพราะมาตรการกำลังจะออกมาอย่างจริงจัง ที่มาของประกาศด่วนฉบับนี้
เพราะว่าเจ้านายของเรา เริ่มมองเห็นถึงสุขภาพของลูกน้องเป็นหลักสำคัญ เพราะการอ้วนลงพุงนั้นจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย และอีกอย่างออฟฟิศจะได้มีแต่คนสุขภาพแข็งแรง ปริมาณการลาป่วยก็จะลดน้อยลง พนักงานก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น... สรุปเป็นห่วงเรื่องสุขภาพของพนักงานจริงๆ หรือเปล่าเนี่ย
จุดเริ่มต้นของขบวนการภาคบังคับคือ การสร้างความรับรู้เรื่องของ "โรคเมตาบอลิกซินโดรม" หรือ "โรคอ้วนลงพุง" เพราะพนักงานออฟฟิศเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน ขาดการออกกำลังกาย สะสมความเครียด กระทั่งเรื่องของความชราภาพ ทั้งยังกินอาหารฟาส์ตฟู๊ด ขนมอบกรอบ น้ำอัดลม น้ำหวานเป็นประจำ ก็ส่งผลให้มีโอกาสเป็นโรคอ้วนลงพุงได้สูง
นอกจากบุคลิกภาพของพนักงานในออฟฟิศจะดูอ้วนลงพุง ไม่สง่างามแล้ว ปัญหาโรคอื่นๆ ก็อาจจะตามมาติดๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตก และโรคเบาหวาน (ในอนาคต)
เจ้านายศึกษาข้อมูลแล้วเห็นว่า ปัญหาสุขภาพของพนักงานทุกคนกำลังจะมาคร่าชีวิตลูกน้องอันเป็นที่รักยิ่งไป จึงไปสรรหาวิธีการออกกำลังกาย หรือการกินอาหารที่ง่ายๆ ทำได้ไม่ยาก พร้อมเคล็ดลับนานาชนิด เพื่อให้ลูกน้องห่างไกลจากโรคอ้วนลงพุง โดยติดประกาศฉบับต่อมาว่า ประกาศด่วน (2) "สิ่งที่พนักงานทุกคนต้องทำคือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน วันละครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ควบคุมอาหาร และลดการทานอาหารพวกแป้งและน้ำตาล"
โดยเริ่มต้นด้วยการให้คำแนะนำเรื่องของการออกกำลังกายให้สาวๆ และหนุ่มๆ ดังนี้
การออกกำลังง่ายๆ สำหรับสาวๆ
เริ่มอุ่นเครื่องเพื่อกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย โดยเดินเร็วหรือวิ่งเหยาะๆ 5 นาที จากนั้นเร่งจังหวะให้เร็วขึ้น 5 นาที แล้วพักสัก 2 นาที ทั้งสาวๆ และหนุ่มๆ เลยนะ
1. ออกกำลังกายเอว
- ให้กางขาให้กว้างๆ แขนเท้าเอว จากนั้นก็หมุนเอวไปข้างหน้า ข้างขวา ข้างหลัง และข้างซ้าย หากสาวๆ อยากให้เอวคอดแล้วล่ะก็ ให้หมุนซ้าย และขวาข้างละ 15 ครั้งนะจ๊ะ อย่าลืม...เกร็งหน้าท้องด้วยนะ
- นอนตะแคง และยันหัวไว้ด้วยมือซ้าย มือขวาเท้าเอว กางขาขวาขึ้นให้มากที่สุดค้างไว้สัก 10 วินาที จนรู้สึกเจ็บสุดๆ (น่องตึง) แล้วก็เอาขาลงเพียงครึ่งเดียว ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ายขวา ข้างละ 10 ครั้ง
2. ออกกำลังกายหน้าท้อง
- นอนราบกับพื้น ยกขาทั้งสองข้างขึ้นให้เป็นมุม 90 องศา ในขณะนั้นลดขาทั้งสองข้างลง และเกร็งให้
มากที่สุด 10 วินาที (ง่ายๆ เพียงนับ 1-20 ในใจ/1 ครั้ง ทำจนครบ 10 ครั้ง)
- ยืนตัวตรง ปลายเท้าแยกห่างประมาณ 2 ช่วงไหล่ ก้มตัว เหยียดแขนตรง ปลายนิ้วแตะพื้น วาดแขน
ออกด้านข้างวนเป็นวงกลม ทำแล้วพักให้ครบ 10 รอบ
การออกกำลังง่ายๆ สำหรับหนุ่มๆ
1. ยืนตัวตรง เท้าห่างประมาณช่วงไหล่ แขนทั้งสองข้างถือดัมบ์เบล เตะขาซ้ายไปด้านหลัง (ไม่ต้องเหยียดตรง) โน้มตัวไปข้างหน้าให้หลังขนานกับพื้น เมื่อทรงตัวได้เริ่มกางแขนออกให้ขนานกับพื้น เกร็งค้างไว้ประมาณ 5 วินาที แล้วจึงเอาแขนลง สลับขา ทำซ้ำ 12 รอบ
2. ยืนตัวตรง เท้าห่างประมาณช่วงไหล่ ทิ้งน้ำหนักตัวที่ปลายเท้า มือทั้งสองข้างชูดัมบ์เบลน้ำหนักครึ่งกิโลกรัมขึ้นเหนือศีรษะ งอข้อศอกเล็กน้อย กระโดด 5 ครั้ง แล้วเหยียดแขนลงข้างหน้า พักสักครู่ แล้วชูแขนขึ้น ทำซ้ำ 5 รอบ
3. นอนหงาย มือทั้งสองประสานไว้ที่ท้ายทอย ยกขาขึ้นทำท่าเหมือนปั่นจักรยานในอากาศ ยกไหล่ซ้ายบิดตัวไปทางขวา สลับข้าง 3 ครั้ง ปล่อยศีรษะแนบพื้น มือยังคงประสานที่ท้ายทอย นับในใจ 1-5 แล้วพัก แล้วเริ่มทำใหม่ ให้ครบ 2 รอบ
มาเริ่มต้นขบวนการ Diet Ranger กันด้วยการออกกำลังกายกันก่อน แล้วจะมีประกาศด่วนฉบับต่อไปในเรื่องของอาหารการกิน ว่าจะต้องกินอย่างไร ให้ห่างไกลอ้วนลงพุง และมีร่างกายที่แข็งแรงห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย
Quote (1)
"ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบกลุ่มที่น่าวิกฤตที่สุดในเรื่องของอ้วนลงพุง ก็คือกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยพบว่าเพศหญิงทั่วประเทศมีรอบเอวเกิน 80 เซนติเมตร สูงถึงร้อยละ 58 ส่วนเพศชายมีรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร ร้อยละ 34 กลุ่มอายุ 20 - 29 ปี มีภาวะโรคอ้วนเพิ่ม 7.5 เท่าตัว จากร้อยละ 2.9 เป็นร้อยละ 21.7 ส่วนในกลุ่มอายุ 40 - 49 ปี อ้วนเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า (ข้อมูลจาก สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)"
Quote (2)
"หากต้องการลดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะต้องเผาผลาญพลังงานมากถึง 7,700 กิโลแคลอรี่ โดยการออกกำลังกายต่างชนิดกันจะช่วยเผาผลาญพลังงานตั้งแต่ 150 - 1,200 กิโลแคลอรี่ต่อชั่วโมงเลยทีเดียว (ข้อมูลจาก สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)"
เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ / ภาพประกอบ : นัฐวรรณ ปล้องทอง