เจาะลึกอาการ ‘ดื้อโบ’ภัยเงียบเปลี่ยนสวยปังเป็นสวยพัง
เชื่อว่าบรรดาสาวๆ ยุคไหนๆ ก็คงอยากมีใบหน้าที่สวยใส ไร้ริ้วรอยกันทุกคน แต่แน่นอนว่าด้วยวัยที่มากขึ้น ความโหดร้ายของกาลเวลาก็จะเริ่มแสดงออกมาทางใบหน้าแบบไม่มีข้อยกเว้น สาวคนไหนมีเวลาดูแลตัวเอง ก็อาจจะมีริ้วรอยน้อยหน่อย แต่กับสาวที่ทำแต่งานจนไม่ได้ดูแลตัวเอง ร่องรอยที่เกิดขึ้นบางทีก็มากเกินจะรับไหว แถมยังบั่นทอนความมั่นใจไปไม่น้อยเลยทีเดียว
หลายคนเลือกที่จะรีเฟรชตัวเอง ให้ใบหน้าสวยใส ไร้ริ้วรอยกลับมาอีกครั้ง ด้วยการ ‘ฉีดโบ’ การเสริมความงามยอดฮิตของสาวทั่วโลก และไม่เพียงแต่จะลดเลือนริ้วรอยให้หายไป ‘การฉีดโบ’ ยังช่วยปรับรูปหน้าของสาวๆ ให้กลับมาสวยเป๊ะเข้ารูป ความมั่นใจที่เคยหายไปก็กลับมาเต็มเปี่ยมอีกครั้ง แต่ทว่าไม่มีของดีไหนที่ไร้ข้อเสียนะคะ เพราะฉีดโบที่ว่าสวย เป๊ะ กระชับ เมื่อฉีดหลายครั้งเข้า ก็ใช้ไม่ได้ผลซะอย่างนั้น วันนี้ Sanook Women จะพาสาวๆ ทุกคนไปเจาะลึกอาการ ‘ดื้อโบ’ ร่วมกับต้นตำรับความงามจากเยอรมันอย่าง Merz Aesthetics กันค่ะ
เมื่อหลายวันก่อน Sanook Women ได้มีโอกาสไปร่วมงานสัมมนา The Pure naked truth “BOtulinum TOXin resistance, The Beauty Threat” ที่เมิร์ซ เอสเธติกส์จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้สาวๆ เกี่ยวกับอาการดื้อโบโดยเฉพาะ ยิ่งไปกว่านั้น งานสัมมนานี้ยังเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านความงามจากหลายสถาบัน ซึ่งเราได้คุยกับ นายแพทย์ดิสพงศ์ ปณิฐาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและความงาม คุณหมอเล่าให้ฟังว่า อาการดื้อโบมีสาเหตุได้หลายปัจจัย ทั้งในด้านพันธุกรรมของผู้ป่วย ที่ร่างกายของผู้ป่วยบางคนต่อต้านผลของท็อกซิน รวมทั้งด้านพฤติกรรมการฉีดโบ ที่บางรายฉีดโบถี่เกินไป หรือใช้ในปริมาณที่เกินมาตรฐาน สุดท้ายคือ ปัจจัยในด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราเลือกใช้เองได้ ดังนั้น หากจะป้องกันการดื้อโบ ก็ควรเริ่มจากวิธีที่ง่ายที่สุด คือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์โบที่โมเลกุลเล็กและบริสุทธิ์ ไม่มีการเจือปนของคอมเพล็กซิ่งโปรตีน รวมถึงต้องรับการบริการแต่พอดี ไม่ถี่จนเกินไปด้วย
อาจจะมีสาวๆ หลายคนเคยชินกับการฉีดโบ แต่เชื่อได้เลยว่าน้อยคนที่จะรู้จัก ‘คอมเพล็กซิ่งโปรตีน’ และยิ่งมีน้อยคนไปอีกที่จะรู้ว่าเจ้าโปรตีนตัวนี้ คือต้นเหตุของอาการดื้อโบที่แท้จริง เพราะเจ้าคอมเพล็กซิ่งโปรตีน คือโปรตีนที่อยู่รอบๆ โมเลกุล ซึ่งมันไม่ได้มีหน้าที่ในการรักษาแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่ทำคือไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการผลิตแอนติบอดีที่จะไปยับยั้งการออกฤทธิ์ของท็อกซิน นำมาซึ่งอาการดื้อโบที่เรากำลังพูดถึงกันนั่นเอง
เภสัชกรหญิงกิตติวรรณ รัตนจันทร์ ผู้จัดการใหญ่ของ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมกับเราว่า โบทูลินั่ม ท็อกซิน ได้มีการพัฒนาขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ, อเมริกา, เกาหลีใต้ หรือบ้านเกิดของเมิร์ซอย่างเยอรมัน ก็มีการผลิตขึ้นเช่นกัน สำหรับในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์โบทูลินั่ม ท็อกซิน ที่อยู่หลากหลายรูปแบบ แต่หากต้องการหลีกเลี่ยงอาการดื้อโบก็ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ ปราศจากการเจือปนของคอมเพล็กซิ่งโปรตีน ควรรับการฉีดแต่พอดี และพึงระลึกไว้เสมอว่า ของถูกและดีไม่มีในโลก
ด้านอีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญความงาม อย่างดอกเตอร์เจอร์เกน เฟรเวิร์ต นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้น วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โบเยอรมัน เล่าให้ Sanook Women ฟังถึงการศึกษาด้านโบทูลินั่ม ท็อกซิน ว่า ตัวเขาเองมีความหลงใหลในสารท็อกซิน และยังได้วิจัยเรื่องความบริสุทธิ์ของท็อกซินมาตั้งแต่จบจากปริญญาเอก จนกระทั้งได้สามารถสร้างท็อกซินบริสุทธิ์และปราศจากคอมเพล็กซิ่งโปรตีนได้สำเร็จ ดอกเตอร์ยังกล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม ว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาสร้างท็อกซินสำเร็จ ก็คือ ‘รอยย่นของตัวเอง’
ในงานสัมมนาไม่ได้มีแต่เหล่าผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เรายังได้พบกับ นางสาวนวลักษณ์ เจริญ สาวสวยผู้เคยมีปัญหาอาการดื้อโบมาก่อน เธอเล่าให้เราฟังว่าเธอฉีดโบมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว จากในระยะแรกที่ช่วยให้หน้าเป๊ะมาตลอด แต่เมื่อนานเข้าความเป๊ะนั้นก็ค่อยๆ หายไป จนเธอเริ่มฉีดถี่ขึ้น ทว่านั่นกลับส่งผลตรงข้าม จนกระทั้งได้รับรู้เรื่องราวความบริสุทธิ์ของท็อกซินจากเมิร์ซ ทำให้เธอได้ความสวยและความมั่นใจคืนมา
เรื่องราวในงานสัมมนานี้ ทำให้เราได้รู้จักเรื่องราวของโบทูลินั่ม ท็อกซิน ที่คอยคืนใบหน้าสวยใส ไร้ริ้วรอย ฟื้นความมั่นใจ รู้จักกับคอมเพล็กซิ่งโปรตีน ภัยเงียบที่คอยเปลี่ยนความสวยปังเป็นสวยพัง และที่สำคัญที่สุด คือได้พบกับเรื่องราวอันน่าสนใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโบทูลินั่ม ท็อกซิน รวมไปถึงประสบการณ์อันน่าทึ่งที่หาจากที่ไหนไม่ได้ เรื่องราวเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้สาวๆ ไม่เดินไปในทางผิด ได้พบกับความงามที่แท้จริงนั่นเอง
[Advertorial]