ผมร่วงหลังคลอด สาเหตุและวิธีเยียวยาสำหรับคุณแม่หลังคลอดทุกคน
ผมร่วงหลังคลอด ไม่ได้เป็นเพราะความเครียดจากการมีลูกคนแรกหรอกนะ อ่านข้อมูลต่อไปนี้ซะ แล้วคุณจะรู้ความเป็นไปความเป็นมาของอาการผมร่วงหลังคลอด สิ่งที่คุณต้องพบเจอในช่วงหลังคลอด และวิธีรับมือกับอาการผมร่วงนั้น
การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนหลังคลอด
การตั้งครรภ์ทำให้ฮอร์โมนต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็ได้แก่เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน ออกซิโทซิน และโปรแลคติน ปริมาณของเลือดก็เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ทันทีที่คุณคลอดลูก ฮอร์โมนหลายๆ ชนิดก็จะลดระดับอย่างรวดเร็ว รวมทั้งแอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนด้วย ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้จะกลับเข้าสู่ระดับบปกติภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด ถึงแม้ฮอร์โมนโปรแลคตินจะยังคงสูงอยู่ตราบใดที่คุณให้ลูกน้อยกินนมแม่ นอกจากนี้ปริมาณของเลือดก็ลดลงด้วยนะ แต่จะเป็นแบบค่อยๆ ลด และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในสองถึงสามสัปดาห์หลังคลอด
ฮอร์โมนส่งผลกระทบต่อเส้นผมอย่างไร
เมื่อระดับฮอร์โมนตกฮวบหลังคลอดลูก ก็ทำให้เกิดอาการผมร่วงแบบเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งเทียบไม่ได้กับอาการผมร่วงในช่วงเก้าเดือนที่ผ่านมาเลย เนื่องจากอาการผมร่วงคราวนี้จะเกิดขึ้นรุนแรงแบบครั้งเดียวจอด อาการผมร่วงหลังคลอดนั้นจะเกิดขึ้นหลังคลอดวันไหนก็ได้ และบางครั้งก็จะเกิดแบบต่อเนื่องยาวนานได้ถึงหนึ่งปีเต็ม แต่ช่วงพีคๆ คือช่วงประมาณ 4 เดือนแรก ฉะนั้นถ้าลูกน้อยของคุณมีอายุแค่สองสามเดือน แล้วคุณยังมีอาการผมร่วงเป็นกำๆ ไม่ยอมหยุด ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง
วิธีเยียวยาอาการผมร่วงหลังคลอด
อาการผมบางหลังคลอดถือเป็นเรื่องปกติ ถ้าคุณไม่ได้เป็นกังวลในเรื่องนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเยียวยาใดๆ แต่ถ้าอาการผมร่วงทำให้คุณต้องกลุ้มใจ ก็ยังมีวิธีเยียวยาอยู่บ้างที่จะทำให้เส้นผมของคุณดูหนาและมีสุขภาพดีขึ้นได้ ซึ่งวิธีพวกนั้นก็ได้แก่
- เลิกแต่งผมชั่วคราว
การใช้ความร้อนในการแต่งผมไม่ว่าจะเป็นไดร์เป่าผมหรือคีมดัดผมไฟฟ้า อาจทำให้เส้นผมของคุณดูบางลงได้ ฉะนั้นพยายามอย่างแต่งผมอะไรมากนัก ปล่อยให้เส้นผมแห้งเองตามธรรมชาติจนกว่าอาการผมร่วงจะหายไปดีกว่า นอกจากนี้การแปรงผมแรงๆ ก็อาจทำให้ผมร่วงมากขึ้นได้ ฉะนั้นก็เบามือในการแปรงผมหน่อย และอย่าแปรงผมมากกว่าวันละหนึ่งครั้ง เอาเวลาแปรงผมไปกอดลูกสุดที่รักของคุณดีกว่า
- กินวิตามิน
คุณไม่ควรใช้วิตามินมาทดแทนการกินอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่คุณต้องป้อนอาหารให้ลูกผ่านทางน้ำนมด้วย แต่ถ้าคุณกินอาหารได้ไม่พอเพียง การใช้อาหารเสริมก็น่าจะช่วยได้บ้าง ถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานอะไรที่บ่งบอกว่าวิตามินชนิดไหนที่มีผลต่ออาการผมร่วง แต่วิตามินก็ยังมีความสำคัญต่อสุขภาพโดยรวม ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้กินวิตามินเหมือนในช่วงตั้งครรภ์ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณให้ลูกกินนมแม่
- ใช้แชมพูชนิดเพิ่มความหนา
โชดดีที่ยุคนี้มีแชมพูชนิดเพิ่มความหนาแบบเวิร์คๆ อยู่มากมาย ในขณะที่แชมพูแบบที่ช่วยปรับสภาพเส้นผมนั้นอาจทำให้เส้นผมลีบแบนลงมาได้ รวมทั้งทำให้เส้นผมดูบางลงกว่าปกติด้วย แต่แชมพูแบบเพิ่มความหนาให้เส้นผมนั้นจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้เส้นผม ทำให้เส้นผมดูพองหนาได้อย่างยาวนาน
- ใช้ผลิตภัณฑ์แต่งผม
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ใช้มูสส์แต่งผม เพื่อช่วยสร้างภาพลวงตาให้ผมดูหนาขึ้น ซึ่งถ้าจะให้ดีก็ควรเปลี่ยนทรงผมซะด้วยเลย ลองปรึกษาช่างตัดผมดูนะ ว่าจะตัดทรงไหนแล้วช่วยให้แต่งผมให้ดูหนาได้ง่ายขึ้นบ้าง ถ้าคุณไว้ผมยาวในระดับเดียวกันมาตลอด ก็น่าจะลองเปลี่ยนเป็นผมซอยบ้าง นอกจากนี้ก็ควรใช้คอนดิชันเนอร์แบบไม่ต้องล้างออกหลังสระผมด้วย
- ลองเปลี่ยนสีผม
การเปลี่ยนสีผมจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้เส้นผมได้เป็นอย่างดี ถ้าคุณรู้สึกว่าผมสีเข้มๆ ของคุณดูบาง ก็อาจเพิ่มมิติให้เส้นผมดูหนาขึ้นด้วยการทำไฮไลท์บริเวณด้านหน้า ก็จะช่วยทำให้เส้นผมดูหนาขึ้นได้ หรือไม่ก็ลองทำทรีทเม้นท์ที่ช่วยให้เส้นผมดูเป็นเงางามทั่วทั้งศีรษะได้ นอกจากนี้คุณอาจใช้วิธีเปลี่ยนแสกร่วมด้วยก็ได้ อย่างเช่น ถ้าเคยแสกกลางก็เปลี่ยนมาแสกข้างซะ
- เปลี่ยนเท็กซ์เจอร์
สภาพผมทีเหยียดตรงมักจะทำให้ผมดูบางลงได้อย่างชัดเจน ฉะนั้นถ้าคุณเคยใช้ไดร์เป่าผมหยิกๆ ของคุณให้ดูเหยียดตรงล่ะก็ ควรหยุดการกระทำดังกล่าวได้แล้ว และปล่อยให้เส้นผมแห้งเองตามธรรมชาติ หรือไม่ก็ลองใช้โรลม้วนผมไฟฟ้าหรือคีมม้วนผมไฟฟ้า เพื่อช่วยทำให้ทรงผมดูพองสวยขึ้นได้ นอกจากนี้อาจใช้เครื่องประดับผม อย่างเช่น ที่คาดผม ผ้าพันผม หรือผ้าโพกศีรษะเก๋ๆ เพื่อช่วยอำพรางอาการผมร่วงได้อย่างมีสไตล์