12 ไอเดีย ราวกันตกแบบไม่ตกยุค

12 ไอเดีย ราวกันตกแบบไม่ตกยุค

12 ไอเดีย ราวกันตกแบบไม่ตกยุค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ราวกันตกหรือราวจับที่ชานบ้านและบันไดเป็นอีกหนึ่งจุดที่หลายคนมองข้ามไป แต่รู้ไหมว่าคุณก็สามารถออกแบบให้สวยได้ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ดูน่าเบื่อ ลองมาดูไอเดียราวกันตกเก๋ ๆ แบบไม่ตกยุคกัน

 


1.ราวกลมเดี่ยว

หากเลือกใช้บันไดโครงสร้างเหล็กโปร่ง ๆ ปูขั้นบันไดด้วยไม้กระดานเรียบ ๆ ราวกันตกก็ควรออกแบบให้โปร่งโล่งไม่แพ้กัน แนะนำให้ใช้ราวจับสแตนเลสหรือโลหะอื่น ๆ ที่เป็นท่อทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร เชื่อมแกนยึดกับโครงสร้างเหล็กเป็นระยะ ทุก ๆ 1 เมตร (ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของราวจับของคุณ) เท่านี้ราวกันตกก็ไม่ไปกวนดีไซน์ของบันไดแล้ว

2.ราวจับลูกกรง

ไอเดียนี้ใช้เหล็กกล่องขนาด 5x5 เซนติเมตร ยึดจากพื้นถึงเพดาน ช่วยส่งให้รูปทรงของบันไดดูเด่นสะดุดตา นอกจากนี้ยังช่วยให้ดูโปร่งโล่ง เหมาะกับอาคารพาณิชย์และทาวน์เฮ้าส์ เส้นตรงจะช่วยให้ห้องดูสูงโปร่งมากขึ้น

3.บันไดเหล็กดัด

สำหรับบันไดลิงที่ใช้ปีนขึ้นห้องดาดฟ้าหรือบันไดทั่วไปก็สามารถใช้ไอเดียนี้ได้ ด้วยการดัดท่อเหล็กหรือสแตนเลส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เซนติเมตร เมื่อดัดโค้งเป็นสองแถวโครงสร้างนี้จะแข็งแรงขึ้นแต่ก็ยังดูโปร่งเบาอยู่เหมือนเดิม

4.ราวจับแบบฝังผนัง

คนที่ไม่ชอบราวบันไดที่ยื่นออกมาขวางทางเดินหรือบันไดที่มีหน้าแคบมาก ๆ แนะนำให้ทำมือจับหลบลงไปในผนัง ด้วยการเจาะช่องที่ผนังให้สูงพอดีกับมือ 80 - 90 เซนติเมตร เว้นระยะเล็กน้อยแล้วซ่อนไฟเพื่อส่องสว่าง เท่านี้ก็จะได้มือจับทางเดินที่ได้ประโยชน์เป็นสองเท่า

5.ราวโซ่

หากเบื่อไอเดียการใช้สะลิงขึงเป็นราวกันตกแล้วลองหาวัสดุอื่นมาขึงแทนอย่างโซ่ก็ดูน่าสนใจดีไม่น้อย เพราะมีความแข็งแรงและน้ำหนักไม่มากนัก แถมยังเข้ากับบ้านสไตล์ลอฟต์ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้แนะนำให้ยึดด้วยนอตเกลียวหมุนปรับระดับได้เพราะโซ่อาจหย่อนลงหากมีการใช้งานนาน ๆ

6.ราวกันตกเส้นบาง ๆ

ใครว่าเหล็กต้องดูหนาหนักเทอะทะ ลองดูไอเดียนี้ที่ใช้เหล็กแผ่นหนา 5 มิลลิเมตร หน้ากว้าง 10 เซนติเมตร มาเชื่อมเป็นโครงสร้างราวบันไดที่แข็งแรงทนทานและยังดูบางเบา ถ้าจัดองค์ประกอบดี ๆ อาจกลายเป็นงานศิลปะตกแต่งห้องไปในตัว

 

 

7.กันตกล่องหน

หากราวกันตกดูเกะกะรกตาก็ลองทำราวกันตกจากแผ่นกระจกใสให้ดูเปลือยเปล่า แต่ข้อสำคัญกระจกต้องเป็นกระจกนิรภัยที่มีความหนา 5 - 10 มิลลิเมตร และยึดฝังลงไปในพื้นบันไดเพื่อความแข็งแรง ส่วนรอยต่อของกระจกต้องยึดด้วยกาวซิลิโคนชนิดใสให้ดูสวยงาม ใครกลัวใช้งานไม่ถนัดอาจเพิ่มมือจับไม้บนแผ่นกระจกด้วยก็ได้

8.ราวไม้บนโครงเหล็ก

ถ้าราวจับดูเย็นมือและแข็งกระด้างเกินไปจะผสมวัสดุไม้บนราวจับก็ไม่ผิด แต่จะให้ดูกลมกลืนควรออกแบบเป็นไม้ทรงเหลี่ยมและยาวแบบไร้รอยต่อ ส่วนที่หักมุมก็ต่อและขัดแต่งให้เรียบเนียน เพื่อให้รับกับดีไซน์ของแผ่นบันได

9.ราวทึบ

ใครที่กลัวความสูงและอยากประหยัดงบประมาณ แนะนำให้ทำราวกันตกแบบก่อปูนสูงจากขั้นบันได 85 - 90 เซนติเมตร เหมาะกับบ้านสมัยใหม่ที่นิยมทำโครงสร้างแบบปูนเปลือยขัดมัน เข้ากับงานสไตล์ลอฟต์

10.ราวเส้นเดียว

หากเป็นคนชอบความท้าทายหวาดเสียว แนะนำราวจับบันไดแบบเส้นเดียวที่ชวนให้ตื่นเต้นขณะเดิน เพราะไม่มีแผงกันตกยึดกับบันได แนะนำให้ใช้เหล็กที่มีความหนาเพื่อความแข้งแรง และมีจุดเชื่อมกับตัวบันไดเป็นระยะ แต่ทั้งนี้ไอเดียนี้จะไม่เหมาะกับบ้านที่มีเด็กเล็กเพราะเด็ก ๆ อาจพลัดตกลงมาได้

11. ราวกิ่งไม้

บ้านที่รักธรรมชาติลองเลือกกิ่งไม้รูปทรงสวยหรือรากไม้แห้งมายึดกับผนังด้วยนอตให้เสียบทะลุเนื้อไม้ หรือใช้เหล็กฉากเล็ก ๆ แขวนไว้กับผนังเป็นช่วง ๆ ใช้แทนราวจับก็ดูเก๋ไม่น้อย จะทำสีตกแต่งหรือจัดวางองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความสวยงามใช้เป็นงานศิลปะตกแต่งผนังก็ได้

12. ราวตะแกรงกั้น

เหมาะกับบ้านสไตล์ลอฟต์ สามารถใช้กับพื้นที่ภายนอกอย่างชานหรือบันไดนอกบ้านได้ ดูโปร่งตาและทนทาน แค่ทำกรอบเหล็กพร้อมทำฐานยึดนอตกับพื้นให้แน่นแล้วเชื่อมแผ่นตะแกรงเหล็กฉีกทำสีสนิมเสียหน่อยก็ใช้งานได้ไปอีกนาน หรือใครจะนำไปทำราวกันตกภายในบ้านก็ดูดิบเท่ไปอีกแบบ

 

 

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ 12 ไอเดีย ราวกันตกแบบไม่ตกยุค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook