ที่ตรวจครรภ์ ให้ผลการตรวจที่เชื่อได้ชัวร์หรือมั่วนิ่มกันแน่

ที่ตรวจครรภ์ ให้ผลการตรวจที่เชื่อได้ชัวร์หรือมั่วนิ่มกันแน่

ที่ตรวจครรภ์ ให้ผลการตรวจที่เชื่อได้ชัวร์หรือมั่วนิ่มกันแน่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ตรวจครรภ์ แบบที่เราตรวจได้ด้วยตัวเองนั้น อาจทำให้เราประสาทเสียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เราไม่แน่ใจว่าควรจะเชื่อผลตรวจหรือเปล่า ฉะนั้น เพื่อให้คุณมั่นใจกับผลการตรวจนั้น เราก็มีรายละเอียดในเรื่องนี้มาชี้แจงแล้ว

เราควรใช้ที่ตรวจครรภ์แบบนี้เมื่อไร

ที่ตรวจครรภ์ด้วยตัวเองส่วนใหญ่จะมีอ้างว่า จะให้ผลการตรวจสอบที่ถูกต้องเที่ยงตรง ตั้งแต่วันแรกที่รอบเดือนขาดหายไป (หรือแม้แต่ก่อนหน้านั้น) ซึ่งเราก็น่าจะได้ผลตรวจที่ถูกต้องจริงๆ แต่ถ้าจะให้ดี ก็ควรรอหลังวันที่รอบเดือนขาดหายไปหนึ่งวันจะดีกว่า หรือจะดียิ่งไปกว่านั้นก็ตรวจหลังจากรอบเดือนขาดหายไปหนึ่งสัปดาห์ ทำไมต้องรอน่ะเหรอ? ก็หลังจากไข่ที่สุกนั้นเข้าไปอยู่ในผนังมดลูกแล้ว รกก็จะก่อตัวขึ้นมาและผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวกับกับการตั้งครรภ์ หรือ Human Chorionic Gonadotropin (HCG)

ฮอร์โมนชนิดนี้จะเข้าไปอยู่ในกระแสเลือดและปัสสาวะ ถึงแม้ในการตั้งครรภ์ในช่วงแรกๆ  ฮอร์โมนการตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มเป็นสองเท่าทุกๆ สองถึงสามวัน แต่ถ้าคุณใช้ที่ตรวจครรภ์เร็วไป ก็จะตรวจจับฮอร์โมน HCG ได้ยาก และจงจำไว้ว่าช่วงเวลาไข่ตกของผู้หญิงแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน รวมทั้งช่วงเวลาที่ไข่สุกเข้าไปฝังตัวในมดลูกก็แตกต่างกันด้วย ซึ่งปัจจัยพวกนี้ล้วนมีผลต่อการผลิตฮอร์โมนการตั้งครรภ์ของร่างกายทั้งสิ้น

ที่ตรวจครรภ์มีหลายแบบหรือเปล่า

โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะวางปลายที่ตรวจครรภ์ลงในถ้วยที่เก็บปัสสาวะเอาไว้ หลังจากนั้นประมาณสองสามนาที ที่ตรวจครรภ์ก็จะเผยผลตรวจออกมา ซึ่งมักจะเป็นเครื่องหมายบวกหรือเครื่องหมายลบ หรือใช้คำว่า 'ตั้งครรภ์' หรือ 'ไม่ตั้งครรภ์' บนแถบหรือจอแสดงผล แต่ที่ตรวจครรภ์ก็มีความอ่อนไหวต่อการจับฮอร์โมน HCG ไม่เท่ากัน พูดง่ายๆ ก็คือที่ตรวจครรภ์บางชนิดอาจบอกผลการตรวจได้ โดยอาศัยฮอร์โมน HCG ในปัสสาวะในระดับที่น้อยกว่า แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ควรอ่านคำแนะนำในกล่องให้ละเอียดก่อนใช้ รวมถึงดูวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ด้วย เพราะอาจมีผลต่อประสิทธิภาพในการตรวจด้วยเช่นกัน

ที่ตรวจครรภ์มีความถูกต้องแค่ไหน

ที่ตรวจครรภ์ด้วยตัวเองมักอ้างว่ามีความถูกต้อง 99 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลการศึกษาวิจัยบอกว่า ที่ตรวจครรภ์ด้วยตัวเองส่วนใหญ่จะไม่มีความอ่อนไหวพอจะวินิจฉัยการตั้งครรภ์ ในผู้หญิงที่รอบเดือนเพิ่งขาดหายไปได้ ฉะนั้น เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่ถูกต้องแม่นยำจริงๆ ก็ควรรอให้ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ก่อนแล้วจึงค่อยใช้ที่ตรวจครรภ์

ผลการตรวจที่เป็นบวกผิดพลาดได้หรือเปล่า

ผลตรวจที่เป็นบวกมักจะไม่ค่อยผิดพลาด แต่ก็เป็นไปได้ว่าคุณจะได้รับผลตรวจที่เป็นบวก ทั้งที่ไม่ได้ท้องหรือ False Positive ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากการตั้งครรภ์ที่ตัวอ่อนไม่ฝังตัว (biochemical pregnancy) ซึ่งเป็นภาวะที่ไข่กับอสุจิผสมกันแล้ว แต่ไม่มีการฝังตัวของทารกในโพรงมดลูก ซึ่งถือเป็นการแท้งอย่างหนึ่ง การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือปัญหาของรังไข่ ก็อาจทำให้ผลการตรวจครรภ์ด้วยตนเองผิดพลาดได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถ้าผลออกมาเป็นบวก คุณก็ควรไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจอีกครั้งเพื่อยืนยันผล และก็ควรฝากครรภ์ทันที เพื่อที่คุณหมอและพยาบาลจะได้สามารถให้คำแนะนำดีๆ กับคุณ

ผลการตรวจที่เป็นลบผิดพลาดได้หรือเปล่า

เป็นไปได้เช่นกันว่า ถึงแม้ผลการตรวจจะเป็นลบ ทั้งที่ความจริงแล้วคุณตั้งครรภ์ เรียกว่า False-negative ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อยกว่ากรณีของ False Positive ซึ่งเหตุผลหลักๆ ของความผิดพลาดก็ได้แก่

  • คุณใช้ที่ตรวจครรภ์เร็วเกินไป ยิ่งใช้เร็วเท่าไหร่หลังรอบเดือนขาดหายไป ก็ยิ่งตรวจจับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ได้ยากขื้นเท่านั้น เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่ถูกต้องแม่นยำขึ้นนั้น ก็ควรรอหลังรอบเดือนขาดหายไปหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งถ้าคุณไม่อยากรอนาน ก็ใช้วิธีตรวจเลือดตามสถานพยาบาลต่างๆ
  • เช็คผลตรวจเร็วเกินไป คุณต้องแน่ใจว่าให้เวลาพอสมควรกับกระบวนการใช้ที่ตรวจครรภ์นั้น โดยจับเวลาตามคำแนะนำที่ระบุข้างกล่อง
  • ใช้ปัสสาวะที่เจือจาง เพื่อที่จะได้ผลการตรวจที่ถูกต้องแม่นยำนั้น คุณก็ควรทำการตรวจปัสาวะเป็นอย่างแรกหลังตื่นนอนในตอนเช้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูงสุด

ถ้าคุณยังคิดว่าคุณตั้งครรภ์ ถึงแม้ผลตรวจจะออกมาเป็นลบ ก็ควรรออีกสองสามวัน แล้วทำการตรวจสอบอีกที แต่ถ้าผลการตรวจครั้งที่สองยังคงออกมาเป็นลบอีก โดยที่รอบเดือนก็ยังคงไม่มาตามปกติ คุณควรปรึกษาแพทย์และรับการตรวจร่างกายดูว่า มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น ปัญหาไทรอยด์ ปัญหาเกี่ยวกับรังไข่ หรืออาจจะมาจากความเครียดที่มากเกินไป ซึ่งสามารถส่งผลให้รอบเดือนของคุณไม่เป็นไปตามปกติได้ทั้งสิ้น

การใช้ยาสามารถส่งผลต่อการตรวจครรภ์ได้หรือไม่

การใช้ยาบางอย่างก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ที่ตรวจครรภ์ได้ ซึ่งยาพวกนั้นก็ได้แก่

  • ยาแก้แพ้ที่ใช้ตัวยาโปรเมทาซีน (Promethazine)
  • ยาที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน
  • ยานอนหลับ
  • ยากล่อมประสาท
  • ยาขับปัสสาวะ (ยาที่ใช้ในการรักษาอาการหัวใจวาย)
  • ยากันชักที่ใช้รักษาโรคลมชัก
  • ยาที่ใช้รักษาภาวะมีบุตรยาก

ถ้าคุณกินยาอะไรก็มักจะมีข้อมูลในใบกำกับยามาให้ด้วย ซึ่งคุณควรอ่านรายละเอียด เพื่อจะได้รู้ว่าจะส่งผลกระทบต่อที่ตรวจครรภ์หรือเปล่า หรือสอบถามกับเภสัชกรก็ได้

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook