ท้องแฝด กับการทำน้ำหนักตัวของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์
ท้องแฝด อาจทำให้คุณแม่เกิดอาการปลาบปลื้ม ช็อค หรือสับสนงุนงงได้ นอกจากนี้ก็อาจมีข้อสงสัยเกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งคำถามที่ว่า...คุณต้องมีน้ำหนักมากขนาดไหนในช่วงอีกหลายๆ เดือนต่อจากนี้ และนี่คือรายละเอียดที่คุณควรต้องศึกษาเอาไว้
ทำไมน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นถึงมีความสำคัญ
การกินอาการที่เหมาะสมและมีน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์นั้น ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของการตั้งครรภ์ แต่จะยิ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษเมื่อคุณตั้งครรภ์ลูกแฝด เนื่องจากมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจะมีความสำคัญเป็นพิเศษในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ถึง 24 ของการตั้งครรภ์ ถ้าคุณแม่ที่ ท้องแฝด มีน้ำหนักขึ้นประมาณ 10 กิโลกรัมภายในสัปดาห์ที่ 24 ของการตั้งครรภ์ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดลงได้ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นแต่เนิ่นๆ นั้นก็มีความสำคัญต่อพัฒนาการของรกด้วย เพราะนั่นจะช่วยลำเลียงสารอาหารไปให้ลูกแฝดได้ดีขึ้น
คุณแม่ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นขนาดไหน
การจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นขนาดไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสูง รูปร่าง และน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ของคุณแม่ด้วย แต่อย่างไรก็ตามผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝดนั้นควรจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 10 ถึง 20 กิโลกรัม ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แฝดสามก็ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 22 ถึง 27 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นแฝดสี่หรือแฝดห้านั้นยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าควรจะมีน้ำหนักเพิ่มขนาดไหน ฉะนั้นคุณจึงควรปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญตามสถานพยาบาลต่างๆ
ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วขนาดไหน
ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ลูกแฝดควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแค่ 2 ถึง 3 กิโลกรัมในช่วงไตรมาสแรก และสัปดาห์ละประมาณครึ่งกิโลกรัมในช่วงไตรมาสที่สองและที่สาม ถ้าคุณตั้งครรภ์แฝดสามก็ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัมไปตลอดการตั้งครรภ์ แต่ด้วยความที่มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างหลากหลาย คุณก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญตามสถานพยาบาลต่างๆ ถึงแนวทางในการเพิ่มน้ำหนักอย่างเหมาะสม
การจัดการกับน้ำหนักเมื่อตั้งครรภ์ลูกแฝด
การที่คุณหมอแนะนำให้คุณมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 16 กิโลกรัม หมายความว่ายังไงน่ะเหรอ? การตั้งครรภ์ลูกแฝดนั้นใช้เวลารวมทั้งหมด 37 สัปดาห์ ฉะนั้น คุณก็ควรเพิ่มน้ำหนักให้ได้สัปดาห์ละประมาณครึ่งกิโลล่ะสิใช้มั้ย? น้ำหนักจะไม่ได้เพิ่มขึ้นง่ายๆ แบบนั้นหรอกนะ เนื่องจากการตั้งครรภ์ลูกแฝดนั้นจะมีอุปสรรคในการเพิ่มน้ำหนักแตกต่างกัน และนี่คือรายละเอียด
ไตรมาสแรก
อุปสรรคแรกของการเพิ่มน้ำหนักในช่วงเวลานี้ก็คือ...อาการคลื่นไส้ เนื่องจากคุณมีระดับฮอร์โมนต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ที่ทำให้ว่าที่คุณแม่ลูกคนเดียวไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวได้ ฉะนั้น ถ้าคุณตั้งครรภ์ลูกแฝดก็มีความเป็นไปได้ว่า คุณจะมีอาการผะอืดผะอมในตอนเช้าๆ มากกว่า (และมีแนวโน้มว่าจะเกิดอาการเช่นนี้ไปตลอดทั้งวันด้วย) แต่ข่าวดีก็คือการกินอาหารในปริมาณน้อยลง จะช่วยให้คุณแม่บางคนมีอาการดีขึ้นได้ ซึ่งถ้าคุณเป็นหนึ่งในกลุ่มคุณแม่ผู้โชคดีนี้ ก็แค่เลือกทานอาหารที่คุณอยากจะทาน ซึ่งจะช่วยให้คุณมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัมไปตลอดไตรมาสแรก แต่ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในกลุ่มคุณแม่ผู้โชคดีแล้วนี้ ก็ทำใจให้สบายซะ เพราะคุณจะมีอาการที่ดีขึ้นในภายหลัง แค่ต้องแน่ใจเท่านั้นแหละว่าคุณได้กินวิตามินบำรุงครรภ์อยู่ด้วย (ถ้าวิตามินนั้นทำให้คุณเกิดอาการแพ้ท้อง ก็ขอให้คุณหมอเปลี่ยนให้ซะ) การจิบอาหารเหลวๆ จะช่วยร่างกายของคุณคงความชุ่มชื้นเอาไว้ได้ และถ้าคุณมีอาการกลืนอาหารหรือของเหลวไม่ได้ ก็ควรแจ้งให้คุณหมอทราบด้วย
ไตรมาสที่สอง
ถ้าคุณโชคดี...อาการคลื่นไส้ก็จะหายไปในช่วงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ (แต่กับคุณแม่บางคนก็อาจหายในช่วงสัปดาห์ที่ 16 หรือแม้แต่สัปดาห์ที่ 20 ก็ได้) ตอนนี้คุณจึงมีโอกาสเพิ่มสารอาหารให้ลูกน้อยเจริญเติบโตได้แล้ว ถ้าน้ำหนักตัวของคุณไม่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรก (หรือถ้าน้ำหนักลดลงจากอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน) คุณหมอก็อาจอยากเห็นคุณเพิ่มน้ำหนักได้สัปดาห์ละครึ่งถึงหนึ่งกิโลกรัมในช่วงเวลานี้ แต่ถ้าคุณมีน้ำหนักขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรก ก็ตั้งเป้าให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัมก็พอ ถ้าคุณต้องการจะทำน้ำหนักให้ได้เร็วขึ้น ก็ถึงเวลาที่คุณจะต้องสวาปามอาหารประเภทโปรตีน แคลเซี่ยม หรือธัญพืชต่างๆ เพิ่มขึ้นแล้วล่ะ นอกจากนี้นมสดครบส่วน (ที่มีส่วนผสมของนมผงที่ช่วยเพิ่มปริมาณแคลเซี่ยม) เนยแข็งคอตเทจ เนื้อวัว และไก่งวง ก็นับเป็นทางเลือกที่ดีในการเพิ่มสารอาหารให้กับร่างกาย
ไตรมาสที่สาม
เป้าหมายของคุณก็คือเพิ่มน้ำหนักให้ได้สัปดาห์ละครึ่งถึงหนึ่งกิโลกรัมต่อไปตลอดเดือนที่เจ็ดของการตั้งครรภ์ เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 32 ของการตั้งครรภ์ ลูกแฝดของคุณก็อาจมีน้ำหนักตัวคนละเกือบสองกิโลกรัมก็ได้ (ซึ่งเฉพาะน้ำหนักตัวของลูกน้อยก็ร่วมๆ 4 กิโลกรัมเข้าไปแล้ว ซึ่งถือเป็นน้ำหนักที่มากพอดูสำหรับคุณแม่ส่วนใหญ่) จึงไม่เหลือที่ว่างสำหรับอาหารเลย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝด ถึงมีปัญหากรดไหลย้อน หรือการย่อยอาหารผิดปกติ ในช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ แต่ถึงยังไงก็อย่าล้มเลิกแผนการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพไปเชียวนะ เนื่องจากตอนนี้ลูกน้อยของคุณกำลังจ้ำม่ำขึ้นเรื่อยๆ และต้องการอาหารที่มีความสมดุลทาโภชนาการ ฉะนั้นในเดือนที่แปดที่เก้าของการตั้งครรภ์นี้ คุณก็น่าจะต้องมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัมเป็นอย่างต่ำ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด