17 วิธีป้องกันตนเองและครอบครัวจากโรคและภัยช่วงน้ำท่วม

17 วิธีป้องกันตนเองและครอบครัวจากโรคและภัยช่วงน้ำท่วม

17 วิธีป้องกันตนเองและครอบครัวจากโรคและภัยช่วงน้ำท่วม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่วิกฤตหลายจังหวัดของประเทศไทยในขณะนี้ ส่งผลให้ประชาชนประสบความเดือดร้อนในหลายด้านไม่ว่าจะเป็น ด้านที่อยู่อาศัย อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม และความเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ที่มากับน้ำท่วม เช่น น้ำกัดเท้า อุจจาระร่วง ไข้ฉี่หนู ตาแดง ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก รวมทั้งอันตรายจากภัยสุขภาพจากน้ำ เช่น การตกจมน้ำ ไฟฟ้าช๊อต สัตว์มีพิษอันตราย ฯลฯ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการจมน้ำเกิดจากการหมดแรงหรือการได้รับอุบัติเหตุชนกระทบ กระแทกกับวัตถุ ในขณะที่มีการจมน้ำระยะแรกผู้จมน้ำจะพยายามหายใจเอาอากาศเข้าไปให้มากที่สุด แต่ส่วนใหญ่จะเกิดอาการสำลักน้ำเข้าไปในปอด หลังจากนั้นเกิดอาการหมดสติ ชักเกร็ง และหัวใจหยุดเต้นในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตผู้ประสบภัยช่วงนี้จำนวนมาก

นอกจากนี้สิ่งที่ควรระมัดระวังที่สำคัญช่วงน้ำท่วมที่พบการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจำนวนมากเช่นกัน คือ อันตรายจากกระแสไฟฟ้าดูดหรืออาจจะถูกเรียกอีกอย่างว่าไฟช๊อต ที่เป็นภาวะที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายมีผลทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็ง จนไม่สามารถสะบัดให้หลุดได้ ปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกายส่งผลทำให้เสียชีวิต หรือพิการ การดำเนินชีวิตในช่วงน้ำท่วมจึงมีความเสี่ยงหลายประการจากจากภัยอันตรายต่างๆ ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินชีวิตในช่วงน้ำท่วมของผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความปลอดภัย จึงขอแนะนำให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ


เภสัชกรเชิดเกียรติ เผยคำแนะนำมาตรการจำเป็น 17 ประการเพื่อการป้องกันโรคและภัยจากน้ำท่วม ดังนี้

1) หากจำเป็นต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำควรเตรียมตัวอุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม หรือนำอุปกรณ์ประยุกต์ที่หาง่ายติดตัวไปด้วยเสมอ เช่น ถังแกลลอนเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา

2) ให้ระวังเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เพราะอาจถูกกระแสน้ำพัดพาหรือตกลงในบ่อน้ำลึกได้

3) อย่าพยามยามวิ่งหรือขับรถผ่านในที่มีน้ำไหลเชี่ยว

4) ควรงดการดื่มสุรา เนื่องจากทำให้ทรงตัวไม่ดีเพิ่มโอกาสลื่นล้ม พลัดตกจมน้ำ หรือ งดตัดสินใจทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เช่น กระโดดจากสะพานลงเล่นน้ำ เป็นต้น

5) ให้ตัดสวิทซ์กระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันไฟฟ้าดูดหรือช็อต ขณะเกิดน้ำท่วมขัง

6) เก็บของมีค่าและจำเป็นขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม

7) จัดเตรียมของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น น้ำดื่ม ไฟฉาย ยารักษาโรคพื้นฐาน ยาโรคประจำตัว และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตอื่น ๆ

8) อาหารกล่องที่ได้รับแจก ควรรับประทานทันทีอย่าเก็บไว้ เพราะจะทำให้อาหารบูด เน่าเสีย อาหารเป็นพิษได้ หากมีเหลือควรสิ้งใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุง

9) ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือหลังออกจากห้องน้ำ ห้องส้วมทุกครั้ง

10) ไม่ควรใช้มือขยี้ตาอาจทำให้ตาติดเชื้อและอาจเสี่ยงเป็นโรคตาแดงได้

11) ในกรณีที่มีบาดแผล ไม่ควรเดินลุยย่ำน้ำ ย่ำโคลน ควรใส่รองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกยาวป้องกันเท้าและสวมทับด้วยถุงเท้าและรองเท้า แต่หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ย่ำน้ำเสร็จแล้วควรทำความสะอาดเท้าและแผลแล้วเช็ดให้แห้ง

12) กรณีมีสัตว์ป่วยตาย ให้ใส่ถุงพลาสติกแล้วผูกให้มิดชิด หรือนำไปฝัง เผา ไม่ควรนำทิ้งลงน้ำอาจทำให้แพร่เชื้อในกระแสน้ำเกิดโรคระบาดได้

13) ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงมาอยู่ใกล้ชิดเพราะอาจติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้

14) สำรวจภาชนะที่มีน้ำขังให้คว่ำไว้ เพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายพาหนะโรคไข้เลือดออก

15) ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกเสมอ และดื่มน้ำสะอาด

16) ทิ้งขยะและเศษอาหารในถุงพลาสติก มัดปากถุงให้มิดชิดห้ามทิ้งลงน้ำ และสุดท้าย

17) ให้ระมัดระวังสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง กัด ต่อย พร้อมทั้งหมั่นสำรวจตรวจตราบ้าน กองผ้า ถุงใส่ของ เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษหลบเข้าไปอยู่อาศัยใกล้ตัว

 

หากประสบเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ สามารถโทรแจ้งที่เบอร์ 1422 หรือ 1669 และให้เคร่งครัดปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือตามประกาศของทางราชการ

 

ขอบคุณข้อมูล : http://dpc9.ddc.moph.go.th/

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook