เบื้องหลังความสำเร็จของ "ปลา อัจฉรา" กว่าจะมาเป็น "ปลา iberry"

เบื้องหลังความสำเร็จของ "ปลา อัจฉรา" กว่าจะมาเป็น "ปลา iberry"

เบื้องหลังความสำเร็จของ "ปลา อัจฉรา" กว่าจะมาเป็น "ปลา iberry"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากวันที่แบรนด์ไอศกรีมผลไม้อย่าง iberry เปิดตัวในคูหาเล็กๆ เพียงห้องเดียวในซอยสุขุมวิท 24 ที่คุณปลา-อัจฉรา บุรารักษ์ ปลุกปั้นมากับมือ จนนำพาให้วันนี้จากธุรกิจไอศกรีมแตกไลน์เป็นร้านอาหารและขยายสาขารวมกว่า 40 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียงสามล้านบาท มาวันนี้เรียกได้ว่าเธอเป็นไมดาสแห่งวงการอาหารที่ไม่ว่าจะจับทำอะไรก็ประสบความสำเร็จไปเสียหมดเลยก็ว่าได้ และวันนี้เธอพร้อมจะเผยเคล็ดลับความสำเร็จให้กับเรา

“ตอนนี้เรามีหลายแบรนด์มากค่ะ เรียกรวมๆ ว่า iberry Group ตั้งแต่ไอศกรีม iberry แล้วแตกไลน์เป็น ร้านอาหารกับข้าวกับปลา ซึ่งสองร้านนี้จะเปิดคู่กันเสมอ แล้วก็ร้านแนว street food and noodle ชื่อรสนิยมกับโรงสี เน้นอาหาร ประเภท Authentic Thai seafood แล้ว ก็คาเฟ่ปลาที่สยามเซ็นเตอร์ ขายอาหารไทยและฝรั่งแบบจานเดียว เช่น ข้าวไข่ข้นกับหมูผัดกะปิ พาสต้า เราก็ทำเส้นเอง มีอาหารเช้าแล้วก็บรันช์ ก็จะวัยรุ่นกว่ากับข้าวกับปลาเพราะกับข้าวกับปลาจะเป็นแบบสั่งเป็นกับข้าวมากินด้วยกัน ตอนนี้ปลาก็เพิ่งลอนช์แบรนด์ใหม่เป็นอาหารอีสานชื่อ Crying Tiger ด้วยค่ะ”

นอกจากนี้เธอยังร่วมทุนกับเพื่อนทำร้านก๋วยเตี๋ยวเรือชื่อทองสมิทธิ์ ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี

เรียกได้ว่าโปรเจ็กต์แน่นตลอดเวลา บางคนอาจไม่เชื่อว่าลูกสาวข้าราชการ อดีตนิเทศศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตเลขานุการและแอร์โฮสเตส จะมาโลดแล่นบนเส้นทางธุรกิจและประสบความสำเร็จแบบถล่มทลายขนาดนี้

“ตอนที่ลาออกจากสายการบิน ไม่คิดหนักเลยค่ะ เพราะไม่ชอบเลย ทำงานอยู่หกเดือนแต่รู้สึกเหมือนอยู่นานมากแล้ว จากนั้นก็เลยมาทำไอศกรีม ใช้เงินทุนประมาณ 2 - 3 ล้านบาท ซึ่งสมัยนั้นก็เป็นจำนวนเงินที่เยอะนะคะ แต่ตอนนั้นปลาเพิ่ง 22 - 23 เอง ยังเด็กมาก ไม่ค่อยรู้เรื่องธุรกิจเยอะ พอเราไม่รู้อะไรเยอะก็เลยไม่ค่อยกลัว คิดว่าถ้าเกิดเจ๊งขึ้นมาก็ไม่เป็นไรเพราะเรายังสามารถทำงานอย่างอื่นได้อีก ถ้าสมมุติปลาเริ่มต้นธุรกิจตอนอายุมากแล้ว เราอาจจะรู้สึกว่าอันนี้เสี่ยงนะ แล้วไม่กล้าทำอะไรเลย

“ทีนี้บังเอิญว่าไอศกรีมที่เราทำเป็นผลไม้ ทำให้เราโดดเด่นขึ้นมา แต่กว่าจะได้ขนาดนี้อุปสรรคก็เยอะนะคะ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดียอย่าง เฟสบุ๊ก ไอจี เหมือนทุกวันนี้ เราก็ต้องให้สื่อช่วยเขียนแล้วก็ปากต่อปาก ซึ่งต้องใช้เวลา ก็ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ”

กุญซือ

“ไม่มีเลยค่ะ แม้แต่ซินแสหรือหมอดู วันเปิดร้านก็ไม่เคยดูเลยดูเอง กำหนดเอง ใช้ฤกษ์สะดวก เพราะค่าเช่าพื้นที่แพงมาก ถ้าซินแสบอกว่าต้องรออีกสองอาทิตย์ถึงค่อยเปิดคงไม่ได้เหมือนกัน บางทีปลาก็ให้เปิดวันศุกร์เพื่อจะได้ขายเสาร์อาทิตย์”

งานกับชีวิตส่วนตัว

“ปลาไม่ได้แยกระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัวหรอกค่ะ แต่ปลารวมทุกอย่างเข้าด้วยกันเป็นตัวเรา ไม่ว่าจะไปไหน เมืองนอกหรือเมืองไทย ปลาได้งานกลับมาตลอดเวลาเราได้ไปเห็น ได้ไอเดียใหม่ๆ เพราะการทำงานของปลาเราต้องเห็นเยอะๆ เพื่อจะตกผลึกกลายเป็นแรงบันดาลใจในการมาเล่าใหม่ ให้มันเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ก็เลยทำได้ไม่เบื่อ ไม่หยุด เพราะกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของเราเลย และนำมาต่อยอดในธุรกิจเราได้เสมอ”

สำหรับสูตรอาหารที่เป็นความลับทางธุรกิจ เธอใช้ลูกน้องที่ไว้วางใจอยู่กันมาเป็นสิบๆ ปีเป็นคนปรุง และส่งจากครัวกลางไปตามสาขาต่างๆ ส่วนเรื่องแกงกะทิ เธอเน้นย้ำให้ใช้กะทิคั้นเอง เครื่องแกงก็ทำเอง และใช้น้ำตาลปี๊ปอย่างดี กะปิอย่างดี เพราะเธอถือว่าความอร่อยต้องปรุงจากวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพเท่านั้น

“เราสั่งถึงต้นตอเลยว่าเขาต้องทำให้เราอย่างดี”

เธอยังบอกเราอีกว่า ทุกวันนี้เวลาครึ้มอกครึ้มใจก็จะไปเดินตลาดสด ดูว่าเขามีอะไรขายบ้าง

“ปลาชอบเดินตลาดสด บางทีก็ไปซื้อของสดมาทำอาหาร เพราะเป็นคนชอบทำกับข้าว แล้วเมื่อก่อนก็เคยทำรายการทีวีเกี่ยวกับอาหาร เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ว่าอะไรอร่อย ทำยังไงถึงอร่อยหรืออยากฝึกทำเครปให้อร่อยก็ทำมันทุกวันก็มี”

ความสำเร็จทุกวันนี้มาจากอะไร ?

“ก็ต้องเป็นดวงด้วยแหละค่ะ เพราะมีคนเก่งกว่าปลาเยอะแยะ แต่เป็นเพราะหนึ่งเราโชคดี สองเราพอจะมีรสมือในการทำอาหาร แล้วปลาคิดว่าที่เราประสบความสำเร็จได้เพราะนิสัยใจคอด้วยแหละ ไม่ใช่ว่าเก่งอย่างเดียว แต่เราต้องมีพันธมิตรในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นแลนด์ลอร์ด ทีมงาน ลูกน้องเรา คนรอบข้าง ลูกน้องไม่ใช่แค่ลูกน้อง แต่เป็นเหมือนครอบครัวเรา ทุกอย่างไม่ใช่ว่าใช้เงินหว่านอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของใจล้วนๆ ปลาว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน เวลาเราต้องการความช่วยเหลือทุกคนพร้อมที่จะช่วยเรา ไม่ทิ้งให้เราโดดเดี่ยว

“นอกจากนี้ปลาว่าถ้าเราทำสิ่งที่เรารัก เราก็จะทำได้ตลอดเวลาโดยไม่คิดว่าเป็นงาน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรู้ตัวด้วยนะว่าเราด้อยเรื่องอะไร เพราะคนเราไม่ได้เก่งไปหมดทุกอย่าง เราควรต้องหาตัวช่วย เช่น ไปมีหุ้นในธุรกิจที่คนอื่นเก่งแต่เราไม่เก่ง

หรือทีมงานที่เก่ง เพราะบางทีการทำกับข้าวเก่งไม่ได้หมายความว่าเธอจะรวยเสมอ มันมีปัจจัยหลายอย่างรวมกัน แต่บางทีปลาก็ว่าตัวเองติสต์เกิน (ยิ้ม) มากไปนิดหนึ่ง ก็จะมีสามีนี่แหละที่เขาไม่ค่อยติสต์มีเหตุผลหลักการมาคอยเบรก ส่วนปลาก็ใช้ความรู้สึกที่อธิบายไม่ได้มาใช้”

หากช่วงนี้เป็นช่วงขาขึ้น แล้วขาลงของธุรกิจ เธอเตรียมตัวรับมือกับสิ่งนี้ไว้อย่างไรบ้าง?

“ปลาว่าคนเรามันก็มีขึ้นมีลง แบรนด์ก็เป็นอย่างนี้แหละค่ะ แต่การรักษาอิมเมจ ถ้ารักษาได้ดี ปลาว่าชื่อเสียงมันอยู่ได้แต่ธุรกิจอาหารทุกวันนี้ที่แข่งขันสูง เราโอเคไม่ว่ากันใครจะมาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ก็ได้ แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการรักษามาตรฐาน ใครทำได้คือผู้ชนะ”

ติดตามเรื่องราวของเส้นทางสู่ความสำเร็จที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ของ The Achievers ทั้ง 10 ท่าน ได้ใน  www.HellomagazineThailand.com

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook