ชีวิตออกแบบได้ แม่สาย ประภาสะวัต

ชีวิตออกแบบได้ แม่สาย ประภาสะวัต

ชีวิตออกแบบได้ แม่สาย ประภาสะวัต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนบางคนถึงเกิดมาพร้อมทุกอย่าง ในขณะที่บางคนไม่มีอะไรติดตัวมาสักชิ้น แม้ต้นทุนในชีวิตแต่ละคนจะไม่เท่ากัน แต่คุณเชื่อไหมว่าเราสามารถออกแบบชีวิตเพื่อเพิ่มต้นทุนให้ตัวเองได้ เหมือนกับเขาคนนี้ ‘โจ' แม่สาย ประภาสะวัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม เอส แฟคทอรี่ จำกัด ผู้พลิกชีวิตตัวเองจากศูนย์ไปสู่นักธุรกิจแก๊สติดรถยนต์มูลค่าหลักพันล้าน มากกว่านั้นเขายังเป็นคนหนุ่มที่ประสบความสำเร็จในชีวิตด้วยวัยเพียง 26 ปี เท่านั้น!


ชีวิตในวัยเด็กของคุณเป็นอย่างไร

"ผมเป็นคนจังหวัดลพบุรี คุณพ่อเป็นทหาร ใช้ชีวิตแบบปกติเหมือนเด็กคนอื่นๆ แต่ต้องพึ่งพาตัวเองและค่อนข้างประหยัดมากเพราะที่บ้านไม่ได้มีฐานะอะไรมากมาย"

ความฝันในวัยเด็กของคุณล่ะ

"อืม...(เขานิ่งคิด) สมัย ม.ต้นผมอยากเป็นนักบิน ดูหนังเกี่ยวกับนักบินขับเครื่องบินรบบ่อยมาก รู้สึกเป็นนักบินมันดูเท่ อาจจะด้วยเครื่องแบบ พอขึ้น ม.ปลายความฝันเริ่มเปลี่ยน ผมเริ่มหาคำตอบกับชีวิตตัวเองว่าอยากจะเป็นอะไรกันแน่ จนวันหนึ่งผมได้อ่านหนังสือ ‘พ่อรวยสอนลูก' ก็ได้คำตอบเลยว่าเฮ้ย! เราจะเป็นนักธุรกิจนะ มันน่าจะเป็นคำตอบของทุกอย่างเพราะได้ทำอะไรหลากหลายและได้ทำในสิ่งที่เราชอบ"

เคยเห็นบทความหนึ่งเขาโปรยถึงคุณว่า ‘ผมอยากรวย' ตอนนั้นรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ หรือ

"ใช่ครับ เพราะช่วงหลังๆ คุณพ่อออกจากราชการ ฐานะก็แย่นะหรือเรียกง่ายๆ คือจนนั่นแหละ เมื่อก่อนผมยังไม่ได้รู้สึกถึงความรวยความจนมาก แต่พอเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ความคิดก็เปลี่ยนไป เหมือนความสามารถต่างๆ ที่เรามีมันไม่มีอะไรที่ proof ได้ เมื่อโตไปเป็นผู้ใหญ่แล้วคุณมีเงินเยอะเขาก็นับว่าคุณเก่ง มีเงินน้อยเขาก็นับว่าคุณไม่เก่ง ตอนนั้นผมคิดแบบนั้นนะว่าคนเราส่วนใหญ่ตีค่ากันด้วยเงินที่มีอยู่ในกระเป๋า ผมก็เริ่มคิดว่าตัวเราจะมาเปลี่ยนแปลงอะไรสังคมได้ ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนได้ก็คงต้องเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับมันให้ได้"

จุดนี้ทำให้คุณเบนเข็มมาเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อต่อยอดความฝันของตัวเอง

"ใช่ครับ ผมยังมีความคิดเดิมอยู่ว่า ถ้าอยากให้สังคมยอมรับก็ทำให้เรามีเหมือนคนอื่น ไอ้จะไปเรียกร้องฟูมฟายคงไม่เกิดประโยชน์ ผมไม่ได้มองว่าสังคมเลวร้ายนะครับ แต่ผมมองว่าในเมื่อสังคมเป็น แบบนี้ เราเปลี่ยนสังคมไม่ได้ก็ควรเปลี่ยนที่ตัวเรา หลังจากเรียนจบแล้วผมจึงไม่สมัครงานเลย"

มีเด็กจบใหม่ไม่เยอะที่คิดแบบนี้ เพราะส่วนใหญ่พอใกล้จบก็ เริ่มแพลนแล้วว่าอยากไปสมัครงานที่นี่ ที่นั่น คุณไม่มีความรู้สึกนั้นเลยหรือ

"ผมเห็นเพื่อนขับ S-Class ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ บวกกับตอนเด็กๆ ผมฝันว่าโตขึ้นอยากมีปอร์เช่สีขาวสักคัน (ยิ้ม) แล้วผมก็นั่งมองว่าถ้าทำงานประจำเมื่อไรจะมีขับล่ะ มันเป็นทางแยกที่ว่าถ้าเราทำงานประจำ ด้วยชีวิตในตอนนั้นเราไม่สามารถไปถึงความฝันได้เลย ถ้าอย่างนั้นก็เหลืออยู่ทางเดียวคือทำธุรกิจนี่แหละ น่าจะทำให้ไปถึงความฝันได้"

นอกจากไม่คิดจะยื่นใบสมัครที่ไหนแล้ว แน่นอนว่าเขาคนนี้ มีความคิดไม่เหมือนคนอื่น ตรงที่เริ่มตระเวนไปฝึกงานตามที่ต่างๆ อาทิ โรงพิมพ์ ธุรกิจขายตรง ประกันภัย และหนึ่งในนั้นคือธุรกิจการส่งออกระหว่างประเทศ เพื่อค้นหาสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง แต่จนแล้วจนรอดเขาเลือกที่จะเดินสายฝึกงานตามอู่ซ่อมรถยนต์เพื่อรุกคืบธุรกิจติดแก๊สรถยนต์ของตัวเอง

"ผมอยู่หอพักใกล้ๆ มหาวิทยาลัย โดยอาศัยห้องของพ่อเพื่อนอยู่ วันหนึ่งผมเดินลงมาใต้ตึกและเจอลุงคนหนึ่งแกทำอู่ซ่อมรถ ผมสนิทกับแกมากเพราะผมชอบรถอยู่แล้ว ระหว่างที่เรียนก็ไปดูแกซ่อมรถบ่อยๆ วันนั้นลุงบอกผมว่าแกทำงานตัวใหม่แล้วคือติดแก๊สรถยนต์ ค่อนข้างเวิร์กและดี ผมไปนั่งดูก็เห็นว่ามีคนมาติดเยอะจริงๆ"

ตอนนั้นคุณเริ่มมองเห็นอะไร

"ผมมองเห็นกำไรคันละ 5,000 (ยิ้ม) มันเวิร์กนะ เดือนหนึ่งติดสัก 10 คันก็ 50,000 หักค่าใช้จ่ายไปแล้วเหลือสัก 25,000 ต่อเดือน ผมมองว่ามันเป็นตัวเลขที่เป็นไปได้นะ ดีกว่าทำงานประจำแน่ๆ"

คุณเริ่มต้นธุรกิจอย่างไร

"เริ่มแรกผมเรียนจากลุงประมาณ 1 อาทิตย์ หลังจากนั้นก็ไปหาหนังสือมาอ่าน พอเริ่มรู้ก็ไปดูที่ร้านว่ารถแต่ละรุ่นติดตั้งยังไง แตกต่างกันยังไงบ้าง ผมมองว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่ก็ยังไม่เป็นอีก เลยลองไปคุยกับร้านขายอุปกรณ์เขาก็ไม่ค่อยอยากตอบ เลยตระเวนหาที่ใหม่ไปเรื่อยๆ จนไปเจอที่หนึ่งอยู่แถวสาทร เห็นท่าทางเฮียเจ้าของเป็นคนใจดี ผมเลยบอกว่าขอฝึกงานกับเฮียได้ไหมเพราะอยากเปิดอู่เอง และจะ ซื้ออุปกรณ์กับเฮียนี่แหละ แกก็ตกลง ฝึกอยู่ประมาณอาทิตย์เดียวผมก็เป็นแล้ว"

เงินลงทุนของคุณล่ะ

"ผมเป็นคนที่ประหยัดตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ก็พอมีเงินเก็บอยู่ประมาณ 70,000 หลังจากนั้นก็เริ่มซื้ออุปกรณ์จากเฮียส่วนหนึ่ง และหาซื้อเครื่อง-มือที่คลองถม หมดไปประมาณ 15,000-20,000 ก็ได้ครบหมดแล้ว รวมค่าอุปกรณ์อีกประมาณ 30,000 เท่ากับว่าไม่เกิน 50,000 ที่จ่ายไป หลังจากนั้นก็นั่งคิดว่าจะเปิดร้านที่ไหนดี เพราะในกรุงเทพฯ ค่าเช่าแพงเหลือเกิน คู่แข่งก็เยอะ ผมเลยเลี่ยงไปสนามนอกที่อยุธยา ผมไปดูปั๊บก็ชอบที่ที่หนึ่งคือตลาดนัดเปิดท้ายขายของปกติ แต่เป็นตลาดนัดของจังหวัดที่ใหญ่มาก และอีกฝั่งถนนเป็นเธคที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด เป็นเหมือนศูนย์รวมของคน แถมข้างๆ ร้านก็มีร้านประดับยนต์ด้วย เลยตกลง ว่าเลือกที่นี่ ผมเช่าล็อกหนึ่งขนาด 3X3 เมตร ด้วยราคาแค่ 3,000 บาท"

ด้วยความที่มีคู่แข่งน้อย และมีพื้นฐานของการอดออมเป็นทุนเดิม 2-3 เดือนแรก เขาจึงมีเงินเหลือเก็บจากการทำธุรกิจนี้ในหลักแสน ประกอบกับเป็นคนใฝ่รู้จึงเริ่มขยายธุรกิจด้วยการขายส่งอุปกรณ์ในจังหวัด ควบคู่ไปกับการสอนงานแบบไม่หวงวิชาความรู้ให้กับผู้สนใจธุรกิจเดียวกัน โดยไม่มองว่าอีกฝ่ายคือคู่แข่ง และผลพลอยได้คือได้เพื่อน ได้เครือข่าย หรืออาจจะสนใจซื้ออุปกรณ์ของเขา

"เดือนแรกๆ ผมมีออร์เดอร์อยู่ 17 คัน รายได้ก็ถือว่าพอเพียง แต่ผมมองว่าตอนนั้นคนอยากทำธุรกิจนี้กันเยอะ เราห้ามใครเขาทำไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะปล่อยให้เขามาเป็นคู่แข่งก็เปลี่ยน มาเป็นพันธมิตรดีกว่า เพราะถ้าเราสอนเขาอย่างน้อยเขาก็ยังต้องซื้ออุปกรณ์ของเรา คนที่ผมสอนตอนนั้น ตอนนี้ก็ยังเป็นลูกค้ารายแรกของผมอยู่จนทุกวันนี้ (ยิ้ม)"

ที่คุณบอกว่ามีออร์เดอร์รถ 17 คันต่อเดือน เป็นอย่างนี้อยู่นานไหม

"ไม่ครับ เดือนต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 20 กว่าคันแล้ว ผมยึดถือมาตลอดว่าในเมื่อเขาไว้วางใจเรา ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ผมทำแบบรู้จริงและมีช่างที่ชำนาญด้วย ถ้ารถรุ่นไหนไม่ชำนาญผมไม่รับทำเลยนะ สมมติเขาขับเบนซ์ วอลโว่ หรือออดี้มา ถ้าผมไม่ถนัดผมจะไม่เสี่ยงรับเด็ดขาด งานที่ออกมาเลยมีแต่งานคุณภาพดี ทำให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น เดือนหนึ่งตก 50-100 คัน เฉลี่ยวันหนึ่งผมติดเกือบ 10 คัน ตั้งแต่ 6 โมงเช้า มีคนมารอคิวแล้ว กว่าจะเสร็จก็ตี 2 (ยิ้ม)"

คุณมีเทคนิคอย่างไร เพราะที่อื่นๆ ที่รับติดตั้งเหมือนกันแต่ทำไม่ได้เท่านี้

"จริงๆ คนอื่นเขาติดกันวันละคันนะครับ แต่ผมทำ 10 คัน (ยิ้ม)
เพราะผมวางระบบด้วยการบันทึก สมมติผมติดโตโยต้า วีออส ผมจะจดเลยว่าใช้สายไฟยาวกี่เซ็นต์ ท่อแป๊บยาวกี่เมตร เจาะรูแบบไหน หม้อต้มขนาดเท่าไร อุปกรณ์ของรถแต่ละคันต้องใช้อะไรบ้าง แล้วผมจะถ่ายรูปไว้ว่าอยู่ตำแหน่งไหน พอมียี่ห้อเดียวกันเข้ามาผมก็เปิดดูเลย วางแผนตามเร็กคอร์ดที่เรามีแต่ละรุ่นเอาไว้ สักพักก็จะวนกลับมารุ่นเดิมก็เริ่มจำได้ และประหยัดเวลาได้เยอะเพราะทำรอบเดียวจบ ไม่ต้องมีใครมานั่งแก้"

ด้วยความที่เป็นคนชอบหาความรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ กิจการของเขาขยายขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นช่องทางธุรกิจที่กว้างขึ้น นั่นคือ การนำเข้าอุปกรณ์ติดตั้งแก๊สรถยนต์จากต่างประเทศ

"ต้องย้อนกลับไปตอนที่ผมยังเรียนไม่จบนะครับ ผมอยากทำธุรกิจกับต่างประเทศอยู่แล้ว เพราะผมเห็นบางบ้านส่งออกร่ม ส่งออกเสื้อผ้าเด็กง่ายๆ ก็รวย จึงเริ่มมีความคิดว่าสงสัยทำธุรกิจกับฝรั่งคงจะรวย (ยิ้ม) เลยเริ่มไปเรียนที่กรมส่งเสริมการส่งออกบ้าง โรงเรียนสอนชิปปิ้งบ้าง ฯลฯ เผื่อว่าวันหนึ่งจะได้ใช้ พอวันนี้มีทุกอย่างพร้อม ผมก็เริ่มคุยกับลูกค้าและคนที่เราซื้อของเขาอยู่ว่า ถ้าผมนำเข้ามาในราคาที่ถูกลงกว่าที่เป็นอยู่จะช่วยกันซื้อไหม เขาก็โอเค ผมก็เลยเริ่มนำเข้ามา เริ่มแรกก็นำเข้า ติดแก๊สไปด้วย และเริ่มขายส่งมากขึ้น เวิร์กอยู่ประมาณ 5-6 เดือน แต่สักพักก็มีปัญหาเกิดขึ้นคือไปๆ มาๆ เขาก็ไปเซ็นสัญญาซื้อขายผูกขาดกัน ผมเลยนำเข้าไม่ได้ ซึ่งสมัยนั้นเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีสัญญาอะไรผูกขาดแบบนี้"

คุณแก้ปัญหาอย่างไร

"ผมรู้อยู่แล้วว่าแก๊สไม่ได้มียี่ห้อเดียวเลยมองหายี่ห้อใหม่ ตอนนั้นคิดว่าไหนๆ จะเปลี่ยนแล้วไปดูโรงงานของจริงเลยดีกว่าว่ายี่ห้อไหนมันเวิร์ก ตอนนั้นมี 2 ประเทศหลักๆ ที่ขายในบ้านเราคือตุรกีกับอิตาลี ผมเลยอีเมลไปคุยกับโรงงานว่าเดี๋ยวจะไปหาเขา จากนั้นก็แพ็กกระเป๋าบินเดี่ยวไปเลย และตระเวนดูทั้งหมด 11 โรงงานในตุรกี ซึ่งแต่ละที่อยู่ไกลกันมาก ก่อนจะไปอิตาลีต่อ สุดท้ายผมถูกใจอยู่ 3 ที่ เลยหิ้วตัวอย่างกลับมาเทสต์ จำได้ว่าเสียค่าโหลดไปประมาณ 70,000 กว่าบาท (ยิ้ม)"

การเจรจากับที่ไหนทำให้คุณต้องปาดเหงื่อ

"ที่อิตาลีครับ เพราะการที่จะเข้าไปโรงงานเพื่อขอเป็นตัวแทน นำเข้าสินค้าจากอิตาลีนี่คุยยากมาก เหมือนต้องบิดดิ้งกัน ต้องทำแผนการตลาดเข้าไปว่ามีแผนยังไง จะขายยังไง เขาจะมองว่าแผนใครเป็นไปได้มากที่สุดและเขาจะได้อะไร ซึ่งจุดนั้นทุกคนมีเงินเหมือนกันหมด มันเลยต้องวัดกันที่แผนการตลาด สุดท้ายผมก็ได้เป็นตัวแทนนำเข้า เพราะเขาเห็นความเป็นไปได้เลยเลือกที่จะคบกับเรา แต่ทุกครั้ง ที่ไปเจรจาผมก็ใช้วิธีนี้หมด แต่ไปๆ มาๆ มันก็เกิดปัญหาอีกรอบ เพราะเป็นสินค้าใหม่คนใช้ไม่เป็น เหมือนเขาคุ้นกับของเดิมมากกว่า ผมเลยเปิดสอนด้วยการจัดสัมมนาและเขียนคู่มือแปลโปรแกรมเป็นภาษาไทยเลย ตลาดก็เริ่มตอบรับมากขึ้น เรียกว่าบูมเลยนะครับช่วงนั้น (ยิ้ม)"

แต่เพียงแค่ปีเศษหุ้นส่วนที่ทำธุรกิจด้วยกันเกิดแยกตัวไปนำเข้าเอง ประกอบกับเกิดพิษเศรษฐกิจในปี 2551 ผลก็คือของค้างสต็อก ทำให้เขาต้องแบกรับภาระอุปกรณ์ที่นำเข้ามาเป็นเงินหลายสิบล้าน แต่เขาก็พลิกวิกฤตมาเป็นโอกาสด้วยการเลือกลงทุนกับธุรกิจตัวใหม่อีกครั้ง

"ตอนนั้นกลายเป็นว่าผมขาดทุนเดือนละล้าน เพราะขายไม่ได้ ธุรกิจก็เงียบลงด้วย มีแต่รายจ่าย แต่จะทำไงได้ก็ต้องยอมขาดทุนเดือนละล้านอยู่ 8 เดือนเต็ม แต่ผมก็ไม่ท้อนะ ผมบอกพนักงานทุกคนว่าจะสู้ต่อไป ระหว่างนั้นก็ลองมองหาอย่างอื่นทำจนมาเจอธุรกิจตัวใหม่คือ นำเข้าจอ LED เพราะผมเองชอบทำอะไรใหม่ๆ และมองว่ามันใหม่สำหรับบ้านเราเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ที่สำคัญมีคู่แข่งน้อย

ในขณะเดียวกันผมก็ยังทำธุรกิจแก๊สควบคู่กันไป พอเดือนที่ 9 ก็เริ่มดีขึ้นจนขยายเครือข่ายออกไปเรื่อยๆ อาศัยที่ยังอยู่ได้ในธุรกิจแก๊สเพราะ 1. ผมสอนคนเยอะ 2. ผมคิดว่าวันเวลามันพิสูจน์ครับ เพราะผมไม่เคยโกงใคร คนที่เคยใส่ร้ายผมต่างๆ นานาก็เลิกราไปเอง เหมือนที่เขาพูดว่าระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ด้วยเหตุนี้วันหนึ่งคนในวงการจึงกลับมาเชื่อมั่นผมอีกครั้ง"

จุดแข็งของธุรกิจคุณคืออะไร

"1. ผมซื่อตรง 2. รักษาคุณภาพ 3. จริงใจ"

คุณเป็นนายกสมาคมผู้ติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซสำหรับยานยนต์ ที่อายุน้อยที่สุดด้วย

"ครับ (ยิ้ม) การเป็นนายกสมาคมต้องเป็นศูนย์รวมข้อมูลและ เป็นตัวเชื่อมเครือข่ายผู้ประกอบการแก๊สด้วยกัน สมมติรถคุณไปติด ที่กรุงเทพฯ แต่ไปเสียที่เชียงใหม่ ก็สามารถโทรหาสมาคมว่าเครือข่ายเราอยู่ตรงไหน ไปซ่อมที่ไหนได้บ้าง"

เหมือนเป็น GPS อะไรทำนองนั้น

"ใช่ครับ (ยิ้ม) เหมือนช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ที่ติดตั้ง กับเรา และมีหน้าที่เทรนนิ่ง บางอู่บางเจ้ารับช่างใหม่ เจ้าของอู่คงไม่มีเวลาสอนหรอก ก็ส่งมาเรียนกับสมาคม สมาคมก็พัฒนาบุคลากรกับธุรกิจแก๊สขึ้น ใครอยากทำธุรกิจแก๊สก็มาปรึกษาสมาคม ผมก็ให้คำแนะนำต่างๆ เรื่องกฎหมาย วิธีการฝึกอบรม ผมมีเวิร์กช็อปให้ครบวงจร"

สรุปธุรกิจตอนนี้ของคุณมีอะไรบ้าง

"ทุกวันนี้เรียกว่าเป็นธุรกิจแก๊สที่ครบวงจรที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากผมเป็นผู้ขายรายเดียวที่เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำคือผลิตถังเป็นโรงงาน และนำเข้าวาล์ว หัวฉีด หม้อต้ม อุปกรณ์ซอฟต์แวร์ มีระบบขายส่งขายปลีก คุณซื้อถังใบเดียวผมก็มีขาย ไม่มีโรงงานที่ไหนทำแน่ และผมมีพันธมิตรอยู่ 500 เจ้าทั่วประเทศ ธุรกิจจอ LED ผมก็ทำอยู่นะ งานที่ผมทำให้ก็มีเวิร์คพอยท์ JSL แกรมมี่ อาร์เอส นางสาวไทย มิสทีนไทยแลนด์ เอเอฟ ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ โพลีพลัส และผลงานของรัฐบาลทั้งหมด จนมาช่วงหลังๆ ผมเปิดโรงงานผลิตเองในจีนเลย คนข้างนอกจะมองว่าธุรกิจแก๊สผมโตอย่างเดียว แต่จริงๆ ธุรกิจจอ LED ผมก็โตเยอะเหมือนกัน แต่มันโตแบบเงียบๆ รายได้นี่สูสีเลยนะ (ยิ้ม)"

สไตล์การทำงานหรือมอตโตของคุณคืออะไร

"คติในใจที่ผมใช้มาตลอดชีวิตคือ ‘จงรีบเร่งอย่างช้าๆ' เพราะการที่ผมจะทำอะไรสักอย่างผมจะคิดอย่างรอบคอบ มองทุกอย่างรอบด้านทั้งผลดีผลเสีย รีบเร่งหมายความว่าผมอยากไปถึง แต่ถึงจะรีบแค่ไหนก็ต้องมีคำว่าช้าๆ หมายความว่าวางแผนให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจทำ"

สิ่งที่พาคุณมาได้ไกลจนถึงทุกวันนี้คืออะไร

"มันมีเสาหลักที่ค้ำยันชีวิตผมคือ การที่เราทำประโยชน์ให้กับ คนอื่นได้ ผมไม่ได้คิดว่าธุรกิจผมจะทำเงินได้เท่าไร แต่ผมคิดว่าผมกำลังให้บริการกับคนที่ต้องการจะติดแก๊ส ทำให้เขาพึงพอใจ ประหยัดเงินในกระเป๋า และไม่มีปัญหาในการใช้ พอผมทำให้เขาได้ตรงนั้นสิ่งที่เขาให้ผมตอบกลับมาก็คือเงิน ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผมคิดถึง เพราะถ้าผมไปเริ่มคิดว่าผมจะเอาเงินเขาก่อน ผมก็คงไม่มีกิจการเติบโตมาถึงทุกวันนี้"

ถ้าวันนี้มีคนหนุ่มวัยเดียวกับคุณมาถามว่า ทำอย่างไรเขาถึงจะประสบความสำเร็จ คุณจะให้ไอเดียเขาอย่างไร

"คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้คิดแต่อยากจะรวย แต่ไม่หาต้นทุนให้ชีวิต ตัวเอง ผมหมายถึงเขามัวแต่นั่งรอให้ทุกอย่างพร้อมถึงจะเริ่มทำ สมมติเราจะประกอบรถยนต์สักคัน มีเครื่อง ตัวถัง ล้อ ช่วงล่าง แต่ วันนี้เราไม่มีอะไรเลย แล้วเราจะเริ่มทำได้ยังไง ก็ต้องเริ่มต้นที่ทำเครื่อง และสะสมแต้มไปทีละสเต็ป แล้วค่อยๆ ขยับขยายไปเรื่อยๆ อย่ามองข้ามสเต็ปไปไกล เพราะธุรกิจก็เหมือนการเล่นเกม วันหนึ่งคุณเพิ่งเริ่มเล่นเกมแต่จะไปสู้กับบอสตัวใหญ่คุณก็ต้องเก็บ level ก่อน ไม่ใช่ว่า เปิดเกมมาก็อยากไปเจอบอสใหญ่เลย ผมรับรองว่าคุณแพ้ตั้งแต่ คิดแล้ว เพราะคุณไม่ชำนาญในการบังคับ กระโดดไม่คล่อง หลบไม่ได้ ปล่อยอาวุธไม่เป็น ทักษะทุกอย่างมันอยู่ที่ประสบการณ์ส่วนตัวที่คุณได้มาตั้งแต่เก็บ level ก็เหมือนธุรกิจในชีวิตคนที่ต้องดำเนินไปแบบนั้น เดี๋ยวนี้ที่พังกันเยอะเพราะไม่เคยเก็บแต้มที่เป็นรากแก้ว

ที่สำคัญถ้าคุณอยากรวย สิ่งเดียวที่คุณต้องทำคือทำประโยชน์ให้กับคนอื่นมากๆ เหมือนคุณยิ่งให้มากก็จะได้รับมาก เช่น ผมติดแก๊สให้คนได้ 10,000 คน สิ่งที่ผมให้เขาคือสินค้าคุณภาพดี เมื่อสินค้าดีแล้วเขาก็ยิ่งอยากเข้ามาหาผม แต่ถ้าคุณเริ่มทางลัดด้วยการคดโกงแบบเล็กๆ น้อยๆ คุณจะโตยาก เพราะพูดไปคนก็ไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรต้องมีคือเครดิต พูดคำไหนคำนั้น อย่าไปคิดว่าอยากจะรวยท่าเดียว แต่คิดแค่ว่าคุณทำประโยชน์อะไรให้กับคนอื่นได้บ้าง สุดท้ายสิ่งดีๆ ก็จะเข้ามาหาคุณเอง"

เช่นเดียวกับผู้ชายที่ชื่อ ‘แม่สาย ประภาสะวัต' ที่ค้นพบช่องทางนี้ และเปิดประตูนำพาตัวเองไปสู่ทางเดินนั้นได้อย่างน่าภาคภูมิ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook