เรื่องเล่าที่สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจปลูกฝังความซื่อสัตย์ให้แก่เด็กญี่ปุ่น
หากพูดถึงภาพลักษณ์ของคนญี่ปุ่นแล้ว คนส่วนใหญ่นึกไปถึงความซื่อสัตย์ ซึ่งมักมีคำกล่าวว่าหากของหายในญี่ปุ่นมักจะได้กลับคืน มาดูวิธีการปลูกฝังให้คนญี่ปุ่นมีความซื่อสัตย์ผ่านเรื่องเล่าเหล่านี้กันนะคะ
เรื่องที่ 1 สวนสาธารณะกับลูกโป่งสีขาว
วันหนึ่งผู้เขียนและสามีพาลูกๆไปเล่นที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง ในระหว่างที่เด็กๆเล่นกันก็มีครูฝรั่งจากโรงเรียนสอนภาษามาแจกลูกโป่งให้เด็กๆเพื่อประชาสัมพันธ์โรงเรียน ลูกชายคนเล็กเข้าไปยืนเข้าคิวรอรับลูกโป่งและนำลูกโป่งมาฝากไว้กับผู้เขียน ระหว่างนั้นผู้เขียนนั่งเพลินจนไม่รู้ว่าลูกโป่งลอยไปตั้งแต่ตอนไหน นึกได้อีกก็ไม่เห็นลูกโป่งแล้ว ขณะที่ผู้เขียนกำลังมองหาลูกโป่งอยู่ก็มองเห็นคุณแม่คนหนึ่งที่มือหนึ่งจูงลูกและมือหนึ่งถือลูกโป่งสีขาวเหมือนตามหาเจ้าของ ผู้เขียนเข้าไปรับลูกโป่งคืนพร้อมคำขอโทษจากคุณแม่ ซึ่งจริงๆแล้วผู้เขียนเองก็อยากให้ลูกโป่งแก่เด็กน้อย แต่เมื่อคิดอีกมุมหนึ่งคือหากผู้เขียนจะให้ลูกโป่งแก่เด็กตามนิสัยใจดีของคนไทย คุณแม่ญี่ปุ่นไม่ยอมให้ลูกรับแน่ๆ เพราะเป็นการเสริมสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้แก่ลูกเขา ผู้เขียนได้แต่กล่าวขอบคุณและยืนถือลูกโป่งสีขาวมองแม่ลูกคู่นั้นเดินจากไป
เรื่องที่ 2 สวนสาธารณะกับของเล่นที่ถูกวางทิ้งไว้
คุณยายคนหนึ่งพาหลานสาววัยประมาณสามขวบไปเล่นที่สวนสาธารณะ ก่อนกลับเด็กน้อยหยิบของเล่นที่วางทิ้งไว้ติดมือจะนำกลับบ้านด้วย แต่คุณยายบอกเด็กน้อยว่าของเล่นไม่ใช่ของเราจึงไม่ควรหยิบติดมือกลับบ้าน เพราะหากเจ้าของกลับมาหาและไม่เจอแล้วเขาจะเสียใจ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เขียนเข้าใจเลยว่าทำไมของที่ถูกวางลืมไว้ตามที่ต่างๆมักได้กลับคืนมา บ่อยครั้งที่ของเล่นถูกลืมทิ้งไว้ในสวนสาธารณะเป็นเวลานานจนกว่าเจ้าของจะนึกได้และกลับมาเอาของ เพราะพ่อแม่ญี่ปุ่นค่อนข้างเข้มงวดไม่ยอมให้ลูกเอาของคนอื่นกลับมาบ้าน ทั้งนี้คนญี่ปุ่นมีวิธีการง่ายๆที่ไม่ให้ลูกหยิบของคนอื่นผิดกลับบ้านมาคือ การเขียนชื่อติดไว้บนของเล่นหรือของใช้ทุกชิ้นของเด็ก ซึ่งนอกจากจะป้องกันเด็กไม่ให้หยิบของเพื่อนผิดกลับบ้านแล้ว ยังทำให้ได้ของที่หล่นหายกลับคืนมาด้วย
เรื่องที่ 3 ก้อนหินกับความใส่ใจที่จริงจัง
บ่อยครั้งที่ตอนเดินกลับจากโรงเรียนอนุบาล ลูกชายคนเล็กเดินกลับบ้านมาพร้อมเพื่อนจอมซนอีกสองสามคน ทุกครั้งที่ผ่านบ้านที่มีหินสวยจำนวนมากปูไว้ที่สนามหน้าบ้าน เด็กๆมักไปหยิบจับหินเล่นและทำท่าจะเอาใส่กระเป๋ากลับบ้าน แต่คุณแม่ญี่ปุ่นจะห้ามอย่างเด็ดขาดไม่ให้เด็กเอาหินของบ้านคนอื่นกลับบ้าน แม้ว่าหินเป็นเพียงหินก้อนเล็กๆที่ไม่ได้มีราคามากมาย แต่การใส่ใจไม่ให้ลูกหยิบก้อนหินกลับบ้านเป็นการปลูกฝังความซื่อสัตย์ที่มั่นคงให้กับลูก
เรื่องที่ 4 เก็บเงินหรือของได้ต้องนำไปส่งตำรวจ
ผู้เขียนได้ฟังและพบเจอเรื่องนี้บ่อยจากเพื่อนญี่ปุ่นผู้มีลูกเล็กๆ ทุกครั้งที่เด็กเก็บเงินได้แม้ว่าเพียง 100 เยน คุณแม่จะพาลูกเอาเงินไปมอบไว้ที่ป้อมตำรวจใกล้ๆ และตำรวจจะทำการบันทึกไว้ พร้อมกับที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ของผู้นำส่งมอบ เพื่อนำเงินหรือของมีค่ามอบให้แก่ผู้เก็บส่งในกรณีที่หาเจ้าของไม่เจอ แม้ว่าจะเป็นของมีค่าเพียงเล็กน้อยแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็รับของที่เก็บไว้เพื่อรอเจ้าของอย่างไม่เกี่ยงงอน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความใส่ใจเล็กๆจากเจ้าหน้าที่จะเสริมสร้างความซื่อสัตย์ที่ยั่งยืนให้แก่เด็กซึ่งจะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ
คนญี่ปุ่นไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ แต่ความซื่อสัตย์นั้นมาจากตัวอย่างที่ดีจากรุ่นต่อรุ่น พ่อแม่และผู้ใหญ่ต่างเป็นตัวอย่างที่ดีของความซื่อสัตย์ โดยเฉพาะคำสั่งสอนที่ฝึกให้เด็กเอาใจเขามาใส่ใจเราว่าไม่มีใครที่ไม่รู้สึกเสียใจเมื่อของมีค่าหายไป จากการฝึกฝนและใส่ใจไม่ยอมให้ลูกหลานเอาของเพื่อนมาเป็นของตนเองได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ซื่อสัตย์และไม่อภัยให้แก่ผู้ทุจริต แม้ว่าสังคมจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปทางวัตถุนิยมมากขึ้น แต่ความซื่อสัตย์ยังเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้ลูกหลานญี่ปุ่นสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสง่างามในอนาคต
ที่มารูป: youaremom japantimes