ราชาเงินผ่อน กับ สามัญชนเงินสด

ราชาเงินผ่อน กับ สามัญชนเงินสด

ราชาเงินผ่อน กับ สามัญชนเงินสด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Money Money
เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ / ภาพประกอบ : ปฏิญญา ทิมหอม

Between Life Of the Installment & Cash
ราชาเงินผ่อน กับ สามัญชนเงินสด


เคยคิดว่าวัยทำงานอย่างเราๆ พอทำงานไปได้สักพัก แล้วได้เงินเดือนมากขึ้น คงจะมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น มีเงินซื้อของที่อยากได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และคิดเสมอว่าหากมีเงินเดือนเพิ่มแล้ว ชีวิตการใช้จ่ายจะง่ายขึ้น แต่พอเงินเดือนขึ้นตามจำนวนที่คาดการณ์ไว้ ท้ายสุดก็ไม่พออยู่ดี และนี่คือปัญหาที่หลายคนกำลังเจอ และเชื่อว่าหลายคนต้องเป็น และกำลังคิดเหมือนกันว่า จะต้องจัดการกับรายจ่าย ความอยากด้วยการเป็นราชาเงินผ่อน หรือจะเป็นสามัญชนที่จ่ายด้วยเงินสดแทนการเลือกซื้อสินค้า และประเมินรายจ่ายของตัวเอง

 

ราชาเงินผ่อน
เงินผ่อน อาจจะเหมาะกับการซื้อสินค้าขนาดใหญ่โต อย่าง บ้าน รถ หรือจักรยานยนต์ ซึ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก บางชนิดต้องมีเงินดาวน์ ซึ่งเงินดาวน์ที่ว่าก็ปาเข้าไปหลายหมื่นแล้ว เช่น รถ บ้าน คอนโด เป็นต้น แต่บางกรณีก็ไม่ต้องมีเงินดาวน์ แถมดอกเบี้ย 0% อีก อย่างจักรยานยนต์ทั่วไป อาจจะเหมาะกับผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่มีเงินก้อนมากพอ ก็ต้องอาศัยการผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ จะได้นำเงินสดไปแบ่งเฉลี่ยใช้จ่ายประจำวันได้ หรือบางคนจ่ายเงินดาวน์ไปเลยครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งอาศัยการผ่อนชำระเป็นรายเดือน ตามกำลังของแต่ละคนว่า กำหนดจ่ายได้เดือนละเท่าไหร่เป็นระยะเวลากี่เดือน ก็จะทำให้การบริหารรายจ่ายง่ายขึ้น และเป็นไปตามกำลังความสามารถของการหารายได้ของเรานั่นเอง

ข้อดี : ไม่ต้องเสียเงินก้อนโต และต้องระมัดระวังรายจ่ายมากขึ้น

ข้อเสีย : ต้องเป็นหนี้จนกว่าจะผ่อนหมด อาจจะไม่มีเงินเก็บ ได้สินค้าในราคาที่แพงกว่าเดิม (เพราะมีดอกเบี้ย และค่าอื่นๆ อีกมากมาย) และที่น่าเจ็บใจที่สุดก็ตอนที่ผ่อนหมด ราคาสินค้าชนิดนั้น อาจจะลงมาอยู่ในราคาที่เราคิดว่าจ่ายเงินสดได้เสียอีก เท่ากับว่าเราซื้อสินค้าชนิดนั้นแพงกว่าปกติตั้งหลายบาท

สามัญชนเงินสด
เงินสด เหมาะกับการซื้อสินค้าทั่วไปที่รวมถึงสินค้าที่มีราคาสูงไม่เกินหลักหมื่นต้นๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค เครื่องใช้ไฟฟ้านานาชนิด โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น เพราะหากจะไปผ่อนสินค้าประเภทนี้ แน่นอนว่า จะได้สินค้า+ดอกเบี้ยรวมแล้วราคาแพงกว่าที่เราจ่ายเงินสดเสียอีก แนะนำว่าให้อดทนเก็บเงินสดไว้ในธนาคาร หรือเก็บไว้กับตัวเอง เมื่อครบตามราคาสินค้าแล้วค่อยนำไปซื้อ

ข้อดี : เสียเงินแค่ครั้งเดียว ไม่ต้องมากังวลเรื่องของเงินผ่อนในแต่ละเดือนว่า จะพอกับรายจ่ายที่ต้องจ่ายหรือเปล่า และยังสามารถแบ่งเฉลี่ยเป็นเงินเก็บในเดือนถัดไปได้อีก

ข้อเสีย : เสียดายเงินก้อน เงินก้อนที่เสียไปสามารถนำไปลงทุนต่างๆ เพื่อให้ได้กำไรสัก 7-10% โดยเราจะมีเงินเพิ่มขึ้นได้ถึง 2 เท่า ภายใน 7-10 ปี เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล กองทุนต่างๆ ซื้อสลากออมสิน เป็นต้น
และที่สำคัญเลย หากอยากมีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินหรือเพื่ออนาคต ก็ต้องรู้จักการลดรายจ่ายในทุกๆ ช่องทางลง หรือแบ่งเป็นเงินเก็บไว้ต่างหากเลยยิ่งดี

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะจับจ่ายใช้สอยในรูปแบบเงินสด หรือ เงินผ่อน การที่เรารู้จักประมาณตัวเองว่า แค่ไหนพอ หรือสิ่งที่เราอยากได้นั้น มันจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน หรือการทำงานของเรามากน้อยแค่ไหน หากเป็นเพียงความอยากมี อยากได้ ก็ต้องไม่สร้างภาระ และหนี้สินให้ตัวเอง จนรู้สึกว่าดิ้นไปไหนไม่รอด หรือใช้วิธีการง่ายๆ เพียงแค่อาศัยการเก็บเล็กผสมน้อยจนได้เป็นก้อนตามราคาสินค้าที่จะซื้อ แล้วจ่ายทีเดียวจบไปเลย แล้วคุณจะรู้สึกว่า เริ่มเสียดายเงินที่อุตส่าห์เก็บมาตั้งนาน แล้วจะนำไปซื้อทีเดียวหมด ไม่แน่นะ คุณอาจจะไม่อยากได้แล้วขึ้นมาทันทีเมื่อถึงร้านก็เป็นได้

"เราไม่ได้หมายความว่า ไม่ควรซื้อสินค้าหรือเทคโนโลยีอะไรเลย แค่เราต้องซื้อในยามที่เรามีเงินพอสมควรแล้ว และไม่มีผลกระทบต่อตัวเองมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเลือกซื้อด้วยเงินสด หรือเงินผ่อน ก็ต้องรู้จักประมาณตนนั่นเอง"


ตัวอย่าง
นาย A สามัญชนเงินสด : เงินเดือน 15,000 บาท
รายจ่าย : ค่ากิน 5,000 บาท ค่าเดินทาง 2,000 บาท ซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน 1,000 บาท ค่าโทรศัพท์และบริการเสริม 1,000 บาท เงินแบ่งไว้ไปเที่ยว 1,000 บาท ค่าที่พัก 4,000 บาท* = 14,000 >>> มีเงินเก็บ 1,000 บาท ไม่เป็นหนี้แถมได้เที่ยวอีกต่างหาก
*(หากอยู่เป็นคู่ สามารถหักค่าที่พักได้อีก 2,000 บาท จะเหลือเก็บอีก 2,000 บาท เงินส่วนนี้ให้ที่บ้านได้อีกทาง)

*(หากเป็นบ้านของเราเอง เงินส่วนนี้ก็สามารถแบ่งเข้าธนาคารฝากประจำรายปี หรือเก็บไว้ซื้อของที่อยากได้สบายๆ )

 

นาย Z ราชาเงินผ่อน : เงินเดือน 35,000 บาท
รายจ่าย ค่าผ่อนรถ 10,000 บาท ค่ากิน 7,000 บาท ค่าน้ำมัน 3,000 บาท ผ่อนมือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้า 4,000 บาท จ่ายค่าบัตรเครดิต 3,000 บาท ค่าที่พัก 5,000* บาท บันเทิงทั้งหลาย 3,000 บาท มือถือและบริการเสริม 2,000 บาท ซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน 2,000 บาท = 37,000 บาท >>> ไม่มีเงินเก็บ แถมเป็นหนี้บัตรเครดิตเพิ่ม ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษารถยนต์ ค่าประกันภัย ค่าภาษี ค่าที่จอดรถ
*(หากอยู่เป็นคู่ สามารถหักค่าที่พักได้อีก 2,500 บาท)

*(หากเป็นบ้านของเราเอง ก็ลดรายจ่ายลงได้อีก 5,000 บาท จะเหลือเงินเก็บ เว้นแต่ว่า เมื่อเงินเดือนมา ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของบางคนจะเปลี่ยนไป คือ จะใช้จ่ายในส่วนอื่นมากขึ้นนั่นเอง )

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook