เครียด! ระวัง โรคปากเบี้ยว จะถามหา

เครียด! ระวัง โรคปากเบี้ยว จะถามหา

เครียด! ระวัง โรคปากเบี้ยว จะถามหา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Happy Health
เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ / ภาพประกอบ : นัฐวรรณ ปล้องทอง

Attention! Bell's Palsy
เครียด! ระวัง "โรคปากเบี้ยว" จะถามหา


ได้ดูข่าวทางโทรทัศน์ว่ามีนักแสดงเป็น ‘โรคปากเบี้ยว' เราก็ยังคงเฉยๆ ก็แค่รับรู้ข่าวสาร และไม่รู้ด้วยว่า ‘โรคปากเบี้ยว' เกิดจากอะไร แล้วจะหายหรือเปล่า คิดว่ายังไงก็คงไม่เกิดกับเราหรือคนรอบข้างของเราแน่ แต่แล้วเพื่อนสาวห้องข้างๆ ก็วิ่งหน้าตาตื่นเหมือนโดนผีหลอกตอนเช้า ครั้นได้สติ เธอจึงเล่าเรื่องราวให้ฟัง

อาการของเธอคือ แปรงฟันอยู่ดีๆ พอบ้วนน้ำออกจากปาก น้ำไม่ออกจากปากตรงๆ เหมือนทุกที แต่ไหลออกข้างๆ ก็ลองทำซ้ำอยู่หลายรอบก็ปรากฏว่าเหมือนเดิม ก็ยังคิดว่าไม่เป็นไร พออาบน้ำแต่งตัวเรียบร้อย ในขณะที่กำลังปัดแก้ม แล้วต้องยิ้มเพื่อให้ปัดโหนกแก้มได้นั้น เธอก็ตกใจสุดขีด เพราะปากของเธอเบี้ยวไปข้างหนึ่ง งานเข้าแล้วทีนี้ แต่เดี๋ยวก่อน คุ้นๆ เหมือนนั่งดูข่าวเมื่อหลายวันก่อนว่า ‘โรคปากเบี้ยว' นี้มันจะหายเอง แต่เพื่อนสาวคนนี้คงไม่อยากรอให้หายเองจึงรีบไปหาหมอทันที

เมื่อไปพบหมอจึงได้ทราบว่า โรคปากเบี้ยวสามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะยามที่ร่างกายของเราอ่อนแอก็มีสิทธิ์ที่จะป่วยได้ และนอกจากจะบ้วนน้ำไม่ตรง หรือยิ้มแล้วปากเบี้ยวไปข้างหนึ่ง ยังมีอาการอื่นๆ อีก เช่น กินอาหารแล้วติดกระพุ้งแก้ม ตาอาจจะแดงเพราะหลับตาไม่ลง ต้องระวังตาอักเสบให้มาก

ส่วนปัจจัยการเกิดของโรคปากเบี้ยวนั้นอยู่ที่ "เส้นประสาทเส้นที่ 7" ซึ่งเป็นเส้นสำคัญที่มาเลี้ยงใบหน้าของเรา โดยสิ่งที่ทำให้เส้นประสาทเกิดงอแงและล้มป่วยขึ้นมาก็มีหลายประเด็น
1. ติดเชื้อ โดยเฉพาะไวรัสอย่าง เริม งูสวัด ทำให้เส้นประสาทอักเสบและหน้าเบี้ยว
2. ความเครียด ทั้งทางกายและใจ ส่งผลให้เส้นประสาทอักเสบ และทำงานผิดปกติ
3. โรคประจำตัว อาทิ หลอดเลือดสมองตีบ ไขมันอุดตัน มีสิทธิ์ทำให้เบี้ยวทั้งหน้า แล้วยังจะเกิดการเป็นอัมพาตครึ่งซีกอีกด้วย รวมทั้งคนที่เป็นโรคเบาหวานก็มีโอกาสเป็นได้
4. เหตุอื่นๆ เช่น ฉีดหน้าเพื่อเสริมความงามแล้วเกิดผลข้างเคียง เนื้องอกในสมอง อุบัติเหตุต่อเส้นประสาท ผลกระทบจากการผ่าตัด เป็นต้น
ที่สำคัญเลยก็คือต้องแยกให้ออกว่า หน้าเบี้ยวนี้เกิดจากปลายประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอักเสบอย่างเดียว หรือถ้ามีเหตุจากทางสมอง จะมีอาการขาและแขนไม่มีแรง เพราะเกิดจากเส้นเลือดในสมองแตกและอุดตัน

ทางบำบัดเมื่อป่วยด้วยโรคหน้าเบี้ยว
อย่าเพิ่งตกใจไป ยิ่งกลุ้มใจก็ไม่ทำให้หน้าหายเบี้ยว เพราะโรคนี้เกิดมาจากความเครียดจัดๆ และโรคนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นเองโดยไม่ต้องกินยา ดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการกินอาหารบำบัดเส้นประสาท อาทิ กินวิตามินบีรวม น้ำมันปลา มากินสลับกับอาหารสด อย่างผักคะน้า และมะเขือเทศ เพราะจะช่วยบำรุงเส้นประสาทไม่ให้เสื่อมไวหรือติดเชื้อได้ หรือไปหาหมอเพื่อรักษา ในกรณีที่รู้แน่แล้วว่า หน้าเบี้ยวที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการติดเชื้อ หรือเหตุอื่นๆ ก็จะได้แก้อย่างตรงจุด ส่วนระยะเวลาของอาการจะประมาณ 3-4 อาทิตย์จะรู้สึกว่าดีขึ้น แต่หากเป็นมากจะขยับหน้าไม่ได้ และลิ้นไม่รู้รส อย่างนี้ก็อาจเป็นเดือน หรือนานเป็นปี หายได้แต่ไม่ 100% สามารถจะสังเกตว่าดีขึ้นหรือยังได้ด้วยการเลิกคิ้ว หรือลองปิดตา หรือขยับกล้ามเนื้อบริเวณหน้าดู ถ้าขยับได้บ้างหรือหลับตาได้พอมิด แสดงว่าเป็นไม่มากแล้ว และอาการกำลังดีขึ้น

 


ป้องกันก่อนโรคปากเบี้ยวจะถามหา
เลี่ยงนอนดึก นอนไม่พอถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหน้าเบี้ยว เพราะถือเป็นความเครียดอย่างหนึ่ง รวมทั้งคนที่อยู่ดึก ดื่มแอลกอฮอล์ หรือทำงานไม่เป็นเวลาก็มีสิทธิ์เป็น ควรออกกำลังกายตั้งแต่ยังไม่ป่วย แต่ห้ามออกกำลังกายที่หนักเกินไปตอนกำลังเป็นอยู่ เพราะมันจะกลายเป็นความเครียดที่กระตุ้นหน้าเบี้ยวได้ และสลายพฤติกรรมเสี่ยงทั้งหลาย เช่น ทำงานไม่มีวันพัก เครียดสะสม สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารซ้ำซากหนักไขมัน

หลังจากนี้ เธอเบาใจได้กว่าครึ่ง และเมื่อเธอไปทำงาน ก็จะพยายามจะไม่ยิ้มหรือพูด และกลับมานวดกล้ามเนื้อใบหน้าอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญเลย เธอเน้นย้ำกับเพื่อนที่ทำงานด้วยกันว่า พยายามลดความเครียด อย่าเก็บสะสม เพราะโรคปากเบี้ยวจะถามหา และฝากถึงคนทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่มีวันหยุดด้วยว่า ‘โรคปากเบี้ยว' มันเกิดได้ไม่ยากนะจะบอกให้

โรคหน้าเบี้ยว หากเป็นเฉพาะบริเวณใบหน้าอย่างเดียว เรียกว่า ‘เบลล์ พัลซี่' (Bell's Palsy)

เพื่อช่วยให้ฟื้นจากโรคปากเบี้ยวเร็วขึ้น ควรบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า ด้วยการฝึก "ยิ้มกว้าง" อันประกอบด้วยการฉีกยิ้ม ยิงฟัน แล้วใช้มือยกมุมปากข้างที่เป็นอัมพาตขึ้นตามไปด้วย ทำวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที

ที่มา :
นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook