5 เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับการกินลดน้ำหนัก นอกจากไม่ผอม ยังเสี่ยงอ้วนไม่รู้ตัว
มีหลายคนที่ไม่ประสบความสำเร็จกับการจัดการปัญหาน้ำหนักส่วนเกินของตัวเอง ทั้งๆ ที่ก็พยายามดูแลเรื่องอาหารการกิน เลือกกินแต่อาหารสุขภาพ อาหารคลีน ซึ่งเหตุผลเกิดจากความเข้าใจผิดบางอย่างเรื่องการกินอาหารลดน้ำหนัก ลองมาดูกันดีกว่าว่ามีพฤติกรรมการกินอาหารเพื่อสุขภาพแบบไหนบ้างที่ไม่ได้ช่วยลดน้ำหนัก แถมอาจทำให้อ้วนขึ้นได้อีกต่างหาก
1.ลดการกินแป้งมากจนเกินไป
แป้งหรือคาร์โบไฮเดรต เป็นสารอาหารสำคัญที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะช่วยสร้างพลังงาน ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่พลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เดิน ยกของ ฯลฯ แต่ยังหมายถึงพลังงานของระบบภายในร่างกาย การทำงานของอวัยวะต่างๆ การไหลเวียนของระบบของเหลวภายในร่างกาย ดังนั้น ร่างกายของเราไม่ควรขาดคาร์โบไฮเดรต การลดอาหารจำพวกแป้งมากเกินไป สุขภาพมีแต่เสื่อมโทรมลง
2.กินแบบนับแคลอรี่
คนที่ต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนัก น่าจะเคยเจอคำแนะนำที่ว่าให้กินอาหารโดยการนับปริมาณแคลอรีหรือพลังงานทั้งหมดที่ได้จากอาหาร เพราะแคลอรี่ส่วนเกินคือ 1 ในสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่เพราะความต้องการสารอาหารแต่ล่ะชนิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนที่ทำงานที่ต้องใช้การออกแรงการเคลื่อนไหวร่างกายเยอะ ก็มีความต้องการสารอาหารที่ให้พลังงานสูงกว่าคนที่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน เพราะฉะนั้นการกินแบบนับแคลอรีโดยขาดการวิเคราะห์อย่างถูกต้อง อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย หรืออาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นแบบไม่รู้ตัว
3.กินเมนูสุขภาพเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา มากเกินไป
อาหารเพื่อสุขภาพอาจจะมากด้วยประโยชน์ แต่รสชาติ ความเย้ายวนชวนรับประทานมักจะสู้อาหารปกติทั่วไปไม่ค่อยได้ ทำให้การกินอาหารสุขภาพซ้ำๆ เดิมๆ บ่อยเข้า ก็เริ่มเกิดความเบื่อและอยากจะกินอาหารทั่วไป ไก่ทอด หมูกระทะ ซึ่งบางคนพอกลับมากินอาหารธรรมดา ก็มักจะเกิดอาการ “หลุด” กินเยอะเกินไปโดยไม่รู้ตัว วิธีแก้คือต้องรู้จักปรับเมนูอาหารธรรมดาให้กลายเป็นอาหารสุขภาพ รู้จักที่จะลดและเพิ่ม ลดของทอดของมัน เพิ่มผักผลไม้ ธัญพืช ที่มีประโยชน์เสริมเข้าไปแทน
4.แม้จะเป็นอาหาสุขภาพ แต่กินมากไปก็ทำให้อ้วนได้เหมือนกัน
การลดน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพต้องยึดหลักเรื่องความพอดี เพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นก็มักเกิดจากการกินที่มากเกินไป เกินกว่าความต้องการของร่างกาย แน่นอนว่าแม้จะเป็นอาหารที่เรียกว่าเป็นอาหารสุขภาพ หรือ อาหารคลีน หากกินเกินพอดี กินแบบไม่บันยะบันยัง ก็ทำให้อ้วนขึ้นได้ไม่ต่างจากอาหารธรรมดาทั่วไป
5.เลือกกินน้ำผัก-ผลไม้ เป็นอาหารว่างหรือแทนมื้อหลัก
เพราะขึ้นชื่อว่าผัก-ผลไม้ ทำให้หลายคนเชื่อว่าทานแล้วจะต้องดีต่อสุขภาพแน่นอน แต่น้ำผัก-ผลไม้อาจเป็นตัวการทำให้น้ำหนักของเราเพิ่มขึ้นได้แบบไม่รู้ตัว เพราะในน้ำผัก-ผลไม้ โดยเฉพาะแบบพร้อมดื่มที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ มีปริมาณน้ำตาลสูง ใกล้เคียงกับน้ำอัดลมและนมเปรี้ยว
เพราะฉะนั้นการเลือกทานอาหารลดน้ำหนักให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพจริงๆ ต้องเน้นเรื่องความพอดี ต้องให้ได้สารอาหารที่ร่างกายต้องการครบทั้ง 5 หมู่ ควบคู่กับการออกกำลังกายลดน้ำหนักอย่างเหมาะสม