คลอดก่อนกำหนด ภาวะแทรกซ้อนอันตราย

คลอดก่อนกำหนด ภาวะแทรกซ้อนอันตราย

คลอดก่อนกำหนด ภาวะแทรกซ้อนอันตราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คลอดก่อนกำหนด ภาวะแทรกซ้อนอันตราย คุณแม่ไตรมาสสอง


ไตรมาสที่สอง (ตั้งครรภ์ 4-6 เดือน) เป็นช่วงที่คุณแม่จะสบายตัว แถมยังดูสวยที่สุดที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่น ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นทำให้ใบหน้าอิ่มเอิบ ผิวพรรณผ่องใส หมอแนะนำให้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงความภาคภูมิใจที่ได้ตั้งครรภ์เลยค่ะ

 

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสสองก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งเป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ได้ ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบบ่อยที่สุดในไตรมาสสอง คงไม่มีภาวะใดอันตรายไปกว่า ‘การคลอดก่อนกำหนด'



การคลอดก่อนกำหนดคืออะไร
ในทางการแพทย์ การคลอดเมื่อตั้งครรภ์ครบ 38-40 สัปดาห์ (นับจากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย) ถือว่าเป็น การคลอดครบกำหนด แต่หากคลอดก่อนจะครบกำหนด 37 สัปดาห์ จะถือว่าเป็น การคลอดก่อนกำหนด ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมากเท่าไร ก็ยิ่งเกิดอันตรายมากขึ้นเท่านั้น

 

การคลอดก่อนกำหนด แบ่งออกเป็น การคลอดกำหนดที่เกิดขึ้นเอง (ร้อยละ 70-80) และการคลอดที่แพทย์เร่งคลอดหรือผ่าตัดคลอดเพื่อช่วยชีวิตมารดาและทารกจากภาวะแทรกซ้อน (ร้อยละ 20-30)

 

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดเมื่ออายุครรภ์น้อยๆ ส่วนหนึ่งไม่รอดชีวิต ในรายที่รอดชีวิตก็อาจมีปัญหาสุขภาพระยะยาวตามมา ไม่ว่าจะเป็นเชาวน์ปัญญาต่ำ, กล้ามเนื้ออ่อนแอ, พิการ, ตาบอด, หูหนวก, มีปัญหาหัวใจและระบบหายใจ รวมถึงประสาทสมอง พฤติกรรม และปัญหาทางจิตใจฯลฯ ทั้งนี้เนื่องจากระบบต่างๆ ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังอาจมีโรคประจำตัว และมีโอกาสเกิดภาวะมีบุตรยากเมื่อโตขึ้น

 

สาเหตุหลัก 4 ประการที่ทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด
• สมอง ของมารดาหรือทารกสั่งการให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้มดลูกบีบรัดตัว
• เกิดการติดเชื้อที่มารดาหรือทารก ทำให้รก, ปากมดลูก, และมดลูก หลั่งสารพลอสต้าเกลนดิน ส่งผลให้มดลูกหดรัดตัว
• มีเลือดออกจากรก กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารพลอสต้าเกลนดิน และมดลูกขยายตัว
• โพรงมดลูกและปากมดลูกผิดปกติ

 

ใคร? เสี่ยงจะคลอดก่อนกำหนด

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อนี้ ควรระวังภาวะคลอดก่อนกำหนด

 



S.O.S สัญญาณเตือน คลอดก่อนกำหนด

ในทางการแพทย์ การวินิจฉัยการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด จะต้องมีการหดรัดตัวของมดลูก อย่างน้อย 4 ครั้งใน 20 นาที หรือ 8 ครั้งใน 1 ชั่วโมง, ปากมดลูกบางลง อย่างน้อยร้อยละ 80 หรือปากมดลูกเปิดอย่างน้อย 2 เซนติเมตร หากตรวจพบอาการดังกล่าว แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

 

ส่วนสัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนดที่คุณแม่สามารถสังเกตได้เอง มีดังต่อไปนี้


1. มดลูกบีบรัดตัว โดยปกติมดลูกจะไม่บีบรัดตัว เวลาคลำ* จะไม่รู้สึกว่าแข็งเกร็ง เมื่อไรที่คลำแล้วมดลูกแข็งเกร็งขึ้นมาจนรู้สึกได้ และแข็งเป็นพักๆ อาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด

2. มีอาการตึงท้อง ปวดท้อง แน่นท้อง ปวดหัวหน่าว หรือปวดหลัง

3. ตกขาว เป็นมูกจำนวนมาก หรือเป็นมูกปนเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด

4. มีน้ำคร่ำไหลออกมาจากช่องคลอด น้ำคร่ำจะเป็นน้ำใสๆ มีกลิ่นคาวเล็กน้อย ไหลออกมาจากช่องคลอด

5. บวมที่หลังเท้า หน้าแข้ง แขน มือ หรือใบหน้า ร่วมกับอาการแน่นท้อง จุกท้อง ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะครรภ์เป็นพิษ ที่เกิดร่วมกับการคลอดก่อนกำหนดโดยธรรมชาติ

 

หากคุณแม่สงสัยว่าตนเองมีอาการที่กล่าวมา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที



คลอดก่อนกำหนด รักษา + ดูแลอย่างไร


หากแพทย์ตรวจแล้วพบว่า คุณแม่มีภาวะคลอดก่อนกำหนด แพทย์มักจะรักษาโดยให้ยาห้ามคลอด และยาเร่งการทำงานของปอดทารก กรณีที่มีน้ำคร่ำรั่วแพทย์มักจะให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย หากห้ามคลอดสำเร็จ คุณแม่ก็สามารถอุ้มท้องต่อไปได้

กรณีที่ห้ามคลอดไม่สำเร็จ เช่น มีอาการเจ็บครรภ์คลอด, ปากมดลูกเปิดเพิ่มมากขึ้น, ถุงน้ำคร่ำรั่วจนน้ำคร่ำแห้ง, หรือมีการติดเชื้อในโพรงมดลูกฯลฯ แพทย์จะต้องให้คลอด มิฉะนั้นทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์

ส่วนทารกที่คลอดออกมาจะแข็งแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์เป็นหลัก หากอายุครรภ์เกิน 35 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ แต่ถ้าอายุครรภ์ต่ำกว่า 35 สัปดาห์ จะต้องพิจารณาว่าจะใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจหรือไม่ เพราะปอดของทารกยังไม่แข็งแรง อาจเกิดการล้มเหลวของระบบหายใจ ซึ่งงเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของทารกที่คลอดก่อนกำหนด

 

รู้เท่าทัน ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด


คุณแม่ที่เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด มักจะรู้ตัวเมื่อมีอาการเจ็บครรภ์ หรือมีน้ำคร่ำรั่วซึ่งเริ่มเข้าสู่ช่วงอันตรายแล้ว ทางที่ดีที่สุด คือ คุณแม่ควรป้องกันไม่ให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดแต่เนิ่นๆ ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการ...

1. เปลี่ยนวิถีชีวิต
พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง/วัน (ถ้าได้พักผ่อนสัก ½ - 1 ชั่วโมงหลังอาหารกลางวันก็ยิ่งดี) หากงานที่ทำหนักเกินไป หรือต้องยืนติดต่อกันนานๆ ควรเปลี่ยนงานหรือหยุดงานเมื่ออายุครรภ์เริ่มมากขึ้น, ไม่เสพสิ่งเสพติด ดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ และควรนอนตะแคงซ้าย เพื่อให้เลือดหมุนเวียนไปเลี้ยงทารกได้ดีขึ้น

2. ป้องกันการอักเสบ/ติดเชื้อ
การอักเสบติดเชื้อที่พบบ่อยในขณะตั้งครรภ์ และอาจส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ได้แก่
• ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ป้องกันได้ด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ 30 cc/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม, ไม่กลั้นปัสสาวะ, หลีกเลี่ยงการเดินทางไกล (ซึ่งทำให้ต้องกลั้นปัสสาวะมากขึ้น), หากมีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (ซึ่งมักตรวจพบได้ตั้งแต่ตอนที่ไปฝากครรภ์ครั้งแรก) ควรรักษาให้หายขาด
• ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส หัด หัดเยอรมัน คางทูม ฯลฯ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีคนแออัด เพราะเชื้อโรคเหล่านี้สามารถติดต่อผ่านทางลมหายใจได้
• ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ระหว่างที่ภรรยาตั้งครรภ์ คุณสามีไม่ควรมีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง หากไม่แน่ใจว่าสามีจะนำเชื้อโรคมาติดหรือไม่ ควรสวมถุงยางอนามัย หรืองดมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์

3. กินอาหารที่มีประโยชน์
ทางการแพทย์เชื่อว่า การกินน้ำมันปลา หรือปลาทะเลน้ำลึกที่มีโอเมก้า 3, อาหารไขมันต่ำ, และวิตามินรวมอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะคลอดก่อนกำหนดได้

4. ฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์
รวมถึงไปพบสูติแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และไปพบแพทย์ทันทีที่สังเกตอาการผิดปกติ

5. ทิ้งระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์
ไม่ว่าจะคลอดเองหรือผ่าตัดคลอด ควรทิ้งระยะห่างประมาณ 2-3 ปีแล้วจึงตั้งครรภ์ลูกคนต่อไป กรณีที่แท้งบุตร ควรทิ้งระยะห่างอย่างน้อย 6 เดือน

คุณแม่ที่เคยแท้งหรือเคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อนมักจะวิตกกังวล เกรงว่าลูกน้อยจะไม่ปลอดภัย หากกังวลจนเกินไป ควรหาที่ปรึกษา เช่น เพื่อนหรือญาติสนิท เพื่อให้มีคนพูดคุยปรับทุกข์ด้วย จะได้ระบายความวิตกกังวลออกมาก แต่ถ้าหากวิตกกังวลมากจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ คุณแม่ก็ควรปรึกษาแพทย์

 

นอกจากนี้ คุณแม่ก็ควรหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้ง หรือความขัดแย้ง บางกรณีที่หลีกเลี่ยงได้ยาก อาจต้องหาวิธีแก้ไขชั่วคราว เช่น ถ้าหากมีข้อขัดแย้งกับคุณแม่สามีซึ่งอยู่บ้านเดียวกัน ช่วงตั้งครรภ์อาจขอกลับมาอยู่บ้านตนเองชั่วคราวจนกว่าจะคลอด จะลดความตึงเครียดซึ่งจะส่งผลต่อภาวะคลอดก่อนกำหนดลงได้ค่ะ

 

 

ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.photos.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook