จับถูกจุด ไม่มีจนแต้ม เจ้าหนูจำไม

จับถูกจุด ไม่มีจนแต้ม เจ้าหนูจำไม

จับถูกจุด ไม่มีจนแต้ม เจ้าหนูจำไม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Q. ลูกสาวอายุ 2 ขวบ 4 เดือน พูดได้ทั้งวัน ถามนั่นอะไร นี่อะไร ไว้ใช้อะไร ของใคร ประมาณ "เจ้าหนูจำไม" ค่ะ ท่าทีอยากเรียนรู้ไปทั้งนั้น ต้องการทำอะไรต่อมิอะไรด้วยตัวเองมากๆ และต้องทำให้เหมือนที่ผู้ใหญ่ทำด้วย เด็กอย่างนี้ ควรสอนอะไร อย่างไรดีคะ ก่อนที่ผู้ใหญ่จะเบื่อ และปล่อยให้ความกระหายเรียนรู้ของลูกมอดไป



เด็กอยากเรียนรู้ (Learning) เป็นเรื่องที่ดี ที่เราควรทำคือช่วยให้เขามีทักษะการเรียนรู้ (learning skill) ที่ดี ตอนที่เขาเกิดใหม่ๆ เขาใช้ริมฝีปากสำรวจโลก ต่อมาก็ใช้อุ้งมือและนิ้วมือ ต่อมาก็ใช้สายตา ต่อมาก็ใช้ฟัน ต่อมาก็เริ่มคลาน ลุกขึ้นยืนแล้วเตาะแตะ ตามด้วยการพูด จะเห็นว่าเด็กมีเครื่องมือเรียนรู้มากมายที่แต่ละส่วนค่อยๆ พัฒนาคู่ขนานกันมาเรื่อยๆ

 

การพูดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ พูดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น พูดไม่เพราะเกิดอะไร พูดเพราะเกิดอะไร พูดมากเกิดอะไร พูดน้อยเกิดอะไร ไม่พูดเลยเกิดอะไร (เช่นถูกพาไปพบจิตแพทย์) แล้วมาถึงเรื่องที่คุณแม่ถาม คือถามมากจะเกิดอะไร

 

เด็กจะเรียนรู้ได้เองว่าถามมากจะเกิดอะไร เด็กเรียนรู้ลงไปในรายละเอียดด้วยว่าถ้าถามคุณแม่มากจะเกิดอะไร ถ้าถามคุณพ่อมากจะเกิดอะไร ถามคุณครูมากจะเกิดอะไร ถามเพื่อนมากจะเกิดอะไร และญาติคนอื่นๆ ที่มาเยี่ยมเยียน ปู่แบบหนึ่ง ยายแบบหนึ่ง เด็กค่อยๆ รู้ว่าแต่ละคนต่างกันอย่างไร

 

สังเกตมั้ยครับว่าผมยังไม่ได้พูดเรื่องความรู้ (Knowledge) เลย ที่ผมกำลังชี้ให้เห็นคือเด็กใช้คำถามเป็นหนึ่งในเครื่องมือของการสำรวจโลก แน่นอนว่าถ้าเราตอบเขาดีๆ ทุกคำถามเขาจะได้ความรู้ด้วย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือไม่ว่าเราจะตอบหรือไม่ตอบอะไร รำคาญหรือไม่รำคาญ เด็กกำลังเรียนรู้เรื่องที่สำคัญมากกว่าความรู้นั่นคือเรียนรู้เพื่อรู้จักคนแต่ละคนและเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน

 

เด็กไม่เพียงต้องเรียนรู้ว่าเขาควรจะถามคำถามไหนกับใคร เพราะถามคำถามนี้กับพ่อ พ่อไม่เห็นเคยตอบอะไรเข้าท่า ถามคำถามนี้กับแม่แม่จะตีเอาด้วยซ้ำ ถามคำถามตอนคนเขากินข้าวอาจจะถูกสั่งให้หยุดพูด ไปยืนถามคำถามหน้าห้องส้วมเผลอๆ คนในห้องส้วมจะออกมาเขกหัวเอา จะเห็นว่าเด็กต้องเรียนรู้ด้วยว่าเขาควรถามอะไรกับใครและเมื่อไร ทั้งนี้ยังไม่นับว่าเมื่อเขาโตขึ้น การใช้ภาษาดีขึ้น เขาควรตั้งคำถามอย่างไรอีกต่างหาก

 

กลับมาที่ประเด็นความรู้ (Knowledge) อีกที ที่คุณแม่ควรใส่ใจไม่ใช่ที่ตัวความรู้จริงๆ ดังที่ผมพยายามชวนคุยมา เพราะเรื่องที่สำคัญมากกว่าคือทักษะการค้นหาความรู้ (Searching Skill)


อย่าลืมนะครับว่าพ่อแม่มิใช่พหูสูต ตอนนี้ท่านทั้งสองอาจจะตอบอะไรซี้ซั้วไปก็ถูกทั้งนั้นเพราะเด็กเห็นท่านเป็นเทพ (ย้ำอีกที ท่าทีที่ท่านตอบจึงสำคัญกว่าตอบอะไร) เมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะเรียนรู้ว่าพวกท่านตอบอะไรมั่วน่าดูมาตั้งนาน (ทุกวันนี้ ลูกของผมสองคนพูดถึงพ่อแม่ของพวกเขาเช่นนี้) แต่สิ่งที่เขาได้ไปคือรับรู้ว่าพ่อแม่เป็นคนตั้งใจฟังเวลาที่เขาถาม หรือพูดเป็นอย่างมาก ส่วนเรื่องความรู้เขาก็จะเรียนรู้ว่าเขาควรไปหาคำตอบที่ไหน

 

ดังนั้นแทนที่คุณแม่จะพยายามเค้นคำตอบให้เขาทุกคำถามหรือกังวลว่าใครๆ จะไม่ตอบคำถามเขาได้ดีเหมือนคุณแม่ (ซึ่งที่แท้แล้วมั่วน่าดู) คุณแม่อาจจะช่วยเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้หรือทักษะการค้นหาความรู้ให้แก่เขาด้วยการวางงานตรงหน้า (จะเห็นว่าเวลาเราต้องการแสดงความสนใจเด็กเล็ก เราต้องวางงานตรงหน้าเสมอแหละครับ) แล้วจูงมือเขาไปหาช่วยกันรื้อหาหนังสือสักเล่มให้เขาดูรูป (ในกรณีเฉพาะเช่นนี้ ผมพบว่าหนังสือเรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษจากภาพจะดูดีที่สุด) หรือชวนเขาไปนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตแล้วชวนเขาเปิดกูเกิลหรือยะฮูแล้วแสดงให้เขาเห็นว่าเขาสามารถค้นหาอะไรต่อมิอะไรในโลกทั้งใบนี้ได้อย่างไร


อนาคตของเขา (โดยเฉพาะเด็กรุ่นนี้ซึ่งกำลังเติบโตมาในศตวรรษที่21) จะขึ้นกับทักษะค้นหาและทักษะการเรียนรู้อย่างมาก ถ้าคุณแม่ชาญฉลาดรู้เท่าทันสามารถเทรนเขาได้เลยครับ (อย่าเห็นเรื่องแท็บเล็ตเป็นเรื่องตลก)

 

ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.photos.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook