“ชีวิตดาวน์มหาลัย” 7 ปีที่ “เหมียว แคทลียา" ศิลปินดาวน์ซินโดรม และคุณแม่เติบโตไปพร้อมกัน

“ชีวิตดาวน์มหาลัย” 7 ปีที่ “เหมียว แคทลียา" ศิลปินดาวน์ซินโดรม และคุณแม่เติบโตไปพร้อมกัน

“ชีวิตดาวน์มหาลัย” 7 ปีที่ “เหมียว แคทลียา" ศิลปินดาวน์ซินโดรม และคุณแม่เติบโตไปพร้อมกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อช่วงปลายปี 2560 เว็บไซต์สนุกดอทคอมมีโอกาสพบเหมียว-แคทลียา อัศวานันท์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินดาวน์ซินโดรมคนแรกของประเทศไทย พร้อมพูดคุยกับคุณแม่ คุณพรประภา อัศวานันท์ ในขณะนั้นเหมียวศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และจัดแสดงผลงานจิตรกรรมแนวอิมเพรสชันนิสม์ในชื่อว่า จากดาวน์สู่ดาว (The Art of Inspiration) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น

อ่านเพิ่มเติม >>

วิธีปั้น “ดาวน์” ให้เป็น “ดาว” จากแม่ของศิลปินดาวน์ซินโดรม “แคทลียา อัศวานันท์”

กระทั่งช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาศิลปินดาวน์ซินโดรมคนเดียวกันนี้จัดงานเลี้ยงฉลองการเป็นบัณฑิตป้ายแดง ผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านศิลปะอย่างสมบูรณ์ ถ้านับเวลาในรั้วมหาวิทยาลัย 7 ปีอาจเป็นเวลายาวนานกว่าเวลาปกติที่นักศึกษาคนหนึ่งร่ำเรียนศึกษา

และนี่คือบทสัมภาษณ์คุณพระประภาที่เล่าเรื่องย้อนหลังไป 7 ปีก่อน นับตั้งแต่เหมียวตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ขณะที่ผู้เป็นแม่ไม่เคยปล่อยลูกห่างจากอกต้องตัดสินใจ หรือแม้กระทั่งเหมียวขอออกไปอยู่หอใช้ชีวิตด้วยตนเอง แม่ผู้อยู่เคียงข้าง และตั้งใจปูทางให้ลูกของเธอมาตลอดคิดและรู้สึกอย่างไร และอะไรทำให้สุดท้ายเธอบอกว่า “รู้สึกหมดกังวล” สำหรับชีวิตในอนาคตของลูกสาวคนนี้

ตอนลูกสาวตัดสินใจเรียนต่อ ตอนนั้นคุณแม่คิดว่าเป็นความรับผิดชอบที่หนักขึ้นของตัวเองไหม

จริงๆ เราก็คิดแบบนั้น เพราะตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยม เขาเรียนอยู่โรงเรียนรุ่งอรุณ อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ขับรถไปส่งตรงนี้ เดินไปตรงนั้น ครูแต่ละคนเป็นอย่างไรเขาคุ้นเคยหมด เรากลัวว่าพอไปที่ใหม่เขาจะเข้ากับบรรยากาศใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปได้ไหม และที่เรียนก็อยู่ไกลบ้าน

ลูกสาวขอออกไปอยู่หอ ใช้ชีวิตด้วยตัวเองด้วย ตอนนั้นคุณแม่รู้สึกเป็นห่วงหรือเปล่า

ตอนไปเรียนใหม่ๆ เราขับรถไปส่งเขา และเข้าไปนั่งเรียนในวิชาแรกๆ กับเขาด้วย พอครั้งถัดไป เรานั่งนอกห้องรอเขาเลิกเรียนแล้วรับกลับ แต่เพราะที่เรียนอยู่ไกล เริ่มขับรถไป-กลับไม่ไหว เพราะเราต้องทำงานของเราด้วย ตอนหลังเขามาพูดกับเราเองว่าอยากอยู่หอ เพราะเพื่อนคนนั้นก็อยู่หอ คนนี้ก็อยู่หอ เราก็คิดจากสิ่งที่เขาพูด ก็เลยคิดกับคุณพ่อของเขาว่าเขาคงอยากอยู่หอแบบคนอื่นบ้าง เราก็เลยเช่าทาวน์เฮาส์ให้เขาอยู่ และส่งพี่เลี้ยงไปอยู่เป็นเพื่อนด้วย 1 คน

ช่วงแรกก็เป็นห่วงเขา เพราะสิ่งที่เราเคยทำ หรือเตรียมให้เขาที่บ้าน เขาต้องทำเองทั้งเรื่องหาข้าวทานเอง อยู่เอง ใส่เสื้อผ้าอะไรต้องรู้ บางวันใส่ชุดนักศึกษา บางวันมีวิชาวาดรูป เขาต้องเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมด้วยตัวเอง เขาก็ยืนยันว่าได้

เมื่อลูกสาวขอไปอยู่หอ เขาต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ต้องปรับอะไรบ้างไหม

มันก็ไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเขาจากเดิมสักเท่าไร จริงๆ คุณพ่อเขาก็แอบไปหา เพราะเขาเป็นห่วงให้อยู่ทาวน์เฮาส์กับคนงานผู้หญิง 2 คน มันแปลกที่ แปลกถิ่น คุณพ่อเลยไปหาทุกวันพุธ ทำเป็นเดินเข้าออกที่ทาวน์เฮาส์เหมือนให้มีผู้ชายเดินเข้าออกบ้าง เสร็จแล้วก็พาเหมียวไปทานข้าวกัน คุณพ่อของเขาจะสละเวลาครึ่งวัน ทำแบบนั้นอยู่ประมาณ 2-3 ปีแรก พอเริ่มเห็นว่าลูกอยู่เองได้ก็ไม่ไป

ส่วนเราไม่ได้ไปด้วยเพราะเขาบอกว่าเขาอยู่เองได้ เพราะถ้ามีเราอยู่เขาก็ไม่กล้าทำอะไรเอง แต่ถ้าเราไม่อยู่เขาจะกล้า ไม่ใช่ไม่รักลูก แต่เวลาเลี้ยงลูกต้องดูจริตลูกด้วย ถ้าประกบตลอด เขาจะไม่มีวันนี้

พอลูกสาวโตขึ้นเจอกลุ่มเพื่อน คุณแม่ต้องอธิบายเรื่องอะไรเป็นพิเศษให้ลูกสาวเราเข้าใจไหมคะ

อย่างเรื่องการสูบบุหรี่ของเด็กผู้ชาย สมัยเรียนประถม มัธยมไม่มี เราก็บอกว่าอย่าเลียนแบบเพื่อนเรื่องนี้ เพื่อนเป็นแบบไหนช่างเขา อย่าไปว่าเขา เราอยู่กับเพื่อนได้ โดยไม่จำเป็นต้องตามแบบเพื่อน มีมิตรภาพกับเขา เรื่องเหล่านี้เราต้องปรับทัศนคติให้เขาเรียนรู้เพิ่มเติม

แต่เรื่องอื่นๆ ไม่มีอะไรต้องอธิบายกันเป็นพิเศษเพราะเขาเป็นคนที่บอกให้ทำอะไรก็จะทำแบบนั้น เป็นคนตรงเวลา อย่างก่อนนอนเขาจะวางชุดเตรียมไว้แล้วว่าพรุ่งนี้เขาจะใส่อะไร เพราะเราทำให้เขาดูตั้งแต่เด็ก พอไปเรียนเขายังโทรตามให้เพื่อนมาเข้าเรียนเลย

คุณแม่เข้าไปนั่งเรียนกับลูกสาวด้วยตลอดระยะเวลา 7 ปี

เราเข้าเรียนพร้อมกันกับเขาด้วย แต่จริงๆ จะเข้าเรียนวันแรก เข้าไปฟังว่าจะสอนอะไร มีคะแนนเก็บอะไรบ้าง ทำอะไรบ้าง ทำงานกี่ชิ้น ฯลฯ เราต้องเตรียมต้องนั่งฟัง แล้วค่อยไล่บี้กับเขา ตั้งแต่ปี 1 ตัวไหนซ้ำก็เข้าไปฟังด้วยถ้าเรียนซ้ำ มีอยู่วิชาหนึ่งลงเรียนซ้ำ 3 รอบเพราะสอบไม่ผ่าน เป็นวิชาพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ ที่เรียนเกี่ยวกับว่าเรียนศิลปะแล้วจะไปทำอาชีพอะไร เรียนเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ เหมือนเตรียมเด็กไปสู่โลกภายนอก

ตอนแรกได้เกรด D แม่คิดว่าโอเคเพราะถ้าผ่านตัวนี้จะได้ไปเรียนวิชาสุดท้ายคือวิชาศิลปะนิพนธ์ แต่เกณฑ์ของวิชานี้ต้องได้ C ขึ้นไปถึงจะผ่าน จึงต้องลงใหม่ พอลงครั้งที่ 2 ก็ได้ F พอต้องลงเรียนครั้งที่ 3 เราไปนั่งฟังหลังห้องทุกครั้ง พอรู้แนวทาง เราก็กลับมาบอกให้ลูกทำ ตลอดเวลา 3 เดือนเราจะเข้าไปนั่งฟังทุกวันที่มีวิชานี้ ถ้าวันไหนไม่ว่างจะส่งลูกน้องไปนั่งอัดเทปเพื่อมาบอกว่าต้องทำอะไรบ้าง ที่ต้องทำแบบนี้เพราะลูกของเราทักษะการประมวลผลของเขาจะช้าไม่เหมือนเด็กในวัยเดียวกันคนอื่น

คุณแม่เรียนจบรัฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจ เมื่อต้องเข้าเรียนศิลปะกับลูก มันใช่ทางของเราไหม

ชีวิตมันต้องเรียนรู้ทุกวันไหม เราคิดว่าชีวิตเราวันนึงเราต้องฉลาดให้ได้อีกอย่าง แม่เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็กที่จะคิดว่าทุกๆ วันเราต้องได้ศัพท์ภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นวันละ 1 ตัว มันก็จะมีเป้าหมาย ทุกวันเราจะนั่งคิดว่าเรารู้อะไรเพิ่มขึ้นหรือยัง มันสำคัญมากนะ ดังนั้นเราจึงมีความสุขที่ได้ทำแบบนี้ ด้วยความที่เป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว ยิ่งเรามีลูกเป็นแบบนี้เราก็รู้สึกดีที่เราได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเขา

ศิลปะช่วยเปลี่ยนอะไรในตัวน้องบ้างไหม

แม่คิดว่าศิลปะทำให้เขามีความสุข ไม่ว่าจะวาดมาอย่างไร มันไม่มีใครมาตัดสินว่าถูกหรือผิด มันคือความคิดของเขา แม่ไม่เคยวิจารณ์ ทำแค่ถามให้เขาเล่า แม่คิดว่ามันทำให้เขาเป็นอิสระ มีโลกของตัวเอง เขาวาดแล้วก็สำเร็จแล้ว ระหว่างวาดเขามีความสุข ทำเสร็จแล้วเขามีความสุข เขาไม่ได้คิดว่าทำเพื่อหารายได้ เขาทำเพราะเขามีความสุขในระหว่างวาด จริงๆ แล้วถ้าถามคนเป็นพ่อ-แม่ ต่อให้ลูกเราปกติก็อย่าไปคาดหวังอะไรเลย คิดว่าเขาจะมาดูแลเรา หรือว่าลูกเราจะสวยงาม หรือลูกเป็นนายกอย่าคิดแบบนั้น ต่อให้ลูกปกติเราก็หวังอะไรกับเขาไม่ได้อยู่แล้ว

เขาต้องเป็นตัวของเขาเองในวันนึง ซึ่งนั่นคือเราต้องคิดว่าเขาเป็นคนนึงที่เป็นตัวของตัวเอง มีหนึ่งเดียวที่ไม่เหมือนใคร ไม่ต้องไปกำหนดกับเขา ไม่งั้นแม่จะเป็นบ้า แม่ปลงได้ตั้งแต่เขาเกิดมา มันเห็นสัจธรรมว่าเราต้องอยู่กับปัจจุบัน เหมียวได้แค่นั้นเอาแค่นั้น เราจะดีใจไปทีละขั้นๆ เราจะไม่มองไปไกล ดีใจเผื่อไปในวันข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง ความสุขมันใกล้แค่นี้เองนะแก ไม่ต้องไขว่คว้ามาก

ตอนนี้ลูกสาวเรียนจบแล้ว คุณแม่รู้สึกหมดกังวลเหมือนคุณแม่ทั่วไปที่คลายกังวลเมื่อลูกเรียนจบหรือเปล่า

หมดกังวลนะ เพราะเราว่าเราเปิดทางให้เขามาระดับหนึ่ง ภาพวาดของเขาเราไม่ได้หวังว่าจะขายรูปได้ เราดัดแปลงเป็นสินค้า อีกหน่อยถ้าแม่ไม่อยู่เขาน่าจะอยู่ได้เพราะเขามีน้องๆ อยู่ด้วย ไม่ได้อยู่เป็นภาระ เขาสามารถเลี้ยงชีพ เราพยายามผูกมิตรกับแกลอรี่ต่างประเทศ มีคนรู้จักเหมียวในระดับหนึ่ง ถ้ามีงานโชว์อะไรก็จะมาขอรูปเหมียวไปโชว์ ซึ่งเราก็รู้สึกว่าเราได้สร้างโลกใหม่ให้เขา ทำให้เขาได้มีที่ยืนในสังคม ถ้าใครนึกอยากรวมเด็กพิเศษ ลูกเรามาสายวาดภาพ มันมีทางออก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook