ห่วงคุมกำเนิด กับหลากหลายข้อดีในการคุมกำเนิดเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ
ห่วงคุมกำเนิด หรือ ห่วงอนามัย (Intrauterine Device: IUD) เป็นหนึ่งในวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างหนึ่ง บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจการทำงานของห่วงคุมกำเนิด และเรื่องอื่นๆ ที่คุณควรรู้เกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิดชนิดนี้ เพื่อที่จะได้เลือกใช้งานอย่างเหมาะสม
ห่วงคุมกำเนิดคืออะไร
ห่วงคุมกำเนิด หรือ ห่วงอนามัย หรือห่วงอนามัยคุมกำเนิด (IUD) เป็นเครื่องมือชิ้นเล็กๆ ที่จะถูกสอดเข้าไปในมดลูกของผู้หญิง เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ถือเป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับผู้หญิง ซึ่งใช้งานได้นาน และผู้หญิงสามารถตั้งครรภ์ได้ทันทีที่เอาห่วงออก
โดยทั่วไปห่วงคุมกำเนิดแบ่งเป็นสองชนิด
- ห่วงคุมกำเนิดแบบเคลือบทองแดง
- ห่วงคุมกำเนิดแบบฮอร์โมน ซึ่งจะปล่อยฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนเข้าสู่มดลูกของคุณอย่างช้าๆ
ห่วงคุมกำเนิดทำงานอย่างไร
ห่วงคุมกำเนิดป้องกันการผสมพันธ์ุของไข่ โดยทองแดงหรือฮอร์โมนจากห่วง จะเปลี่ยนเส้นทางของสเปิร์มที่เคลื่อนที่เข้าสู่ไข่ หรือบางครั้งก็หยุดยั้งไม่ให้ไข่มีการฝังตัวที่ผนังมดลูก
ห่วงคุมกำเนิดมีข้อดีอย่างไร
ห่วงคุมกำเนิดมีข้อดีหลายอย่าง ได้แก่
- เป็นวิธีการคุมกำเนิดในระยะยาว ที่สามารถใช้งานได้สามปีหรือมากกว่านั้น
- คุณสามารถตั้งครรภ์ได้ทันทีที่ต้องการ เมื่อเอาห่วงออก
- เป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพมากถึง 99%
- เอาออกได้ง่ายเมื่อคุณไม่ต้องการคุมกำเนิดแล้ว
- ไม่ส่งผลเสียต่อการให้นมบุตร
- ไม่ทำความรำคาญให้แก่คู่รักของคุณ
- ไม่มีข้อพิสูจน์ถึงความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
- ห่วงแบบเคลือบทองแดงไม่มีส่วนประกอบของฮอร์โมน
- ห่วงแบบเคลือบทองแดง สามารถทำหน้าที่เสมือนยาคุมฉุกเฉินได้
- ไม่มีผลข้างเคียง เนื่องจากปล่อยฮอร์โมนออกมาเพียงเล็กน้อยมาก
ความเสี่ยงของการใช้ห่วงคุมกำเนิด
โดยทั่วไปแล้ว ห่วงคุมกำเนิดถือว่าปลอดภัย ความเสี่ยงบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ก็อย่างเช่น
- มีความเป็นไปไปได้เล็กน้อยที่จะเกิดการติดเชื้อ (ราว 1%) ในขณะที่ใส่ห่วงคุมกำเนิด
- มีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะเกิดความเสียหายต่อมดลูก (ราว 1 ใน 1,000)
- มีโอกาสในการตั้งครรภ์ แต่ก็เป็นไปได้ยากมาก
- อาจเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก
- ห่วงแบบเคลือบทองแดงอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น หรือปวดท้องหนักมากในระหว่างมีประจำเดือน
- ทองแดงอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ได้
- ห่วงแบบฮอร์โมนอาจทำให้เกิดปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนน้อยกว่าปกติ หรือมีมากกว่ากว่าปกติ
- อาจมีโอกาสที่ห่วงคุมกำเนิด จะหลุดออกมาได้เอง (ราว 5%)
ใครสามารถใช้ได้บ้าง
ห่วงคุมกำเนิดเหมาะสำหรับผู้หญิงแทบทุกคน ทั้งวัยรุ่นและหญิงสาวที่ยังไม่เคยมีบุตร ห่วงแบบฮอร์โมนยังเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนมามากอีกด้วย
ใครที่ไม่ควรใช้ห่วงคุมกำเนิด
ผู้หญิงควรรักษาอาการติดเชื้อใดๆ ก็ตามที่มี ก่อนการใช้ห่วงคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิดแบบเคลือบทองแดง ไม่เหมาะสำหรับผู้หญิงที่ปกติมีเลือดประจำเดือนออกมาก หรือมีอาการปวดท้องอย่างหนักในช่วงมีประจำเดือน เนื่องจากมันอาจทำให้อาการพวกนี้แย่ลงได้
ช่วงเวลาในการใส่ห่วงคุมกำเนิด
การใส่ห่วงคุมกำเนิดสามารถทำได้ในช่วงต่อไปนี้
- ในระหว่างมีประจำเดือน หรือหลังจากเพิ่งหมดประจำเดือน
- หกสัปดาห์หลังคลอดบุตร
- ในระหว่างที่มีการผ่าตัดเพื่อทำแท้ง
- หลังการร่วมเพศที่ไม่มีการป้องกัน (ใช้ห่วงแบบเคลือบทองแดง) เป็นการคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินอย่างหนึ่ง
ควรดูแลห่วงคุมกำเนิดอย่างไร
หมอของคุณจะสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้ได้ เมื่อใส่ห่วงคุมกำเนิดให้คุณ และคุณควรกลับไปให้หมอตรวจดู หลังจากใส่ห่วงไปแล้วหกสัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่าห่วงอยู่ในที่ทางที่เหมาะสม ไม่เลื่อนหลุด หรือมีปัญหาอื่นใด หลังจากนั้น โปรดปรึกษาหมอเพิ่มเติมในเรื่องนี้
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด