เก็บอาหารเหลือได้นานอย่างปลอดภัย

เก็บอาหารเหลือได้นานอย่างปลอดภัย

เก็บอาหารเหลือได้นานอย่างปลอดภัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่าในตู้เย็นของทุกบ้านต้องมีอาหารปรุงสุกที่เก็บไว้กินในมื้อต่อๆ ไป โดยเฉพาะช่วงรอหรือพบกับ "น้องน้ำ" ในสถานการณ์ตึงเครียดที่ผ่ามมา อาหารที่ซื้อเก็บออกแนว "กักตุน" คงมีหลายรูปแบบทั้งของแห้ง อาหารสำเร็จรูปประเภทเก็บไว้กินได้นาน ๆ อย่างพะโล้ บางครั้งก็เก็บไว้ในตู้เย็นจนลืมไปว่านานแค่ไหนแล้ว จะทิ้งก็เสียดาย พอจะเอาออกมาอุ่นกินก็ไม่แน่ใจว่ายังปลอดภัยอยู่หรือไม่ การเก็บอาหารเหลืออย่างปลอดภัยจึงต้องระวังไม่ให้จุลินทรีย์ปนเปื้อนและเจริญเติบโตในอาหารได้ โดยเฉพาะจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ หลักการสำคัญคือการควบคุมอุณหภูมิให้จุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ให้เร็วที่สุด

การปล่อยอาหารทิ้งไว้นอกตู้เย็นอย่างในบ้านเราที่มีอากาศร้อนชื้น จึงสามารถทำให้อาหารเน่าเสียได้ในเวลาเพียง 4-5 ชั่วโมง หรือเร็วกว่านั้นถ้าอาหารมีน้ำมากหรือมีส่วนผสมของแป้ง กะทิ หรืออาหารที่ไม่ได้ปรุงจนสุกหรือไม่ได้ผ่านความร้อนเลย โดยเฉพาะอาหารที่เสิร์ฟหรือกินมาแล้วจะมีโอกาสปนเปื้อนจุลินทรีย์ในระหว่างการกินมากขึ้น ทั้งจากอากาศ ภาชนะเสิร์ฟ ช้อน ส้อม และตัวผู้รับประทานอาหารเอง

 


เราจึงควรรีบนำอาหารที่ต้องการเก็บแช่ตู้เย็นไว้ทันที หรือภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จหรือรับประทานเหลือ เพื่อไม่ให้มีจุลินทรีย์ปนเปื้อนและเจริญเติบโตในอาหารมากเกินไป หรือถ้าจะให้เก็บไว้ได้นานขึ้นอาจนำไปอุ่นให้ร้อนก่อนแล้วทำให้เย็นอย่างรวดเร็ว โดยแช่ในน้ำเย็นหรือหล่อด้วยน้ำไหลทิ้งจากก๊อก เพื่อฆ่าจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนอยู่และทำให้ตู้เย็นของเราไม่ต้องทำงานหนักเกินไป แล้วค่อยนำมาเก็บในตู้เย็นหรือช่องฟรีซก็ได้

ภาชนะที่ใช้เก็บควรสะอาดและมีฝาปิด ถ้าอาหารมีปริมาณมากหรือต้องการเก็บไว้กินหลายๆ มื้อก็ควรแบ่งเป็นส่วนๆ เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนจากการนำมาอุ่นซ้ำ ภาชนะที่ใช้เก็บควรมีขนาดไม่ใหญ่และลึกจนเกินไป ตามหลักการคือไม่ควรลึกเกิน 2-3 นิ้ว เพื่อลดอุณหภูมิของอาหารลงได้ภายในเวลาไม่นานเกินไป และควรเขียนป้ายเล็กๆ วันที่ที่เรานำอาหารมาแช่ติดไปด้วยเพื่อเตือนความจำและเป็นข้อมูลสำหรับช่วยตัดสินใจว่าถึงเวลาที่เราต้องทิ้งอาหารนั้นแล้วหรือยัง อย่าลืมเลือกใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุที่ทนอุณหภูมิต่ำๆ ได้ด้วยนะครับ

หากต้องการเก็บอาหารไว้นานขึ้นควรเก็บในช่องฟรีซเพราะมีอุณหภูมิต่ำมาก ในช่องฟรีซจะหยุดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ ในขณะที่อุณหภูมิในช่องแช่เย็น (ช่อง Chill) จะชะลอการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเก็บอาหารไว้ในช่องฟรีซนานเกินไปก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับอาหารที่ทำให้คุณภาพแย่ลง เช่น สีคล้ำ เนื้อสัมผัสแห้งและกระด้าง

แต่ถ้าเก็บไว้นานจนลืมว่าเข้ามาอยู่ในตู้เย็นตั้งแต่เมื่อไรก็ให้ทิ้งไปเลยครับ อย่าทดสอบอาหารว่ายังกินได้อยู่หรือไม่ด้วยการชิมเด็ดขาด เพราะอาหารที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษไม่จำเป็นต้องเน่าเสียหรือบูด

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook