“ซินดี้ – สิรินยา” กับบทบาทใหม่ในแคมเปญเพื่อผู้หญิง #DontTellMeHowtoDress

“ซินดี้ – สิรินยา” กับบทบาทใหม่ในแคมเปญเพื่อผู้หญิง #DontTellMeHowtoDress

“ซินดี้ – สิรินยา” กับบทบาทใหม่ในแคมเปญเพื่อผู้หญิง #DontTellMeHowtoDress
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เราต่างก็เคยชินกับวงจรไวรัลในโลกอินเตอร์เน็ตที่ใครสักคนลุกขึ้นมาจุดประเด็นบางอย่าง จนกลายเป็นกระแสที่โด่งดังอยู่เพียงไม่กี่วันก็จางหายไป เมื่อมีกระแสใหม่เกิดขึ้นมา แต่เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ได้มีกระแส #DontTellMeHowtoDress ที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโต้การแนะนำให้ผู้หญิงแต่งกายเรียบร้อย เพื่อป้องกันมิให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศขณะที่เล่นสาดน้ำ ซึ่งแม้จะเป็นเพียงการอัดคลิประบายอารมณ์สั้นๆ ของนักแสดงและนางแบบตัวแม่อย่าง “ซินดี้ – สิรินยา บิชอพ” แต่กลับส่งผลอย่างใหญ่หลวง เมื่อคลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกไป และมีผู้ที่เข้ามาสนับสนุนและแบ่งปันเรื่องราวจากประสบการณ์ของตัวเองเป็นจำนวนมาก กระแสนี้ไม่เพียงแต่เปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงได้ออกมาแสดงจุดยืน แต่ยังเพิ่มบทบาทใหม่ให้คุณซินดี้ นั่นคือการเป็นนักกิจกรรมเพื่อผู้หญิง บทบาทใหม่ครั้งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และให้อะไรกับตัวเธอและสังคมบ้าง มาหาคำตอบกัน

“ตอนนี้ก็ยังมีคนเข้าร่วมอยู่ในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมค่อนข้างเยอะ แล้วทุกวันก็จะมีคนเขียนเข้ามาในอินบ็อกซ์ว่าดีใจที่มีแคมเปญนี้ แล้วก็จะเป็นการแชร์เรื่องส่วนตัวของเขาหรือสิ่งที่เขาทำ” คุณซินดี้เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการอัปเดตกระแสในปัจจุบันของ #DontTellMeHowtoDress ที่ยังไม่จางหายไปเหมือนข่าวบันเทิงอื่นๆ ซึ่งเธอก็หวังว่าแคมเปญนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนในสังคมตระหนักถึงสิทธิของผู้หญิงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณซินดี้ยอมรับว่ากระแสไวรัลที่เธอจุดประเด็นขึ้นเมื่อหลายเดือนก่อนนี้ เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายอย่างมาก

“จริงๆ แล้วมันเป็นอารมณ์ชั่ววูบ จากที่ซินดี้ได้อ่านข่าวที่เจ้าหน้าที่ตักเตือนผู้หญิงในช่วงก่อนสงกรานต์ ว่าอย่าแต่งตัวโป๊ เพื่อที่จะลดปัญหาลวนลามทางเพศ ซินดี้เองรู้สึกว่ามันง่ายไปหรือเปล่า แค่มาบอกให้ผู้หญิงอย่าแต่งตัวโป๊ คือถ้าในข่าวมีการเสนอมาตรการอื่นๆ หรือมีการชี้แนะ หรือตักเตือนฝ่ายที่คิดจะล่วงละเมิดทางเพศบ้าง เราก็อาจจะโอเค แต่คือมันไม่มีเลย เนื้อข่าวทั้งหมดพุ่งตรงไปที่ผู้หญิงเลยว่านี่คือวิธีที่จะป้องกันการการล่วงละเมิดทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์"

"ซินดี้ในฐานะที่เคยโดนผู้ชาย 5 คน มารุมในช่วงสงกรานต์ ทั้งๆ ที่แต่งตัวแบบไปเล่นน้ำสงกรานต์ เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ก็เลยรู้สึกว่า ตราบใดที่เรายังคิดว่ามันเป็นความผิดของผู้หญิง เรื่องนี้มันก็จะไม่หายไป แล้วมันก็จะแย่ลงด้วย ก็เลยหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอัดคลิป ก็ไม่ได้คิดว่าจะออกมาเป็นนักสิทธิสตรีตัวยง หรือมาทำเรื่องนี้” คุณซินดี้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ #DontTellMeHowtoDress ที่เธอมองว่ามันสะท้อนปัญหาของการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในสังคมไทย ที่ควรตั้งคำถามถึงสาเหตุจริงๆ ว่ามาจากตัวผู้หญิงเอง หรือแนวคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ ที่โยนความผิดทุกสิ่งให้ผู้หญิง

แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะการล่วงละเมิดทางเพศเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่สามารถจุดติดได้ทุกครั้ง หรือเพราะนางแบบสาวสวยลุกขึ้นมาทวงถามสิทธิของผู้หญิง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแส #DontTellMeHowtoDress นั้นลุกลามอย่างรวดเร็ว จากในโลกออนไลน์สู่โลกจริง จนทำให้บรรดาสำนักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศต่างพากันมาทำข่าวและสกู๊ปเรื่องนี้

“นอกจากข่าวในประเทศไทย มันถูกยกเป็นข่าวในระดับอินเตอร์ด้วย NHK มาทำสกู๊ป BBC, Time Magazine, Bloomberg มาทำ แล้วเขาก็เอาแฮชแท็กของซินดี้ไปเปรียบเทียบกับ #MeToo บางสำนักก็จะบอกว่าอันนี้เป็น Thailand’s answer to #MeToo ซึ่งเราก็แบบ ขนาดนั้นเลยเหรอ (หัวเราะ) คือเดี๋ยวนะ เราไม่ได้ตั้งใจวางแผน แต่โอกาสมันมา บางทีชีวิตเราไม่ได้เลือกมัน แต่มันเลือกเรา ก็เลยรู้สึกว่ามันมีพลังมาก แล้วก็คิดว่ามันมีโอกาสอะไรที่ซินดี้จะทำตรงนี้ได้บ้าง ก็เลยกลับมาคิด”

จากคลิประบายอารมณ์ในอินสตาแกรม คุณซินดี้ก็เริ่มต่อยอดกระแส โดยหลังจากที่ได้รับเชิญไปงานเสวนาของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และได้ชมนิทรรศการขนาดเล็ก ที่จัดแสดงเสื้อผ้าของเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศ รวมทั้งได้เห็นตัวอย่างเดียวกันนี้จากนิทรรศการของ University of Kansas เมื่อปลายปีที่แล้ว จนกระทั่งได้รับแรงบันดาลใจในการจัดนิทรรศการลักษณะนี้ ในพื้นที่ที่เปิดกว้างกว่าห้องสัมมนาในโรงแรม

“ซินดี้เห็นแค่ชุดก็รู้สึกว่าชุดนี้มันมีพลัง ในเมื่อเรามีชุดแล้ว ก็อยากเอาชุดนี้มาจัด ไม่ใช่แค่เฉพาะคนที่สนใจเรื่องสิทธิสตรี แต่อยากจะใส่ไว้ในห้างให้คนที่เดินไปเดินมา ที่อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำ ให้เขาเห็นว่าเราจะมาพูดกันแต่เรื่องเสื้อผ้าเหรอ เราจะมายึดติดกับแค่เสื้อผ้าที่ผู้หญิงสวมใส่เหรอ มันก็เลยเป็นไอเดีย แต่ว่าเราเอามาต่อยอดด้วยการมีดารา เซเลบ เพราะว่าเมืองไทย ถ้ามีดาราหรือคนมีชื่อเสียงออกมาพูด คนก็จะสนใจ ซึ่งทุกอย่างพอมารวมตัวแล้วมันเวิร์ก คือมีความซีเรียสของตัวชุด แล้วก็มีดาราที่มาด้วยข้อความและสถิติต่างๆ ที่ซินดี้พยายามสื่อผ่านภาพของเขา ดูเป็นงานศิลปะ มันก็เลยอิมแพคมากๆ” คุณซินดี้อธิบาย

จากความสำเร็จของนิทรรศการดังกล่าว ทำให้หลายหน่วยงานหันมาสนใจประเด็นเรื่องเสื้อผ้าของผู้หญิงกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น ทำให้นิทรรศการนี้ถูกนำไปจัดแสดงในสถานที่ต่างๆ โดยล่าสุด คุณซินดี้เล่าว่า นิทรรศการ Don’t Tell Me How to Dress นี้ กำลังจะไปจัดแสดงที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ด้วย และเธอเองก็ตั้งใจว่า ในขั้นต่อไปจะมีการนำภาพถ่ายของนักแสดงมาประมูลเพื่อหารายได้ สำหรับจัดกิจกรรมต่อไป รวมทั้งมอบรายได้ส่วนหนึ่งให้แก่ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วย

ที่ผ่านมา การลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในเรื่องต่างๆ มักจะต้องรับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบอยู่บ่อยครั้ง แต่สำหรับแคมเปญ #DontTellMeHowtoDress นี้ กลับพบกระแสตอบรับในแง่ลบน้อยมาก ซึ่งเรื่องนี้ คุณซินดี้ยืนยันว่าชาวเน็ตส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับแคมเปญนี้ หรือหากมีคนไม่เห็นด้วย ก็จะเป็นการอธิบายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล

“เราเลือกที่จะฟังคนที่เห็นด้วย หรือคนที่มาแสดงความคิดเห็น เพราะเวลาซินดี้ทำ ซินดี้จะเลือกวิธีพูด ไม่ใช่มาแบบนักกิจกรรมเหยียดผู้ชาย คือเรื่องนี้มันต้องเป็นความร่วมมือระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง It’s not us against them. เราต้องอยู่ร่วมกันอยู่แล้ว แต่ผู้หญิงก็ต้องมีจุดยืนแล้วก็เรียกร้องสิ่งที่มันต้องมีมานานแล้ว ก็คือความเป็นธรรม เพราะฉะนั้น วิธีสื่อสารของซินดี้จะค่อนข้างตั้งใจสื่อให้มันเป็นอะไรที่คนรับได้ง่าย แล้วก็พูดแบบมีเหตุผล ไม่ได้รุนแรง แล้วก็ด้วยภาพลักษณ์และชื่อเสียงของซินดี้ที่ไม่เคยออกมารณรงค์เรื่องนี้มาก่อน คนก็คงเห็นว่าเราทำด้วยใจจริงๆ”

“อาชีพนางแบบหรือการที่เราเป็นนักแสดง เป็นคนมีชื่อเสียงอาจจะทำให้เรากล้าพูดมากขึ้น เพราะเรารู้ว่าจะมีคนฟัง ทำให้ซินดี้ไม่มองข้ามจุดนี้ ถ้าก่อนหน้านี้ ตอนที่เราเป็นวัยรุ่น เราอาจจะไม่กล้า เพราะคงไม่มีใครฟัง นี่คือสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนรู้สึก แต่ถ้าเราเงียบไป มันก็จะทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ จริงๆ แล้ว ผู้หญิงทุกคนมีหน้าที่และมีสิทธิที่จะพูด เพียงแต่ว่าเราหาแพลตฟอร์ม แล้วก็หาคน ซึ่งมีอยู่แล้วแหละ อย่างตอนนี้ซินดี้ก็ตั้งเป็นอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กกรุ๊ปด้วย เพื่อที่จะให้คนเข้ามาแชร์เรื่องราวและทำกิจกรรม เพื่อให้เป็นชุมชน แล้วก็ช่วยกันเป็นกระบอกเสียงเพื่อสร้างความตระหนัก” คุณซินดี้กล่าว

นอกจาก #DontTellMeHowtoDress จะเปิดพื้นที่ให้แก่ผู้หญิงในการบอกเล่าเรื่องราวและแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิต แคมเปญนี้ยังเปิดโลกของคุณซินดี้ในการเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคของผู้หญิงในสังคมไทย ที่ไม่ใช่แค่การแต่งกาย แต่ยังเกี่ยวข้องกับสิทธิสตรี และการศึกษาของเด็กๆ จากการทำงานร่วมกับมูลนิธิและหน่วยงานเพื่อผู้หญิงต่างๆ

“อีกหนึ่งปัญหาหลักที่ซินดี้เพิ่งจะมาเรียนรู้และเข้าใจคือ การคุกคามทางเพศ ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากคนรู้จัก แล้วเราจะมาบอกว่าผู้หญิงใส่สายเดี่ยว แล้วผู้ชายห้ามใจตัวเองไม่ได้ ไม่ใช่ มันเป็นการวางแผน มันเป็นการเอาเปรียบผู้หญิง เพราะผู้ชายยังมีความรู้สึกว่าเขาเป็นใหญ่ เขาสามารถทำได้ แล้วอีกสาเหตุหลักเลยที่เกิดขึ้นก็เพราะว่าทำไปแล้วไม่ได้รับการลงโทษ เมื่อผู้หญิงโดนลวนลาม หรือคุกคาม หรือข่มขืน การที่เขาจะไปแจ้งความก็ยากแล้ว แล้วพอไปแจ้งความและเจอกับเจ้าหน้าที่ คำถามแรกก็คือ ทำตัวแบบไหน แต่งตัวแบบไหน ไปอ่อยเขาหรือเปล่า ผู้หญิงคนนี้เขาจะไปต่ออย่างไร ในเมื่อเจ้าหน้าที่ที่ควรเป็นคนดูแล ไม่ได้ให้การตอบรับที่ดี หรือบางทีแจ้งไปแล้วก็มีกระบวนการไกล่เกลี่ยนอกระบบ อันนี้จะเกิดขึ้นเยอะในกรณีที่เป็นสามีภรรยา หรือเป็นคนในครอบครัว”

และนอกจากการรณรงค์เรื่องสิทธิในการแต่งกายของผู้หญิงแล้ว คุณซินดี้ยังได้ร่วมงานกับ โครงการ Bangkok Safe City เพื่อรณรงค์เรื่องความปลอดภัยของผู้หญิงในการขนส่งมวลชน โดยให้คนในสังคมเป็นหูเป็นตา คอยสอดส่องดูแลความปลอดภัยของเพื่อนร่วมทาง ตามด้วยเวิร์กช็ช้อปศิลปะป้องกันตัว ที่เธอกำลังโปรโมตอยู่ในขณะนี้

“เรื่องแบบนี้มันต้องใช้เวลา ใช้จังหวะด้วย แต่ซินดี้ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หากสังคมเรามีการพูดเรื่องนี้มากขึ้น เรียกร้องมากขึ้น มันก็อาจจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของระบบกฎหมาย ระบบความปลอดภัยสำหรับผู้หญิง แต่ก็รอตรงนั้นอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนด้วย และจริงๆ แล้วเราก็มีทางออกเยอะเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราต้องไม่เฉยกับมัน ถ้าวันนี้มันเกิดขึ้นกับคนที่คุณรู้จัก หรือเกิดขึ้นกับตัวคุณเอง คุณจะยังเฉยอยู่ไหม” คุณซินดี้กล่าว

เมื่อหนทางที่จะยุติปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่แค่การสั่งให้ผู้หญิงแต่งตัวเรียบร้อย แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในสังคม ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อแม่ ที่ต้องปลูกฝังความเข้าใจเรื่องเพศให้แก่ลูกๆ ตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยินยอม สิทธิส่วนบุคคล และคุณค่าในตัวเอง ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีการสอนเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากพ่อแม่มักจะรู้สึกอาย แต่ไม่ใช่กับครอบครัวบิชอพ

“มันมีวิธีสอนที่ถูกต้องตามอายุของเขา อย่างเอเดน 5 – 6 ขวบ จะแค่สอนว่าอวัยวะเพศคืออะไร และมันไม่ใช่สิ่งที่จะมาเปิดให้คนอื่นดู หรือให้คนอื่นจับ เราสอนน้องแบบนี้เลย น้องเป็นคนเดียวที่จับได้ แม่จะสอนวิธีดูแลความสะอาด แต่หนูเป็นคนทำเองตั้งแต่เด็กเลย พอเข้าวัยของเลย์ลา เขาเริ่มถามซินดี้แล้วว่าเด็กทารกมาจากไหน พอลูกถาม เราก็มีหน้าที่ตอบ แต่ไม่ได้เข้ารายละเอียด เพราะเด็กเขาก็ไม่รู้จะถามอะไรด้วย เราไม่ต้องไปกังวล เราก็แค่อธิบาย จบ สเต็ปต่อไปก็น่าจะเป็นตอนที่เขาเริ่มเป็นสาว ก็คงจะเข้าเรื่องของผู้หญิง แล้วช่วงวัยรุ่นก็น่าจะพูดให้ฟังอีกทีว่ากลไกจริงๆ มันเป็นอย่างไร ความรับผิดชอบตรงนี้คืออะไรอย่างไร แต่ทุกๆ สเต็ปจะต้องพูดเรื่องการยินยอม และเรื่องความเคารพซึ่งกันและกัน สอนไปด้วยในทุกระดับ”

“เวลาสอนลูกเรื่องอวัยวะเพศ เราก็จะบอกชื่อจริงๆ ของมัน แล้วก็สอนว่ามันคือเรื่องปกติ ไม่มีการเขินอาย เพราะตราบใดที่เราใช้คำเลี่ยงหรือมีปฏิกิริยาที่เขินอาย และรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ควรจะปกปิด เด็กจะรู้สึกว่าเอ๊ะ มันเป็นเรื่องที่ไม่ดีหรือเปล่า แล้วเขาจะเก็บกด แล้วไม่พูดกับเราเลย และนั่นเป็นปัญหาที่น่ากลัวที่สุด เขาจะเติบโตเป็นคนที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก มันต้องเริ่มจากพ่อแม่ ไปแก้ตอนที่เขาเข้ามหาวิทยาลัยหรือมัธยมก็สายไปแล้ว” คุณซินดี้อธิบาย

และสำหรับสาวๆ ที่อยากจะแชร์ประสบการณ์ หรืออยากพูดคุยขอคำแนะนำเกี่ยวกับการรับมือกับปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งร่วมแสดงจุดยืนให้ทุกคนหันมาเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ก็สามารถคลิกไปได้ที่เฟซบุ๊ก donttellmehowtodress หรืออินสตาแกรม @donttellmehowtodress และสามารถพูดคุยกับคุณซินดี้ได้โดยตรงที่เฟซบุ๊ก Cindy Sirinya Bishop และอินสตาแกรม @cindysirinya

>> เปิดภาพครอบครัว ซินดี้ สิรินยา พ่อแม่ลูกสวยหล่อยกบ้าน

>> งานดีจนต้องมอง "น้องเอเดน" ลูกชาย "ซินดี้ สิรินยา" หล่อระเบิด

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ “ซินดี้ – สิรินยา” กับบทบาทใหม่ในแคมเปญเพื่อผู้หญิง #DontTellMeHowtoDress

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook