กินเห็ด (ให้) เป็นยา

กินเห็ด (ให้) เป็นยา

กินเห็ด (ให้) เป็นยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คะเนกันว่าบนโลกนี้มีเห็ดมากกว่าหนึ่งแสนชนิด แต่ที่มนุษย์รู้จักมีเพียงร้อยละสิบ และมีอยู่ 6 ชนิดที่โดดเด่นด้วยสรรพคุณทางยา จนได้รับการขนานนามว่า "เห็ดทางการแพทย์"

เห็ดทางการแพทย์หรือ Medicinal Mushrooms เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ได้เห็นและได้ยินบ่อยมากในระยะนี้ มันคืออะไร เห็ดสายพันธุ์ใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่จากเห็ดกันแน่ หลังตกอยู่ในสภาวะคาใจได้ไม่นาน  ความสงสัยก็ผลักดันให้ต้องฝ่าน้ำท่วมไปหาข้อมูลมาฝากกันเช่นเคย  เป็นที่มาของบทความในมือคุณขณะนี้นั่นเอง ไม่ใช่พืช ไม่ใช่สัตว์ หากแต่เป็น "เห็ด" เห็ดคือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ทั้งพืชและสัตว์ แต่ประกอบไปด้วย  สามทหารเสือ อันได้แก่ เห็ด รา และยีสต์ มีหน้าที่ตามธรรมชาติในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ข้อดีที่เห็นชัดเจนคือ เป็นตัวบ่งชี้ความบูดเน่าของอาหารหรือเป็นหลักฐานแสดงความเก่าเก็บแก่ข้าวของ มนุษย์เรารู้จักประโยชน์จากเห็ด รา และยีสต์มาเนิ่นนานแล้ว 

ทั้งจากการค้นพบยาเพนนิซิลลินจากเชื้อราบนขนมปัง การค้นพบชีสโดยบังเอิญของคนเลี้ยงแกะในยุโรป การใช้ยีสต์เพิ่มความนุ่มฟูแก่  ขนมปัง กระทั่งภูมิปัญญาการแพทย์แผนโบราณของเราชาวโลกตะวันออก โดยเฉพาะชาวจีนและญี่ปุ่นที่มีบันทึกตำรายาว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากเห็ดในฐานะยามาเนิ่นนาน ด้วยเหตุนี้เอง วงการวิทยาศาสตร์จึงเริ่มหันมาสนใจศึกษาสรรพคุณทางยาของเห็ดกันอย่างจริงจังเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว โดยเน้นไปที่เห็ดในตำรายาของชาวจีนและญี่ปุ่น อันเป็นที่มาของ "เห็ดทางการแพทย์"  หรือ Medicinal Mushrooms ในปัจจุบัน "เห็ดเป็นยา" จากภูมิปัญญาสู่การรักษาโรค ในบรรดาเห็ดกินได้บนโลก หลายชนิดใช้เป็นอาหารเพียงอย่างเดียว
เช่นกันกับอีกหลายชนิดที่ใช้เป็นยารักษาโรคได้ ในเมืองไทยเองพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า  มีเห็ดถือกำเนิดขึ้นในบ้านเรากว่าหมื่นชนิด แต่ที่ถูกค้นพบและบันทึกในฐานข้อมูลมีเพียงหนึ่งพันชนิด โดยกว่าแปดร้อยชนิดเป็นเห็ดที่ขึ้น

แถบภาคอีสาน กว่าครึ่งนั้นเป็นเห็ดกินได้และใช้เป็นยาได้ ในคราวนี้เราจะพูดถึงเห็ดเพียง 6 ชนิดที่มีการค้นคว้าวิจัยแล้วทั่วโลก และได้รับการยกย่องให้เป็นเห็ดทางการแพทย์ ซูเปอร์เห็ด  ทั้ง 6 ชนิด ได้แก่ เห็ดไมตาเกะ (Maitake Mushroom) ได้ชื่อว่าเป็น "ราชาของเห็ดทั้งปวง" โดยพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยาได้ให้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า "เห็ดขอนช้อนซ้อน" เพราะมักพบตามขอนไม้และมีรูปร่างคล้ายช้อนเรียงซ้อนกันอยู่ นับเป็นหนึ่งในเห็ดซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยไมตาเกะหนึ่งดอกนั้นอาจมีขนาดเท่าลูกบาสเกตบอลได้เลย ชาวจีนและญี่ปุ่นใช้ไมตาเกะเป็นยาสมุนไพรมานานปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้เป็นยาลดความดันโลหิต ปัจจุบันเห็ดไมตาเกะได้พิสูจน์คุณค่าผ่านการวิจัยแล้วว่าช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ จึงมีส่วนช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิต รวมทั้งมะเร็ง ทั้งยังประกอบไปด้วยสารอาหารสำคัญมากมาย ทั้งโพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม เส้นใยอาหาร กรดแอมิโน และวิตามินอีกหลายชนิด ด้วยคุณสมบัติทางการแพทย์ดังกล่าว ประกอบกับเห็ดที่มีน้อยในธรรมชาติ จึงทำให้เห็ดไมตาเกะมีราคาสูงและมักนำมาสกัดเป็นเม็ดเพื่อประโยชน์ทางการรักษาโรค เห็ดยามาบูชิตาเกะ (Yamabushitake Mushroom) บางคนเรียก "เห็ดหัวลิง" หรือ "เห็ดปุยฝ้าย" เป็นอีกหนึ่งเห็ดหายากในธรรมชาติจึงได้ฉายาว่า "Mountain Hidden Mushroom" เพื่อการใช้ประโยชน์ทางยา ทุกวันนี้จึงมีการเพาะเลี้ยงในระบบปิดเพื่อควบคุมคุณภาพและเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จากการวิจัยด้านโภชนาการทำให้พบว่า เห็ดหัวลิงนี้เป็นแหล่งโปรตีนชั้นยอด เพราะมีกรดแอมิโนเป็นส่วนประกอบมากถึง 16 ชนิด


โดย 7 ชนิดนั้นเป็นกรดแอมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งยังมีสารเลนติแนน(Lentinan) และเปปไทด์ที่มีผลต่อการเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย นอกจากนี้ตำราการแพทย์ของจีนระบุไว้ว่า เห็ดชนิดนี้ใช้บำรุงร่างกาย เป็นยาเพิ่มพลังวังชา และช่วยต้านมะเร็ง เห็ดหลินจือ (Reishi, Ling Chih or Ling Zhi Mushroom)เห็ดชื่อดังของชาวจีนที่มีประวัติการใช้งานมานานตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 1 หรือราว 2,000 ปีล่วงมาแล้ว โดยชาวจีนโบราณนิยมใช้เห็ดหลินจือรักษาอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ กำจัดสารพิษ รักษาหอบหืดและบรรเทาอาการไอ แต่เทคโนโลยีทุกวันนี้ทำให้เรารู้ว่าเห็ดหลินจือมีประโยชน์มากกว่านั้น เพราะมีคุณสมบัติช่วยลดอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ บำรุงตับ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ชะลอวัย ช่วยต้านแบคทีเรียไวรัส และมะเร็งได้อีกด้วย นอกจากคุณสมบัติทางการแพทย์ที่แทบจะครอบจักรวาล เห็ดหลินจือในธรรมชาติยังเติบโตช้า พบได้น้อยและมักอยู่ในป่าลึก  โดยเฉพาะตามขอนไม้ผุๆ หรือซากต้นไม้ในเขตชายทะเล ส่งผลให้มีราคาสูงมากตามไปด้วย และเห็ดหลินจือที่นิยมมากที่สุดทั้งในภูมิภาคเอเชียและอเมริกาเหนือนั้นเป็นสายพันธุ์สีแดง เห็ดถั่งเฉ้า (Cordyceps) เห็ดหน้าตาประหลาดที่ชาวตะวันตกเรียกขานว่า "เห็ดตัวหนอน" หรือ Caterpillar Fungus เพราะวงจรชีวิตนั้นมักอยู่บนตัวอ่อนหนอนผีเสื้อ จัดเป็นเห็ดหายากชนิดหนึ่งเนื่องจากพบได้เฉพาะตามแถบภูเขาสูงในเอเชีย เมื่อครั้งอดีตมักใช้เป็นยาสมุนไพรสำหรับชนชั้นสูง เพื่อเป็นยาโป๊วบำรุงกำลัง บำรุงปอด ไต หัวใจ และระบบภูมิคุ้มกัน ปัจจุบัน

นักวิชาการพบว่าเห็ดถั่งเฉ้านี้มีสารประกอบที่ดีต่อระบบทางเดินหายใจช่วยให้ปอดนำออกซิเจนไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยกระตุ้นการผลิตฮอร์โมน ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานดีอยู่เสมอนั่นเอง เห็ดชิตาเกะ (Shitake Mushroom) หรือในภาษาจีน ภาษาเวียดนาม และภาษาไทย มีชื่อเรียกที่แปลได้ตรงกันว่า "เห็ดหอม" เห็ดชนิดนี้ไม่ได้มีราคาเกินเอื้อม ดังจะเห็นได้บ่อยในเมนูทั่วไปที่กินกันอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะเมนูอาหารจีนนั้นแทบจะขาดเห็ดหอมไม่ได้เลย เช่นเดียวกันกับประวัติการแพทย์จีนที่มีชื่อเห็ดหอมอยู่เคียงคู่มานานกว่า 6,000 ปีแล้ว  คนจีนโบราณนิยมใช้เห็ดหอมเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงเลือดลม ป้องกันมะเร็ง โรคหัวใจและโรคติดเชื้อจากไวรัส สมัยราชวงศ์หมิง เห็ดหอมยังเป็นสมุนไพรชะลอชราและช่วยเพิ่มพลังอีกด้วย ตัวเลขทางโภชนาการปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า เห็ดหอม 1 ถ้วยมีวิตามินบี 3 มากถึงร้อยละ 30 ของที่ร่างกายต้องการต่อวันเลยทีเดียว ไม่นับสารอาหารอื่นๆ อีกเพียบ ที่สำคัญคือเห็ดหอมมีสารเลนติแนนที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้พร้อมต่อสู้เชื้อโรคอยู่เสมอ และยังช่วยลดไขมันในเลือดได้ด้วย เห็ดแครง (Schizophyllum Commune) หรือ "เห็ดตีนตุ๊กแก" เป็นเห็ดที่พบได้ทั่วไปออกดอกตลอดปี และมีในเมืองไทย โดยเมนูสุดฮิตจากเห็ดแครงนั้นได้แก่ ไข่เจียว แกงกะทิห่อหมก และงบ นอกจากรสชาติอร่อยถูกปากแล้ว เห็ดแครงยังมีสารสำคัญคือ Schizophyllanที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเนื้องอก โดยไปเพิ่มประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันร่างกายเช่นเดียวกับเห็ดอื่นๆ เห็นประโยชน์นานาประการอย่างนี้แล้ว ชวนให้หิวเห็ดขึ้นมาบ้างหรือยังคะ ว่าแต่เห็ดบนโลกนี้มีตั้งมากมาย ทำไมเห็ดทางการแพทย์ต้องเป็นแค่เห็ดทั้งหกชนิดดังกล่าว หัวข้อต่อไปคือคำตอบค่ะ เรื่องไม่ลับของซูเปอร์เห็ดทั้ง 6 อ่านคุณสมบัติของซูเปอร์เห็ดทั้ง 6 มาจนครบถ้วนแล้ว คุณผู้อ่านหลายคนอาจจะสังเกตเห็น

คุณประโยชน์ที่เป็นลักษณะร่วมกันได้บ้างแล้ว นั่นก็คือ เห็ดทางการแพทย์ดังกล่าวมีส่วนสำคัญยิ่งในการ "เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน" ซึ่งเป็นแนวรบที่ดีที่สุดของร่างกายสำหรับรับมือกับโรคเบาๆ อย่างโรคหวัดไปจนถึงโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์นั่นเลยทีเดียว แล้วอะไรที่ทำให้เห็ดทั้ง 6 มีคุณค่าชนะเลิศเห็ดอีกนับแสนชนิด คำตอบมีเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ เบต้ากลูแคน (Beta-glucan) หรือสารประกอบน้ำตาลโมเลกุลเชิงซ้อน (พอลิแซคคาไรด์)ชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติเป็นเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำ ช่วยในการย่อยและขับถ่าย ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นสารมหัศจรรย์เพราะมีคุณค่าหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ตื่นตัวพร้อมรับมือเชื้อโรคเสมอ ช่วยลดความรุนแรงจากการติดเชื้อ และทำให้ร่างกายฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยเร็วขึ้น นอกจากนี้เบต้ากลูแคนยังมีประโยชน์ด้านความงาม เพราะช่วยผลัดเซลล์ผิว ชะลอวัย และรักษาสิวได้ดังจะเห็นได้จากผลิตภัณฑ์เพื่อความงามหลายชนิดที่ใช้เบต้ากลูแคนเป็นส่วนผสม เช่น ครีมกันแดด เซรั่มปกป้องผมจากแสงแดด ครีมรักษาสิว ครีมลดรอยแผลเป็นเป็นต้น  ทุกวันนี้เบต้ากลูแคนจากเห็ดทางการแพทย์ทั้ง 6 ชนิดถูกสกัดออกมาเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับใช้เป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ แต่สำหรับผู้ที่ไม่นิยมกระแสทางลัดสุขภาพดี ยังสามารถมีสุขภาพดีจากอาหารตามธรรมชาติได้เช่นกัน อยากได้เบต้ากลูแคน กินอะไรทดแทนดี สำหรับคนรักสุขภาพที่ต้องการคุณค่าจากเบต้ากลูแคนสามารถค้นพบประโยชน์จากสารมหัศจรรย์นี้ได้ในอาหารจำพวกยีสต์ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต จมูกข้าว และสาหร่าย

นอกจากนี้เห็ดกินได้ชนิดอื่นๆ ยังมีประโยชน์มากมาย  เช่นกัน แม้จะมีเบต้ากลูแคนน้อยกว่าซูเปอร์เห็ดทั้ง 6ก็ตาม แต่สิ่งที่คุณจะได้แน่ๆ จากบรรดาเห็ดแสนอร่อยก็คือ โปรตีน เส้นใยอาหาร วิตามินและเกลือแร่ในปริมาณสูง แต่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ยกตัวอย่างเช่น เห็ดแชมปิญองซึ่งมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการต่อวันสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นซีลีเนียมร้อยละ 52 วิตามินบีร้อยละ 40ทองแดงร้อยละ 35 ทริปโตแฟนร้อยละ 25 ฟอสฟอรัสร้อยละ 18 และโปรตีนร้อยละ 10 เป็นต้น มาถึงบรรทัดนี้คุณคงรู้แล้วว่า สิ่งสำคัญของเห็ดทางการแพทย์นั้นก็คือเบต้ากลูแคนสารมหัศจรรย์จากเห็ดที่มีคุณค่ายิ่งต่อร่างกาย ส่วนจะเลือกคุณค่าจากเห็ดธรรมชาติหรือเห็ดที่ผ่านการสกัดเข้มข้น แล้วแต่ความชอบละกันนะคะ 

 

Nice to Know
สำหรับผู้ที่สนใจค้นคว้าเพิ่มเติมเรื่องเห็ดทางการแพทย์ สามารถเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์
ทางยาได้ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม พิพิธภัณฑ์
เห็ดที่แรกและที่เดียวในเมืองไทยและในเอเชียที่รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเห็ดเป็นยาไว้มากมาย
ติดต่อได้ที่ โทร. 0-4375-4248 ต่อ 1127, 1179 ในวันและเวลาราชการ หรือดาวน์โหลด
แบบฟอร์มเข้าเยี่ยมชมได้ที่ www.mushroom.msu.ac.th

ขอบคุณ : ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์พิเศษสำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ข้อมูล : The International Journal of Medicinal Mushrooms, www.betaglucan.org, www.whfoods.org

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook