รู้จัก 5 นักวิจัยสตรีผู้ได้รับทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2561

รู้จัก 5 นักวิจัยสตรีผู้ได้รับทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2561

รู้จัก 5 นักวิจัยสตรีผู้ได้รับทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2561
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพราะเชื่อมั่นมาตลอดว่าการค้นคว้าวิจัยจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นจุดยืนของลอรีอัล และถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจมากว่า 100 ปี บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เดินหน้าโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2561 เป็นปีที่ 16 ประกาศรายชื่อ 5 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่นที่ได้รับทุนโครงการฯ และสานต่อการสนับสนุนงานด้านการค้นคว้าและวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

สำหรับปีนี้ นักวิจัยสตรีทั้ง 5 ท่าน จาก 2 สาขา ได้แก่  สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คือ ดร. จันทร์เจ้า ล้อทองพานิชย์ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การเพิ่มอัตราการผลิตเกล็ดเลือดจากเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อประโยชน์ทางการรักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดพร่อง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร. วริษา พงศ์เรขนานนท์ จากภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาบทบาทของโปรตีน CAMSAP ต่อความรุนแรงของเซลล์มะเร็งปอด” และ ดร. วิรัลดา ภูตะคาม จากห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษากระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลและการประเมิน ความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทยเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน” ด้านสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ คือ ดร. จุฬารัตน์ วัฒนกิจ จากสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การสังเคราะห์สารอิแนนทิโอเมอร์และการแยกไครัลโมเลกุลด้วยเทคนิคทางเคมีไฟฟ้าบนขั้วโลหะเคมีไฟฟ้า” และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรภา เทียมจรัส จากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูและอำนวยความสะดวก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กับผลงานวิจัยหัวข้อ “ระบบเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย”

 ดร. จันทร์เจ้า ล้อทองพานิชย์ ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงงานวิจัยว่า “เกล็ดเลือดคือส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัวเมื่อมีบาดแผล ช่วยอุดรอยฉีกขาดของเส้นเลือด ในปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ต้องได้รับเกล็ดเลือดเพื่อการรักษาเนื่องจากไขกระดูกสร้างได้น้อยรวมถึงผู้ป่วยที่สูญเสียเกล็ดเลือดจำนวนมากจากการเสียเลือดจากการผ่าตัดและอุบัติเหตุ อย่างไรก็ดีสภาวะเลือดคงคลังของโรงพยาบาลรวมทั้งสภากาชาดไทยนั้นมีอยู่จำกัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของไข้เลือดออกหรือช่วงเทศกาลที่มีการเดินทางที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เริ่มทำการวิจัยการเพิ่มอัตราการผลิตเกล็ดเลือดจากเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อประโยชน์ทางการรักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดพร่อง ซึ่งจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้และ ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยที่ต้องได้รับเกล็ดเลือดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เมื่อผู้ป่วยได้รับเกล็ดเลือดเพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะส่งผลให้สุขภาพดีขึ้น ลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ลดภาระค่าใช้จ่าย และยังช่วยเปิดโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน เกิดการจ้างงาน ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อสังคมและประเทศชาติได้”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร. วริษา พงศ์เรขนานนท์ ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดจำนวนมาก อีกทั้งเซลล์มะเร็งปอดยังเป็นเซลล์ที่มีความรุนแรงสูง มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และมีการดื้อต่อยาเคมีบำบัดสูง จึงทำให้มีอัตราการรอดชีวิตต่ำ ดังนั้นการศึกษาบทบาทของโปรตีน CAMSAP ต่อความรุนแรงของเซลล์มะเร็งปอดในระดับโมเลกุล เป็นงานวิจัยพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ที่มีส่วนช่วยในการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานใหม่ทางด้านชีววิทยาของเซลล์มะเร็ง หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจพื้นฐานถึงกลไกระดับโมเลกุลของเซลล์มะเร็ง ก็จะสามารถนำไปสู่การหาโมเลกุลเป้าหมายของการออกฤทธิ์ของยาต้านมะเร็ง และอาจสามารถนำไปสู่งานวิจัยต่อยอดในการค้นคว้าพัฒนายาต้านมะเร็งได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด และมีประสิทธิผลได้ต่อไปในอนาคต”

ด้าน ดร. วิรัลดา ภูตะคาม ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวถึงรายละเอียดงานวิจัยว่า “แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญในท้องทะเล เป็นทั้งแหล่งอาหาร ที่อาศัย ที่หลบภัยของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด มีประชากรกว่าหลายล้านคนบนโลกที่อาศัยพึ่งพาประโยชน์จากแนวปะการังและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลกโดยเฉพาะการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลเป็นปัจจัยคุกคามที่ทำลายแนวปะการังหลายแห่งทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก นั่นจึงเป็นที่มาของการศึกษากระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลและการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทยเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน ด้วยการวิจัยเก็บตัวอย่างปะการังที่กระจายอยู่ในอ่าวไทยและทะเลอันดามันมาสกัดดีเอ็นเอเพื่อใช้ในการเพิ่มจำนวนชิ้นส่วนของดีเอ็นเอบาร์โค้ดและประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรม ควบคู่ไปกับการสกัดอาร์เอ็นเอเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบระดับการแสดงออกของยีนในปะการังระหว่างสภาวะอุณหภูมิน้ำทะเลสูงเทียบกับสภาวะอุณหภูมิปกติ พร้อมกับทำการเปรียบเทียบการแสดงออกของยีนระหว่างปะการังโคโลนีที่ทนร้อนและโคโลนีที่ฟอกขาวรุนแรงในช่วงที่อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น โดยผลของงานการวิจัยจะช่วยทำนายโอกาสในการอยู่รอดของแนวปะการังไทยเมื่อสภาวะแวดล้อมเกิดการแปรปรวนในอนาคต อีกทั้งยังเป็นประโยชน์แก่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการคัดเลือกปะการังเพื่อนำไปขยายพันธุ์ก่อนทำการย้ายปลูกกลับสู่ทะเลภายใต้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการังให้ดำรงสภาพสมบูรณ์อย่างยั่งยืนได้ต่อไป”

ในอีกด้านหนึ่งสำหรับ ผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ดร. จุฬารัตน์ วัฒนกิจ จากสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี ก็ได้กล่าวว่า “ปัจจุบัน สารอิแนนทิโอเมอร์ (Enantiomer) ที่มีความบริสุทธิ์สูงและมีความสำคัญในอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอางและเคมีวิเคราะห์นั้นเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดทั้งทางด้านการพัฒนากระบวนการแยกสารและการผลิต ด้วยเหตุนี้ การสังเคราะห์สารอิแนนทิโอเมอร์และการแยกไครัลโมเลกุลด้วยเทคนิคทางเคมีไฟฟ้าบนขั้วโลหะเคมีไฟฟ้าเพื่อให้ได้สารที่ต้องการนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เราจึงได้ทำการพัฒนาและออกแบบตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้าโลหะ เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสารผลิตภัณฑ์ที่มีโครงสร้างโมเลกุลตามที่ต้องการ ปัจจุบันสามารถพัฒนาวัสดุเพื่อใช้ในการผลิตสารผลิตภัณฑ์อิแนนทิโอเมอร์ของสารประกอบอนุพันธ์ในน้ำมันชีวภาพ (Bio-oil) ได้แล้ว ซึ่งช่วยพัฒนาค่าการเลือกเกิดของสารผลิตภัณฑ์อิแนนทิโอเมอร์ที่ต้องการได้สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับเป็นการสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่สำหรับการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยา และการใช้เทคนิคทางเคมีไฟฟ้าในการออกแบบวัสดุที่มีรูพรุนแบบต่างๆ เพื่อใช้ในกระบวนการเปลี่ยนสารชีวมวลหรือสารเหลือใช้จากแหล่งวัตถุดิบทางธรรมชาติ ด้วยเทคนิคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นรากฐานที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานในการพัฒนาอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมทางเคมีวิเคราะห์ ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตยาลดลง ส่งผลทำให้ราคายาและเครื่องสำอางลดต่ำลงอีกด้วย”

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรภา เทียมจรัส ผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ประชากรอายุ 60 ปีและมากกว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งประชากรสูงอายุมีความต้องการบริการด้านสุขภาพทั้งในการป้องกัน การรักษาและการฟื้นฟูอย่างมาก แต่รัฐบาลอาจไม่สามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุม นอกจากนี้สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุต่อจำนวนประชากรวัยทำงาน ยังจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแล ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเพื่อสนับสนุนการเฝ้าระวังและดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งจำเป็น เราจึงได้ศึกษาพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยีโครงข่ายเซนเซอร์ร่างกายและไอโอที (Internet of Things; IoT) มาใช้สนับสนุนระบบการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย  เริ่มต้นจากการศึกษาความต้องการของผู้ใช้จากผู้ดูแล ผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุจากหลายๆ แหล่ง  เพื่อนำมาพัฒนาอุปกรณ์และระบบสำหรับเฝ้าระวัง ตรวจจับ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น ปัญหาแผลกดทับและการลื่นหกล้ม เป็นต้น เซนเซอร์อัจฉริยะขนาดเล็กจะคอยเฝ้าระวังผู้สวมใส่และแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลหากมีเหตุการณ์ไม่พึ่งประสงค์เกิดขึ้น หรือผู้สวมใส่อยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ดูแลสามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที ด้วยทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมกิจกรรมของผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล  กองทุนนิวตัน (Institutional Links) และ ความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม (บริษัท ไวซ์ไซท์ จำกัด, หสม. ซอฟต์แวร์อิสระ, บริษัทเอเมทเวิร์คส์ จำกัด และ บริษัท อัลฟ่า อีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด)  สถานพยาบาล (โรงพยาบาลสมิติเวช และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย) และ ศูนย์แฮมลิน อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน ทำให้การศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีนี้มีความก้าวหน้า ช่วยเพิ่มองค์ความรู้ให้นักวิจัย ลดเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย อีกทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแลได้อีกด้วย”

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook