ดูแลใจลูกเราอย่างไร หลังน้ำท่วมใหญ่สงบ

ดูแลใจลูกเราอย่างไร หลังน้ำท่วมใหญ่สงบ

ดูแลใจลูกเราอย่างไร หลังน้ำท่วมใหญ่สงบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Q. ผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้สภาพจิตใจของผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยต้องการเวลาพอสมควรในการฟื้นฟู ทั้งคนที่ถูกน้ำท่วมหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อน้ำแห้งแล้ว ใช้ชีวิตปกติแล้ว ผู้ใหญ่จะดูแลสภาพจิตใจของเด็กๆ ทั้งเด็กเล็กและเด็กโตเรื่องอะไรบ้าง และควรดูแลอย่างไรครับ

 

ตอนที่พวกเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่เผชิญหน้าน้ำท่วม เริ่มตั้งแต่ความเครียดว่าน้ำจะมามั้ย น้ำมาแน่นอนแล้วนะ น้ำจะท่วมบ้านเราในอีกสามวันแล้ว น้ำท่วมแล้ว ช่วงเวลาเหล่านี้พวกเราเครียดกันทุกคนมากบ้างน้อยบ้าง ร่างกายจะหลั่งแอดรินาลิน(adrenaline) เพื่อรับมือความเครียด คงเคยได้ยินเรื่องเล่าประเภทไฟไหม้แล้วมีแรงอุ้มโอ่งน้ำทั้งใบวิ่งหนี ตอนน้ำมาพวกเรามีแรงขนกระสอบทราย ขนของขึ้นชั้นสอง ขับรถไปจอดบนทางด่วน เหล่านี้เป็นพลังเกินปกติที่มากับแอดรินาลินทั้งนั้น แอดรินาลินเป็นสารเคมีที่หลั่งออกมาด้วยวัตถุประสงค์ที่แจ่มชัด (purposeful) คือสู้กับน้ำ

 

 

 

 


ปัญหาคือเมื่อทุกอย่างสงบ ระดับแอดรีนาลินลดลง ปรากฏว่าระดับของซีโรโทนิน (serotonin) ในระบบประสาทส่วนกลางลดลงด้วย ทำให้พวกเราบางคนจะมีอาการเฉื่อยชาไปจนถึงซึมเศร้า กว่าระดับซีโรโทนินจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งใช้เวลาต่างกัน บางคนเร็ว บางคนช้า และบางคนไม่ขึ้นอีกเลยกลายเป็นโรคซึมเศร้า (major depression) หรือกลุ่มอาการหลังภัยพิบัติ (Post-traumatic Stress Disorder:PTSD) ซึ่งต้องรับการรักษา

 

เด็กไม่ได้เครียดแบบเรา ในขณะที่พวกเราเครียดเพราะศัตรูที่แจ่มชัดคือน้ำ เรามีปฏิกิริยาตอบโต้ที่ชัดเจนคือ สู้น้ำ เวลานั้นเด็กไม่ได้เครียดเพราะต้องสู้น้ำ แต่เด็กเครียดเพราะท่าทีของผู้ใหญ่ พูดง่ายๆว่าในช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่กำลังเตรียมสู้น้ำเต็มอัตราศึก ว้าวุ่นกับการหาที่ลี้ภัย หงุดหงิดกับการเจรจาเกลี้ยกล่อมให้คนสูงอายุยอมออกจากบ้าน ฯลฯ เด็กไม่ได้กลุ้มเรื่องน้ำแต่เด็กกลุ้มเรื่องพ่อแม่อารมณ์ไม่ดี อารมณ์เสีย ระเบิดอารมณ์ใส่คนอื่น แม้กระทั่งเผลอระเบิดอารมณ์ใส่กันบางเวลา เด็กไม่สบายใจกับเรื่องเหล่านี้มากกว่าเรื่องน้ำ


เมื่อน้ำลดลง พวกเราไปรับคนสูงอายุกลับมาบ้าน ถึงเวลาต้องทำใจเห็นบ้านที่จมน้ำอยู่หนึ่งเดือน หงุดหงิดกับการหาคนทำความสะอาดและช่างซ่อมต่างๆนานา กลุ้มใจเงินทองไม่พอจะซ่อมบ้าน แล้วลูกๆ ก็จะเปิดเทอมโดยไม่สนใจว่าซ่อมบ้านเสร็จหรือยัง ความหงุดหงิดของพ่อแม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เด็กไม่มีความสุข เด็กบางคนและเด็กบางวัยอาจจะคิดเอาเองได้ว่าพวกเขาเป็นต้นเหตุให้พวกเราอารมณ์ไม่ดีกันอยู่ตลอดเวลาและเริ่มโทษตัวเอง ทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้นอีก

 

ถ้าถามว่าจะดูแลเด็กๆ หลังน้ำท่วมอย่างไร เชื่อว่าจะมีคนออกมาแนะนำมากอยู่แล้ว แต่ผมอยากชี้ชวนให้เห็นว่าดูแลตัวเองให้ดีๆ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าเราดี จัดการความเครียดหลังน้ำท่วมได้ ก็เท่ากับดูแลเด็กอย่างดีไปในตัวครับ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook