เด็กๆ ก็เครียดได้นะ ลองสังเกตสัญญาณบอก ความเครียดในเด็ก พวกนี้ให้ดี
เป็นเด็กเป็นเล็กไม่น่าเครียด เราอาจจะคิดอย่างนั้น แต่ถึงจะเป็นเด็ก พวกเขาก็สามารถเครียดได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กในวัยที่เริ่มเข้าโรงเรียน ความเครียดในเด็ก อาจเกิดจากภาระงานที่โรงเรียน หรือปัญหาเรื่องเพื่อน ที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่มีความสุข และเครียด จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่
สาเหตุของ ความเครียดในเด็ก
สาเหตุที่ทำให้เด็กๆ ของเราเกิดความเครียด อาจเกิดจาก
- ความเจ็บป่วยทางร่างกาย
- กังวลเรื่องผลการเรียน หรือภาระงาน
- หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ เช่น การเป็นนักกีฬาของโรงเรียน
- มีปัญหากับเพื่อน ลูกอาจโดนเพื่อนรังแกที่โรงเรียน
- การต้องย้ายโรงเรียน หรือย้ายบ้าน
- มีความคิดลบๆ เกี่ยวกับตัวเอง
- การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ในทั้งเด็กผู้ชาย และเด็กผู้หญิง เช่น การมีหน้าอก เสียงแตกหนุ่ม
- พ่อแม่หย่าร้าง
- ปัญหาการเงินในครอบครัว
- สภาพสังคมละแวกเพื่อนบ้าน ไม่ปลอดภัย
สัญญาณที่บอกอาการเครียดในเด็ก
ไม่สบายบ่อยๆ
ความเครียดอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ถ้าเด็กๆ เข้าห้องพยาบาลบ่อย หรือมักจะบ่นว่าหนูปวดหัว ผมปวดท้อง และถ้ายิ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความเครียดอย่างช่วงสอบ แล้วลูกป่วยบ่อย เด็กๆ อาจกำลังโดนความเครียดเล่นงานอยู่ก็ได้ นอกจากนี้ความเครียดอาจทำให้ลูกมีอาการทางสุขภาพดังต่อไปนี้
- นอนมากเกินไปหรือนอนน้อยเกินไป กินมากเกินไปหรือกินน้อยเกินไป
- ปวดหัว
- ปัสสาวะรดที่นอน
- ฝันร้าย
- ปวดท้อง
คำพูดในแง่ลบ
เด็กๆ อาจยังไม่คุ้นเคยกับคำศัพท์ที่บอกอาการเครียด เขาจึงอาจพูดคำอื่นๆ แทน ซึ่งหมายถึงความเครียด เช่น กังวล สับสน รำคาญ และโกรธ คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตสัญญาณความเครียดของลูกได้จากคำพูดของเขา ลูกอาจจะพูดอะไรที่ไม่ดีออกมา เขาอาจจะว่าตัวเอง ว่าคนอื่น หรือโทษสิ่งต่างๆ เช่น ไม่มีใครรักหนู ผมมันโง่ ไม่มีอะไรสนุกเลย หรือทุกอย่างน่าเบื่อ
การเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์
สัญญาณแห่งความเครียดอีกอย่างหนึ่งคือ อารมณ์ที่เริ่มแปรปรวน โดยเด็กๆ อาจแสดงออกถึงอารมณ์ดังนี้
- กังวล
- ไม่สามารถคลายเครียดได้
- เกิดความกลัวใหม่ๆ เช่น กลัวความมืด กลัวคนแปลกหน้า กลัวการอยู่คนเดียว
- ติดพ่อ ติดแม่มากขึ้น
- โกรธจัด หรือร้องไห้หนักบ่อยๆ
- ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้
- ไม่เข้าร่วมกิจกรรมกับครอบครัว หรือกิจกรรมในโรงเรียน
ช่วยให้เด็กๆ คลายเครียดยังไงดี
- ทำกิจกรรมร่วมกันทั้งครอบครัว การรับประทานอาหารอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน หรือดูหนังด้วยกันทั้งครอบครัว ก็จะทำให้ลูกได้ใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งจะช่วยบรรเทาและช่วยป้องกันความเครียด
- เป็นแบบอย่างที่ดี เด็กมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดี ในการจัดการกับความเครียด และระวังพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การตะคอกใส่ผู้อื่น หรือการปาข้าวของเวลาเครียด อาจจะทำให้เด็กๆ เลียนแบบได้
- ชวนลูกออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะช่วยบรรเทาความเครียดในเด็กได้ เพราะหลังจากออกกำลังกายร่างกายจะหลั่งเอ็นดอร์ฟิน (Endorphine) ทำให้รู้สึกมีความสุข และช่วยบรรเทาความเครียดได้
- รับฟังปัญหาของลูก การรับฟังปัญหาของลูกด้วยความเข้าใจ จะช่วยทำให้ลูกรู้สึกสบายใจมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจพูดคุยกับลูก และแนะแนวทางในการแก้ปัญหา เมื่อลูกสามารถแก้ไขปัญหาได้เขาก็จะไม่รู้สึกเครียดอีกต่อไป
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ
หากเด็กๆ เริ่มมีอาการเหล่านี้ ให้พาไปพบคุณหมอทันที
- ปลีกตัวออกจากสังคม หรือซึมเศร้า
- มีปัญหาที่โรงเรียน หรือการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนหรือครอบครัว
- ไม่สามารถควบคุมความโกรธหรือพฤติกรรมของตนเองได้
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด