สร้างเสน่ห์ในบ้านของคุณด้วย ไม้ดอกหอม
ไม้ดอกหอม เสน่ห์อีกอย่างของพรรณไม้ ที่ไม่เพียงให้สีสัน รูปทรงที่งดงามเพลินตาแก่ผู้พบเห็น แต่กลิ่นหอมๆของดอกไม้นี่แหละครับ ชวนให้หลงใหลและสร้างจิตวิญญาณธรรมชาติให้กับสวนอย่างที่สุดด้วย ดอกไม้มีหลายชนิด และดอกของแต่ละสายพันธุ์ก็ผลิดอกทั้งส่งกลิ่นต่างเวลาต่างฤดูอีกด้วย มาดูกันว่าเราจะปลูกไม้หอมในสวนของเราให้ได้รื่นรมย์กลิ่นหอมๆตลอด ทั้งปีได้อย่างไร
การเลือกที่ปลูกไม้หอม
ไม้ดอกหอมที่ออกดอกในฤดูฝน ควรปลูกต้นไม้นั้นทางทิศใต้ของพื้นที่ เพราะถ้าลมฝนพัดมาก็จะหอบเอากลิ่นหอมมาเข้าบ้าน เช่นโมก จำปี จำปา พุดต่างๆ จันทน์หอม ปีบ ฯลฯ ไม้ดอกหอมที่ออกดอกในฤดูหนาว เลือกปลูกไว้ ทิศเหนือ ของพื้นที่เพื่อลมหนาวพัดมาจะได้หอบเอากลิ่นหอมเข้ามาในบ้าน เช่น จิกทะเล จันทร์กะพ้อ สุพรรณิการ์ พะยอม ลำดวน เลี่ยน ช่อมาลี ฯลฯ
ไม้ดอกหอมที่ออกดอกตลอดปี ถ้าจะปลูกก็สามารถปลูกได้ทั่วบริเวณเพราะถึงแม้ลมจะมาทางไหน ก็จะสามารถหอบเอากลิ่นหอม เข้าบ้านได้ตลอดทั้งปีเช่นกัน ตัวอย่างต้นไม้ดอกหอมที่ออกทั้งปี เช่น โมก สายหยุด บุหงาส่าหรี พิกุล ชงโค ฯลฯ
ต้นไม้ก็มีช่วงเวลาหอมนะ
ใช่แล้วครับ ไม้ที่มีกลิ่นหอมเขาไม่ได้หอมทั้งวันทุกต้นหรอกครับ บางชนิดหอมเช้า หอมเย็น หรือหอมกลางคืน ก็แล้วแต่สายพันธุ์ บางทีเวลาเดินไปซื้อต้นไม้ตามตลาด เราไปดมที่ดอกก็ไม่ได้กลิ่นเพราะต้นนั้นหอมตอนกลางคืน ผมมีตัวอย่างคร่าวๆของ ไม้ที่หอมเป็นช่วงเวลามาให้ดูครับ
ไม้ดอกหอมในตอนเช้ามี กระดังงาไทย มหาหงส์ บุหงาส่าหรี เดหลี กระทิง ไม้ดอกหอมตลอดทั้งวัน ก็มี ดอกคัดเค้า ทิวาราตรี บุนนาค ทองอุไร เข็มหอม กันเกรา พิกุล มะลิ ชะลูดช้าง นนทรี พะยอม กล้วยไม้ เริ่มหอมไปตั้งแต่เดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมีนาคม
ถ้าชอบไม้หอมตอนเย็นไปถึงรุ่งเช้า ก็มีดอกโมก แก้ว ราตรี จำปี ปีบ การเวก เล็บมือนาง ยี่โถดอกแดง พุดซ้อน มีดอกหอมตลอดปี ส่วนจันทร์กระพ้อ มณฑา ยี่หุบ เขี้ยวกระแต จำปูน ลำดวน ที่เริ่มหอม ตั้งแต่ พฤศจิกายน เมษายน หรือถ้าชอบหอมทั้งวัน ทั้งคืน มีดอกพุทธชาดสามสี มะลิซ้อน มะลุลี นางแย้ม มีดอกหอมตลอดปี และยังมี ชำมะนาด ที่จะเริ่มผลิดอกตั้งแต่ มีนาคม-มิถุนายน ของทุก ๆ ปี ถ้าคุณชอบไม้ดอกหอม
ปลูกเลี้ยงและดูแลรักษาให้ถูกวิธี
1. หลังจากที่ซื้อไม้ดอกหอมมาปลูก และเลือกพื้นที่ที่ เหมาะกับดอกหอมชนิดนั้นๆ แล้ว หากดินขาดความอุดมสมบูรณ์ หรือมีเศษปูนทับถมอยู่ ควรขุดเศษวัสดุเหล่านันออก และปรับสภาพดินใหม่ โดยใส่ดินใหม่ และ อินทรีย์วัตถุลงไปแทน เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก (การใส่กาบมะพร้าวสับลงไปในหลุมปลูกให้ระวังเรื่องปลวก)
2. หลังจากปลูกไม้ดอกหอม หมั่นรดน้ำสม่ำเสมอ หากอยู่ในฤดูฝนที่มีฝนตกชุก ควรคำนึงถึงระดับน้ำใต้ดิน เพราะอาจทำให้รากเน่า ต้นตายได้ หากเป็นฤดูแล้ง หรือฤดูร้อน ควรพรางแสงให้กับต้นที่เพิ่งปลูกลงดิน เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำจากกต้น ซึ่งอาจทำให้ต้นเหี่ยวแห้ง และตายในที่สุด
3. หากซื้อต้นขุดล้อมมา แต่ยังไม่ปลูกลงดินควร วางต้นในแนวตั้ง ทิ้งไว้ในตำแหน่งที่มีแสงแดดรำไร หมั่นรดน้ำอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ต้นเหี่ยวแห้งตายไป ไม่ควรปล่อยให้ต้นนอนในแนวระนาบ เพราะอาจทำให้ไม้ดอกหอมต้นนั้นตายได้
4. เมื่อต้นเติบโตจนสมบูรณ์เต็มที่ ควรหมั่นตัด แต่งทรงพุ่มออกบ้าง เพื่อไม่ให้กิ่งเกะกะ ทรงพุ่มบังลม หรือทำให้ต้นไม้ด้านล่างได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้เลื้อย มีความจำเป็นต้องตัดแต่งให้เถาโปร่ง ให้ยอดได้รับแสงแดดจึงจะออกดอก
5. หมั่นตรวจดูต้นไม้ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หากพบว่ามีโรคแมลง เช่น เพลี้ย หนอน เข้าทำลาย ควรใช้วิธีเก็บออก หรือ ตัดส่วนที่เกิดอาการทิ้ง ไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นยากำจัดโรคแมลง โดยเฉพาะต้นที่อยู่ใกล้บ้าน หรือใกล้มือเด็ก
ไม้เลื้อยดอกหอมก็น่าสนใจ
ไม้เลื้อยดอกหอม นอกจากจะมีจุดขายที่กลิ่นแล้ว เรื่องของรูปทรงก็สร้างความน่าสนใจให้กับสวนของคุณไม่น้อยหน้าเรื่องกลิ่นเช่นกัน ที่สำคัญคือการศึกษาเรื่องการเจริญเติบโตให้ดีครับ เพราะไม้เลื้อยบางชนิดอย่างเช่น หิรัญญิกา ไม่ใช่ว่าจะปลูกกันได้ทุกบ้านแน่นอน เพราะเป็นไม้เลื้อยเถาใหญ่ต้องการโครงสร้างที่แข็งแรงมาก หากบ้านคุณมีพื้นที่ไม่มาก ลองมองไม้เลื้อยที่ใช้พื้นที่น้อยแต่มีกลิ่นหอมแรงอย่าง ต้น เล็บมือนาง มะลิวัลย์ สายน้ำผึ้ง เป็นต้น
รูปแบบของซุ้มไม้เลื้อย
ที่เห็นโดยทั่วไปมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อต้องการให้ตัวซุ้มทำหน้าที่คล้ายศาลาขนาดเล็ก มีที่นั่งพัก อ่านหนังสือ ดื่มกาแฟหลบร้อน แต่ถ้าต้องการให้เป็นที่เกาะพันของต้นไม้โดยเฉพาะ ก็อาจออกแบบให้มีลักษณะโดดเด่นแตกต่างออกไป เช่น ทรงกระโจม ทรงกลม เป็นรูปโค้ง ซึ่งซุ้มลักษณะนี้มักจะสร้างด้วยโครงเหล็ก เพราะดัดเป็นรูปได้ตามต้องการ ขนาดความกว้างกำหนดจากลักษณะการใช้งาน เช่น หากเป็นซุ้มคร่อมทางเดินควรกว้าง 60 - 150 เซนติเมตร สูงอย่างน้อย 2 เมตรพรรณไม้บางชนิดต้องการซุ้มที่สูงกว่าปกติเพราะลักษณะการห้อยย้อยของช่อดอกจะลงมาต่ำ
หลักเกณฑ์การสร้างซุ้มไม้เลื้อย ก่อนอื่นต้องรู้วัตถุประสงค์ว่าจะสร้างซุ้มเพื่ออะไร เป็นทางเข้าบ้านที่บังแดด หรือที่นั่งเล่น วัตถุประสงค์นี้จะทำให้ทราบตำแหน่งที่จะวาง เมื่อกำหนดตำแหน่งแล้วก็มาถึงการเลือกพรรณไม้ว่าจะเลือกปลูกพรรณไม้เถาหนัก เถากลาง หรือเถาเบา หากสามารถกำหนดพรรณไม้ที่ชอบได้ก่อนสร้างซุ้มก็จะทำให้ง่ายเข้า เพราะจะรู้ได้ว่าควรสร้างซุ้มให้แข็งแรงทนทานระดับไหน