โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ กับช่องทางการรักษา

โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ กับช่องทางการรักษา

โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ กับช่องทางการรักษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ต่อมธัยรอยด์คืออะไร
ต่อมธัยรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกายมีรูปร่างคล้ายปีกผีเสื้ออยู่บริเวณหลอดลมใต้กล่องเสียงมีหน้าที่สร้างธัยรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของร่างกาย โดยมีผลต่อการเผาพลาญพลังงานในร่างกาย

ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษคืออะไร
ภาวะที่ต่อมธัยรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากกว่าปกติเป็นผลทำให้ร่างกายมีการเผาพลาญพลังงานมากเกินไปส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ และอาจพบอาการผิดปกติทางตาร่วมด้วย โดยมีอาการตาแห้งระคายเคือง ตาแดงมองเห็นภาพซ้อน มีการบวมรอบหนังตา ตาโปน (เฉพาะในรายที่มีอาการทางตามาก) นอกจากนั้นผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการผิดปกติทางผิวหนังโดยผิวหนังจะนูนบวมพบบ่อยบริเวณหน้าแข้ง

อาการของโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ
- ใจสั่น รู้สึกหัวใจเต้นเร็วและแรงหากมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เหนื่อยง่ายกล้ามเนื้ออ่อนแรงเช่น บริเวณต้นแขนต้นขา
- หิวบ่อย รับประทานอาหารจุ แต่กลับมีน้ำหนักลดลง
- ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก
- เครียด กังวล หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ
- นอนไม่หลับ มือสั่น ต่อมธัยรอยด์โต

สาเหตุการเกิดโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรคนี้ แต่อาจมีสาเหตุทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคเกรฟ (Graves' disease) จะมีอาการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย มีการสร้างสารซึ่งกระตุ้นการทำงานของต่อมธัยรอยด์ทำให้สร้างฮอร์โมนเพิ่มขึ้น เป็นผลให้เกิดอาการของโรค

การวินิจฉัยโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ
จากลักษณะอาการทางร่างกายและการตรวจเลือดพบระดับธัยรอยด์ฮอร์โมนสูง

การรักษาโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ
1. การรักษาโดยการรับประทานยา
เพื่อลดการสร้างฮอร์โมนของต่อมธัยรอยด์ มักเลือกรักษาผู้ป่วยเด็ก สตรีตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ระยะเวลาในการรักษา 2 ปี ผู้ป่วยควรได้รับการเจาะเลือดและตรวจเป็นระยะเวลาห่าง 2-3 เดือน การหายขาดร้อยละ 30-50 ผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ ผื่นคัน รสขม คลื่นไส้ และภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำซึ่งจะแสดงอาการโดยมีการติดเชื้อ ผู้ป่วยมักมีไข้สูงและเจ็บคอมากมักเกิดในช่วง 3 เดือนแรก หลังรับประทานยา ภาวะนี้พบน้อยมากหากมีอาการดังกล่าวให้หยุดยาและรีบมาพบแพทย์
2. การรักษาโดยการกลืนน้ำแร่
มักเลือกรักษาในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ ในกรณีที่ผู้ป่วยกลับมาเป็นซ้ำ ห้ามให้น้ำแร่รังสีในสตรีมีครรภ์ เมื่อผู้ป่วยทานน้ำแร่เข้าไปรังสีจะไปทำลายเนื้อต่อมธัยรอยด์มีผลทำให้การสร้างฮอร์โมนน้อยลง หลังการรักษาผู้ป่วยควรคุมกำเนิดในช่วง 6 เดือน การรักษาโดยการทานน้ำแร่มักทำเพียงครั้งเดียวหายขาด ผลข้างเคียงที่อาจพบ คือมีโอกาสเกิดภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมนถาวรสูง จากการที่ต่อมธัยรอยด์ถูกทำลายมากกว่าปกติซึ่งหากพบภาวะนี้ผู้ป่วยต้องทานยาธัยรอยด์ฮอร์โมนทดแทนตลอดชีวิต
3. การผ่าตัด
การรักษาโดยวิธีนี้โอกาสหายสูง อาการดีขึ้นเร็วผู้ป่วยจะต้องมีความพร้อมทางร่างกายก่อนผ่าตัด ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง การผ่าตัดอาจทำลายเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล่องเสียงทำให้เสียงแหบได้ การผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ผู้ชำนาญจะทำให้เกิดผลข้างเคียงน้อยลง

 

สนับสนุนข้อมูลโดย พญ.อยุทธินี สิงหโกวินท์
อายุรแพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ
โรงพยาบาลพญาไท 2

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook