ปฏิเสธอย่างไร? ถ้าเพื่อนฝากซื้อของ ตอนไปเที่ยวต่างประเทศ
หนึ่งในปัญหาโลกแตก สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการไปเที่ยวต่างประเทศ ที่เพียงป่าวประกาศ หรือเช็กอินระหว่างท่องเที่ยว สิ่งที่ตามมา คือ การฝากซื้อของ ซึ่งมาพร้อมภาพตัวอย่างของที่ฝากซื้อ และพิกัดร้าน (แต่ไม่โอนเงินมาให้นะ) จากกลุ่มเพื่อน (ทั้งสนิทและไม่สนิท) หรือเหล่าญาติมิตร ซึ่งบางครั้ง อยากปฏิเสธ แต่ก็รู้สึกเกรงใจ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ลองมาดูกันว่า ควรเอ่ยปากปฏิเสธอย่างไร ? เพื่อให้สามารถเที่ยวไปอย่างสบายใจ โดยไม่ต้องแบกความรู้ผิดปนอึดอัดยามที่ปฏิเสธคำ "รับฝากซื้อของ" ด้วยคำพูดเหล่านี้กัน ….
ไม่ผ่านร้าน หรือย่านนั้น
การบอกเพื่อนที่ฝากคุณซื้อของว่า “ยังไม่แน่ใจว่า จะผ่านบริเวณนั้นไหม” พร้อมทิ้งท้ายว่า หากผ่านไป คุณยินดีแวะดูให้ วิธีนี้อาจเป็นการปฏิเสธที่ดูประนีประนอมที่สุด คือ “ไม่บอกปัดไปเสียทีเดียว แต่ก็ไม่รับปาก” และยิ่งถ้าเพื่อนไม่รู้แผนการเดินทางของคุณด้วย ขอแนะนำวิธีนี้เลยค่ะ
แต่ถ้าบังเอิญคุณป่าวประกาศไปแล้วว่า จะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง การตอบปฏิเสธแบบนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ เว้นแต่คุณผ่านไปบริเวณที่ตั้งร้าน หรือย่านที่เพื่อนฝากซื้อของจริง ๆ อันนี้ คงยากบอกปัด
เตรียมเงินมาไม่พอ หรือวงเงินในบัตรไม่พอ
เมื่อก่อนการปฏิเสธรับฝากซื้อของ ด้วยเหตุผล “เตรียมเงินมาไม่พอ คงซื้อให้ไม่ได้” แถมคนฝากซื้อ ไม่ยอมโอนหรือฝากเงินมาด้วย อาจเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่เมื่อมีบัตรเครดิตเข้ามาเป็นตัวช่วยในการช้อปปิ้ง ให้คุณรูดปรี๊ด ๆ จนเพลิน ก็อาจถูกเพื่อนแย้งให้ใช้บัตรของคุณรูดไปก่อนได้เช่นกัน
แต่เรื่องนี้ ต้องทำความเข้าใจกันนิดนึงว่า บัตรแต่ละใบ มีวงเงินไม่เท่ากัน จึงไม่แปลกหากเพื่อนของคุณจะบอกว่า ยอดวงเงินในบัตรของเขาไม่พอซื้อของให้คุณ อ้อ.. แล้วอย่าพยายามขอให้เพื่อนเปิดวงเงินในบัตรเพิ่ม เพื่อซื้อของให้คุณเลย
ไม่ได้ซื้อน้ำหนักกระเป๋าเพิ่ม
ถ้าไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไรดี ? คุณอาจบอกเพื่อนแบบอ้อม ๆ ว่า น้ำหนักกระเป๋าไม่พอจะแบกของที่เพื่อนฝากซื้อกลับไปได้ แต่ถ้าเขาบอกว่า ของที่ฝากซื้อชิ้นเล็กน้ำหนักเบา ขอให้คุณพยายามอธิบาย (อย่างใจเย็น) ว่า แม้ของที่ฝากซื้อจะขนาดไม่ใหญ่ แต่ก็อาจทำให้น้ำหนักกระเป๋าของคุณเกิน จนโดนปรับค่ากระเป๋าน้ำหนักเกินได้เช่นกัน
ไม่มีเวลา หรือเวลาไม่พอ
ยามเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “เวลา” ใช่ค่ะ เวลาช้อปปิ้ง เวลาเดินแชะภาพตามจุดเช็กอิน (ยอดฮิต) หรือเวลาแวะชิมตามคำเขาเล่ามา เรียกว่า แค่ลำพังเวลาเที่ยวของตัวเองตามแพลนก็แทบไม่พอให้พักเหนื่อย หรือพักหายใจแล้ว ยิ่งเจอคำฝากซื้อของที่เข้ามาแบบกะทันหัน การปฏิเสธเพื่อน เพื่อรักษาเวลาอันแสนมีค่าของคุณ ด้วยประโยคที่ว่า “เราไม่มีเวลา แวะไปดูของให้จริง ๆ ยังต้องไปอีกหลายที่” อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดของสถานการณ์นี้ แต่หากเพื่อนของคุณไม่เข้าใจ ก็ปล่อยเขาไปเถอะ อย่าคิดมาก
ไม่รับฝาก
เป็นคำปฏิเสธที่เรียบง่าย แต่แสดงถึงเจตนาของคุณชัดเจนว่า “ไม่รับฝากซื้อของทุกกรณี” แม้หลายครั้ง ผู้รับสารมักไม่ยอมเข้าใจ ทั้งพยายามยกสารพัดเหตุผลให้คุณใจอ่อน เพื่อแวะไปซื้อของให้เขา แต่ขอให้เชื่อเราเถอะว่า หากเพื่อนคุณเอ่ยคำนี้ออกมาแล้ว เขาไม่คิดรับฝากซื้อของจริง ๆ อย่าไปสร้างความลำบากใจให้เขาเลย