สาเหตุแห่งความเครียดที่ซ่อนเร้นอยู่ในเด็กเมืองใหญ่ของญี่ปุ่น
แม้ว่าระบบการเรียนของนักเรียนระดับประถมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลญี่ปุ่นโดยทั่วไปจะเป็นระบบที่ไร้ความเครียด ไม่มีการสอบจัดระดับคะแนนหรือสอบกลางภาคปลายภาค แต่พบว่าเด็กญี่ปุ่นไม่ได้มีความเครียดน้อยตามระบบการเรียนเลย มารู้เหตุผลว่าทำไมกันนะคะ
ชีวิตตามกระแส
คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะอยู่ในกระแสของสังคม เมื่อเด็กน้อยคนหนึ่งเกิดมาก็กลายเป็นความหวังของพ่อแม่ว่าจะต้องมีความสามารถที่เด่นและมีความสมบูรณ์แบบไม่แพ้ลูกคนอื่น ดังนั้นพ่อแม่จะกระตุ้นให้เด็ก ๆ เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่ตัวเล็ก เช่น หากเป็นผู้หญิงก็จะเริ่มเรียนดนตรี เรียนบัลเล่ต์ จินตคณิต คุมอง ศิลปะ และพละ เป็นต้น ส่วนเด็กผู้ชายก็จะเรียนเบสบอลหรือฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมที่พ่อแม่อยากให้ลูกชายได้มีความเท่ห์และตามหาฝันเพื่อเป็นตัวแทนนักกีฬาระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ แม้บางครั้งเด็กจะไม่ชอบแต่ก็ไม่สามารถขัดความต้องการของพ่อแม่ได้ หากลูกเรียนพิเศษเหมือนกันก็จะมีกลุ่มแม่บ้านที่มารวมตัวพูดคุยกัน ความสุขของแม่บ้านเวลาคุยกันคือการที่ลูกมีกิจกรรมเรียนพิเศษมากมายเหมือนลูกเพื่อน ๆ
เรียนพิเศษกวดวิชาอย่างหนัก
เด็กจำนวนไม่น้อยต้องไปเรียนพิเศษกวดวิชาอย่างหนักตั้งแต่อนุบาลเพื่อสอบเข้าโรงเรียนประถมศึกษาของเอกชนด้วยเหตุว่าหากลูกเรียนในโรงเรียนเอกชนตั้งแต่ประถมศึกษาจะทำให้มีเพื่อนฝูงที่มีฐานะดี มีสังคมที่แตกต่างจากเด็กโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐบาล อย่างไรก็ตามพ่อแม่จำนวนไม่น้อยก็เลือกให้ลูกเรียนโรงเรียนรัฐบาลใกล้บ้าน แต่ด้วยการติดค่านิยมว่าเมื่อสอบเข้าโรงเรียนมัธยมเอกชนดี ๆ แล้วลูกจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงได้ ดังนั้นผู้ปกครองส่วนใหญ่จะให้เด็กไปเรียนพิเศษกวดวิชาตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่หนึ่ง
โดยทั่วไประดับประถมต้นเด็กจะเรียนพิเศษเพียง 1 ครั้งต่ออาทิตย์ และค่อยเพิ่มจำนวนครั้งไปตามระดับที่สูงขึ้นจนเมื่อเข้าประถมปีที่ 5-6 เด็ก ๆ จะต้องเรียนพิเศษตอนเย็นตามโรงเรียนพิเศษกำหนดอาทิตย์ละอย่างน้อย 3 วัน 9-12 ชั่วโมง เด็กที่เรียนพิเศษมักต้องนำข้าวกล่องไปรับประทานที่โรงเรียนกวดวิชา เพราะกว่าจะเลิกเรียนพิเศษก็ประมาณ 2-3 ทุ่ม นอกจากเวลาเรียนพิเศษที่มากแล้ว เด็ก ๆ ยังต้องสอบวัดระดับทุกเดือนและมีการบ้านมากมาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กเกิดความเครียดที่บางคนทนไม่ได้จนถึงกับต้องหยุดเรียน หรือหากทนได้ก็พบว่าเมื่อเข้าสู่มัธยมเด็ก ๆ จำนวนมากจะเบื่อการเรียนและไม่ค่อยกระตือรือร้นขวนขวายหาความรู้เอง
เวลาเล่นสนุกกับเพื่อนมีน้อยลง
ด้วยสังคมที่เปลี่ยนไปประกอบกับการใช้เวลาในการเรียนพิเศษต่าง ๆ มากมาย ทำให้เด็กญี่ปุ่นมีเวลาวิ่งเล่นด้วยกันน้อยลง นอกจากไม่ค่อยได้ผ่อนคลายความเครียดแล้ว การเรียนรู้กฎระเบียบและการอยู่ร่วมกันในสังคมของเด็กมีน้อยลง ส่งผลให้เกิดสังคมต่างคนต่างอยู่มากขึ้น
เหล่านี้เป็นตัวอย่างของสาเหตุของความเครียดที่ถูกสะสมมาตั้งแต่เล็ก ๆ ของเด็กญี่ปุ่น โดยเฉพาะเด็กในเมืองใหญ่ เช่น โตเกียว ที่ผู้ปกครองจำนวนมากพยายามผลักดันและส่งเสริมอย่างเต็มที่ให้ลูกหลานตนเองมีมาตรฐานที่อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับชื่นชมจากสังคม แต่พบว่าปัจจุบันปัญหาที่เกิดจากความเครียดของเด็กถูกแสดงออกมาหลากหลายรูปแบบ เช่น ปัญหาการรังแกกันอย่างรุนแรงที่โรงเรียนและปัญหาการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นในเด็ก เป็นต้น ทั้งนี้ในผู้ใหญ่เองก็มีปัญหาว่าปัจจุบันนี้คนสูงอายุวัย 50-60 ปี จำนวนมากเกิดอาการควบคุมตัวเองไม่ได้ มักจะโวยวายสติแตกจู้จี้จุกจิกเกินเหตุ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุนั้นน่าจะมาจากการเก็บกดความเครียดที่ถูกสะสมมาตั้งแต่เยาว์วัย