5 วิธีสกัดนักล้ำเส้น (พื้นที่ส่วนตั๊ว....ส่วนตัว)

5 วิธีสกัดนักล้ำเส้น (พื้นที่ส่วนตั๊ว....ส่วนตัว)

5 วิธีสกัดนักล้ำเส้น (พื้นที่ส่วนตั๊ว....ส่วนตัว)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็น "สัตว์สังคม" ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (เสมอ) ไม่มีใครสามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ แต่เชื่อไหมว่า...
บ่อยครั้งที่เราเกิดการกระทบกระทั่ง ไม่พอใจกัน สาเหตุหนึ่งก็เนื่องมาจากคำว่า "ปฏิสัมพันธ์" นี่แหละ ยิ่งมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทกันมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสกระทบกระทั่งกันได้มากขึ้นเท่านั้น ไม่ต่างจากลิ้นกับฟัน หรือ ช้อนกับส้อม

พอจะนึกออกกันหรือยังว่า เรากระทบกระทั่งกันเพราะอะไร ... คำตอบง่ายๆ สั้นๆ ที่จะหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังใน Secret ปักษ์นี้ก็คือ การล้ำเส้น หรือ ทำตัวก้าวก่าย เข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของอีกฝ่าย (โดยไม่ได้รับเชิญ) นั่นเอง พฤติกรรมใดบ้างที่เรียกว่า "ล้ำเส้น" ถ้าเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้จะมีวิธีรับมือ หรือสกัดนักล้ำเส้นอย่างไร... ...

อาการอย่างนี้นี่แหละ "นักล้ำเส้น"

- ช่างมัน ฉันไม่แคร์ เกิดได้กับทุกวัย หากไม่รู้จักคำว่า "กาละเทศะ" ไม่เคารพผู้อาวุโส ไม่ให้เกียรติผู้น้อย ไม่ใส่ใจความรู้สึกใคร คิดอยากจะพูด จะทำอะไร ก็จะพูด จะทำอย่างนั้น จากนั้นจะเกิดอะไรตามมาก็ช่าง ฉันไม่แคร์

- อยากรู้ไปหมด ถ้าเกิดสนใจใครขึ้นมาสักคน เขาจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อหาข่าว ทั้งจากตัวคนคนนั้นเอง หรือไม่ก็เลียบๆ เคียงๆ ถามหาข้อมูลจากคนรอบข้าง ประมาณว่า "ถ้าไม่ได้รู้ ไม่ได้ยุ่งต้องขาดใจแน่ๆ" โดยหารู้ไม่ว่า ... แค่นี้ก็ถือว่า เป็นการล้ำเส้นเข้าไปในชีวิตคนอื่นเข้าให้แล้ว

- ไม่ต้องขอฉันก็จะให้ แค่ "รู้" อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องขอออกความคิดเห็น ขอร่วมวงเม้าท์ หรือเก็บเอาไปเม้าท์ต่อ ถ้ามากขึ้นไปอีกก็จะถึงขั้น "ลงมือปฏิบัติ" แก้ปัญหานั้นๆ ไปเลย โดยที่อีกฝ่ายแทบไม่ต้องร้องขอ แถมตัวนักล้ำเส้นเองก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อีกฝ่ายจะต้องการความช่วยเหลือนี้หรือไม่

- รักไม่พอ ขอชัดเจน เพราะรู้สึกว่า การเงียบเฉย ไม่แสดงทีท่าอะไร หมายถึงการไม่ใส่ใจ ทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถสัมผัสความปรารถนาดีที่มีให้ก็ได้ เขาจึงจำเป็นต้องเพิ่มทีท่าแสดงถึงความเอาใจใส่ให้มากขึ้น และบางครั้งก็มากจนอีกฝ่ายเริ่มรู้สึกว่า "การไต่ถามไม่ต่างจากการสอบสวน การโทรหาไม่ต่างจากการโทรจิก"
ถ้าตอนนี้คุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังมีนักล้ำเส้นมาวนเวียนอยู่ใกล้ๆ พื้นที่ส่วนตั๊วส่วนตัว จนเริ่มเกิดอาการหงุดหงิด อารมณ์เสียขึ้นมาบ่อยๆ ลองทำตาม 5 วิธีเด็ดต่อไปนี้ดู เผื่อว่า อาการจะทุเลาลงได้บ้าง หรือ เป็นภูมิ คุ้มกันปกป้องไม่ให้เกิดเหตุซ้ำๆ ขึ้นกับคุณอีก


วิธีที่ 1 ขีดเส้น "แบ่งเขต" ของคุณให้ชัดเจน

ถามตัวเองว่า "คุณชอบ หรือ ไม่ชอบพฤติกรรมอะไรบ้าง" จากนั้นลองไล่เรียงดูว่า ทั้งหมดนั้นคุณพอจะอดทนกับสิ่งใดได้มากที่สุดไปจนถึงน้อยที่สุด (น้อยที่สุด คือ สิ่งที่คุณไม่สามารถอดทนกับมันได้เลย)

เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่า มีคนมาทำให้ระดับความอดทนของคุณต้องลดน้อยลงเรื่อยๆ จนใกล้จะหงุดหงิด
แนะนำว่า ให้ปลีกตัวออกห่างจากสภาพแวดล้อมนั้นๆ เช่น ทำทีออกมารับโทรศัพท์ มีธุระด่วน หรือถ้าใจกล้า
ขึ้นมาอีกนิดก็แสดงความต้องการของคุณออกไป เช่น การพูดเปรยๆ หรือ มีทีท่าบอกใบ้กลายๆ ว่า คุณไม่ปลื้มพฤติกรรมกับแบบนี้นัก น่าจะเป็นทางออกที่ดี

วิธีที่ 2 หนักแน่นในสิ่งที่คุณเป็น

ถ้าชิ่งหนีก็แล้ว เตือนก็แล้ว ทำทุกอย่างจนหมดแล้ว แต่นักล้ำเส้นก็ยังพยายามรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ชีวิตของคุณอีก หากไม่อยากได้ชื่อว่า จอมอึด คราวนี้คงถึงคราวต้องจัดหนัก ขออนุญาตเอาคำว่า "เกรงใจ" เก็บไว้ก่อน แล้วหันมา "พูดตรงๆ ด้วยความสุภาพ" เพื่อแสดงความชัดเจนไปเลยว่า "คุณชอบ หรือ ไม่ชอบสิ่งที่เขาทำ"

ส่วนมากถ้าเจอการตอบโต้แบบนี้กลับไป นักล้ำเส้นกว่าครึ่งจะเริ่มรู้ตัว คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับนิสัยส่วนตัวของเขาแล้วว่าว่า จะขอโทษคุณแล้วถอยกลับ หรือยังดึงดันที่จะก้าวล้ำเข้ามาอีก

วิธีที่ 3 ใช้ความนิ่งสงบ ... สยบทุกสรรพสิ่ง

ถ้านักล้ำเส้นจอมอึดยังไม่ละความพยายาม คราวนี้ลองมาคิดดูว่า ปกติธรรมชาติของมนุษย์ย่อมต้องการ "การยอมรับ" จากผู้อื่น เช่น ถ้าเป็นการพูดจาก็ต้องมีบทสนทนาต่อเนื่อง ใครยิ้มให้ก็ต้องยิ้มตอบ แต่ถ้าหาก อีกฝ่ายเกิดนิ่งเฉยขึ้นมา ถามคำตอบคำ หรือ มีทีท่าเย็นชา ไม่ใส่ใจทำเสมือนว่าคนที่เข้ามาคุยเป็นอากาศอันว่างเปล่า ไร้ตัวตน ... อะไรจะเกิดขึ้น

รับรอง ไม่ว่าใครถ้าได้เจอวิธีนี้แล้ว หากไม่มีความอดทนสูงจนเกินพิกัติ ในไม่ช้าก็คงเลิกราพฤติกรรมล้ำเส้นไปเอง แถมยังต้องแบกความอาย (อย่างแรง) กลับไปอีกด้วย

วิธีที่ 4 คุณเท่านั้นที่ "เปลี่ยน" ตัวเองได้

ถ้าทำตาม 3 วิธีมาแล้ว ยังไม่ได้ผล ขั้นต่อไป คงต้องหยิบยกกฎสากลที่ว่า "ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงใครได้" มาใช้
คุณคงต้องทำใจเสียเถอะ ถ้าเปลี่ยนแปลงนักล้ำเส้นให้ถอยหลังกลับไปยังพื้นที่ของตนเองไม่ได้ ก็ควรหันมาเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองแทน คิดเสียว่า ที่เขาคอยเกาะติดเราคงเป็นเพราะเขาใส่ใจเราจริงๆ ที่เขาคอยโทรหาเราคงเพราะเขาเป็นห่วง ที่เขาคอยช่วยเหลือทั้งที่เราไม่ได้ขอร้องต้องการ คงเพราะเขาห่วงใยและหวังดีกับเรา

วิธีนี้ช่วงแรกๆ อาจทำใจยากสักนิด แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าทำได้ชีวิตคุณจะมีความสุขขึ้นอีกเยอะ

วิธีที่ 5 ตามด้วย "อภัยและเมตตา"

ถ้านักล้ำเส้นเริ่มรู้ตัวและตัดสินใจล่าถอยไป ก็นับว่าเป็นข่าวดี คราวนี้คุณเองก็ต้อง "ให้อภัยเขาแบบเต็มหัวใจ" แม้จะเคยโกรธ รำคาญหรือไม่พอใจเพียงใดก็ตาม เพื่อความสบายใจของคุณเอง

แต่หากเขายังคงเดินหน้าก้าวก่ายกับชีวิตของคุณต่อไปไม่ลดละ จะทำอย่างไรก็เปล่าประโยชน์ ขอให้ลอง "ให้ความเมตตา" กับเขาแทนเ เพราะแท้ที่จริงแล้ว นักล้ำเส้นอาจไม่ใช่คนเลวร้าย เขาอาจมีเหตุผลของเขาที่ต้องทำอย่างนั้น เพียงแต่ว่า "ความต้องการของคุณกับเขาอาจไม่ตรงกัน" ...เท่านั้นเอง

แนะนำให้ลองหันมาเอาใจใส่ ฟังสิ่งที่เขาต้องการพูดบ้าง แสดงการยอมรับในตัวเขา เพราะบางทีการได้รับความสนใจกลับมา อาจจะทำให้เขารู้สึก "ดี" กับตัวเองมากยิ่งขึ้น จนไม่จำเป็นต้องแสดงพฤติกรรมล้ำเส้นเพื่อดึงดูดความสนใจจากคนรอบข้างในแบบผิดๆอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ดังนั้นอย่ามัวแต่คิดว่า ตัวเองจะถูกใครล้ำเส้น ให้คิดในทางกลับกันด้วยว่า "ทุกวันนี้คุณกำลังล้ำเส้นใครอยู่บ้างหรือเปล่า"

เพราะ... ถ้าคุณไม่ชอบให้ใครล้ำเส้นคุณ คนอื่นก็คง....ไม่ต่างกัน !


เชื่อหรือไม่ "งาน" ก็ล้ำเส้นชีวิตได้เหมือนกัน !

งานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) ประเทศแคนาดา สำรวจความคิดเห็นหนุ่มสาวอเมริกันจำนวน 1,800 คน พบว่า ร้อยละ 50 นำงานกลับไปทำที่บ้านบ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติ นอก จากนี้ยังพบอีกว่า มีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ต้องทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เฉพาะการทำงานที่ออฟฟิศ) ซึ่งนั่นถือว่า งานได้เริ่มลุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ชีวิตของคุณแล้ว

ผลสำรวจยังระบุต่อไปว่า คนทั้งสองกลุ่มนี้มักมีการศึกษาสูง มีหน้าที่การงานดี มีบทบาทความรับผิด ชอบสูงในองค์กร แต่น่าแปลกที่พวกเขาไม่สามารถจัดสรรเวลาให้ "สมดุล" ได้ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง เช่น มีปัญหาความเครียดสะสม เนื่องจากไม่มีเวลาให้ครอบครัว หรือแม้แต่ให้ตนเองได้ผ่อนคลาย ท้ายที่สุดก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook