ช่วยด้วย! ฉันถูกคุกคามทางเพศ
การถูกคุกคามทางเพศ เป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงสาว ชายหนุ่ม หรือเพศใดก็ตาม และหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายในที่ทำงานซึ่งคุณต้องไปเป็นประจำทุกวัน ความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก็จะยิ่งทวีค่าความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า
เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการปัญหาดังกล่าว Secret ปักษ์นี้ จึงขอเสนอวิธีแก้ไข สำหรับผู้ที่เป็น "เหยื่อ" ของการถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ในแบบที่คุณสามารถนำไปใช้ได้จริง
ลองถามใจคุณเองว่า คุณเคยตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้บ้างหรือเปล่า
- คุณมักถูกลวนลามทางสายตา ทั้งที่แต่งตัวสุภาพมิดชิดแล้ว
- มักจะมีอีเมลที่เขียนข้อความอีโรติกส่งมาหาคุณเสมอ
- เมื่อสนทนากัน เขามักไม่ค่อยสบสายตา แต่กลับมองมาที่หน้าอกหน้าใจ หรืออวัยวะต้องห้ามส่วนอื่นของคุณแทน
- คุณเคยถูกแตะต้องของสงวนบ่อยครั้ง โดยที่อีกฝ่ายบอกว่า ไม่ได้ตั้งใจ
- ใครบางคนมักพูดจาล่อแหลมกับคุณ ทั้งต่อหน้าและลับหลังบุคคลอื่น
- คุณเคยถูกเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างานชวนให้ไปสถานที่ลับตาคน แบบสองต่อสอง
- คุณเคยได้ฟังจากเพื่อนร่วมงานว่า มีบางคนพูดถึงคุณไปในทางอนาจารลับหลังเสมอ
- หัวหน้างานของคุณ มักใช้อำนาจข่มขู่ทางเพศ ซึ่งทำให้คุณรู้สึกอึดอัดใจเสมอ
- หัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงานของคุณคุกคามทางเพศ แล้วขู่บังคับไม่ให้คุณบอกใคร
- คุณเคยถูกเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างานขู่บังคับให้สมยอมในเรื่องเพศ
- คุณเคยได้รับคำพูด กิริยา รังเกียจ เหยียดหยาม หรือกีดกัน ในความเป็นเพศที่สามของคุณ
- คุณเคยถูกบังคับให้ฟังเรื่องเพ้อฝันเกี่ยวกับเรื่องเพศ
- มีบางคนนำสัดส่วนของคุณมาล้อเลียน หรือติชม โดยไม่สมควร
- คุณเคยถูกเพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านายพยายามจะข่มขืนกระทำชำเรา
หากตรงกับใจของคุณตั้งแต่ 5 ข้อขึ้นไป นั่นหมายความว่า คุณกำลังเข้าข่ายเป็น "เหยื่อ" ของการคุกคามทางเพศในที่ทำงานแล้วล่ะคะ
เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว Secret จึงได้เชิญ แพทย์หญิงเบญจพร ปัญญายง ผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำกรมสุขภาพจิต มาให้ความกระจ่างเรื่องการแก้ปัญหา เมื่อถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เพื่อให้คุณสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อีกครั้ง
Step 1 พูดตรงๆ คุณควรรวบรวมความกล้าทั้งหมด แล้วเดินเข้าไปพูดตรงๆ กับผู้ที่คุกคามคุณ โดยบอกให้ทราบว่าคุณรู้สึกไม่พอใจ รวมทั้งบอกให้เขาหยุดการกระทำเหล่านั้นได้แล้ว โดยอาจใช้คำพูดว่า "ฉันไม่ชอบ คุณจะมาทำกับฉันแบบนี้ไม่ได้" หรืออาจบอกว่า "อย่า" "ไม่" โดยพูดออกมาทันทีที่คุณกำลังถูกคุกคามอยู่ และจะได้ผลดียิ่งขึ้นหากคุณพูดในที่สาธารณะให้ผู้อื่นได้ยินด้วย
Step 2 หลบ หลีก เลี่ยง คุณควรเดินหนี ออกห่าง หรือเลี่ยงการปะทะทุกวิถีทาง อาทิ หากคนนั้นพยายามเดินตามคุณออกมา คุณก็ควรวิ่งไปในที่ที่มีคนพลุกพล่าน หรือที่สาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงที่เขาจะเข้ามาคุกคามคุณ หรือในกรณีที่คุณถูกคุกคามทางโทรศัพท์เป็นประจำ คุณอาจให้เพื่อนร่วมงานช่วยรับสายแทน เพื่อลดทอนอันตรายที่อาจเกิดโดยตรงกับคุณได้
Step 3 เพียงกระซิบบอก การเล่าให้ใครสักคนฟังเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คุณควรระบายความรู้สึกให้เพื่อนสนิทฟัง หรือเล่าให้เพื่อนร่วมงานที่คุณไว้วางใจฟัง โดยเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดตามลำดับ พร้อมทั้งอธิบายความรู้สึกอึดอัดภายในใจของคุณด้วย เพราะเพื่อนอาจจะช่วยหาแนวทางแก้ไขให้คุณได้ และเพื่อนจะได้ช่วยดูแลป้องกันคุณหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น
อย่างไรก็ดี หากคุณไม่มีเพื่อนที่ไว้วางใจได้ คุณก็ควรเข้าไปขอรับคำปรึกษาอย่างจริงจังกับหัวหน้างานของคุณ หรืออาจเข้าไปขอรับคำปรึกษาจากองค์กรสตรีต่างๆ เพื่อหาทางจัดการกับปัญหานี้
Step 4 ดูแลรักษาจิตใจตัวเอง คุณควรหาโอกาสรักษาสภาพจิตใจให้ตัวเอง โดยการหากิจกรรมเบี่ยงเบนความสนใจของคุณ อาทิ จัดกิจกรรมสันทนาการให้เด็กด้อยโอกาส ดูภาพยนตร์ เดินเล่นที่สวนสาธารณะ หรือกิจกรรมอื่นๆที่คุณชื่นชอบ เพื่อคุณจะได้ไม่คิดฟุ้งซ่าน หรือคิดซ้ำซ้อน รวมทั้งไม่คิดโทษตัวเองว่า ต้นเหตุอาจจะเกิดจากตัวคุณด้วย เพราะแท้จริงแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาจากคนกิเลสหนาบางจำพวกเท่านั้น
Step 5 ร้องเรียนและแจ้งความดำเนินคดี การถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ทำให้จิตใจของคุณเศร้าหมอง และทุกข์ทรมาน คุณจะรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตัวเอง ซึ่งจะส่งผลกระทบสืบเนื่องไปถึงงานที่ทำ ฐานะทางเศรษฐกิจ รวมถึงความสัมพันธ์ภายในที่ทำงานอีกด้วย คุณควรแจ้งให้ผู้บริหารขององค์กรทราบ เพื่อลงโทษตามความเหมาะสม หรือหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น คุณก็สามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินคดีได้เช่นกัน
Tips for Safety First
- ตั้งสติ และไม่ประมาทในทุกสถานการณ์
- พกเศษเหรียญ หรือเงิน เพื่อโทรศัพท์หรือเรียกแท็กซี่กลับบ้าน ติดตัวไว้เสมอ
- พยายามหลีกเลี่ยงสถานที่อโคจร หรือแหล่งมั่วสุม
- บอกให้คนที่คุณไว้วางใจทราบ เมื่อคุณต้องอยู่ตามลำพังกับคนที่ไม่คุ้นเคย
Hot Line
- ฮอตไลน์คลายเครียดของกรมสุขภาพจิต โทรศัพท์ 1667
- กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0-2246-8006
- ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน โทรศัพท์ 0-2972-7035, 0-2972-6385
- มูลนิธิเพื่อนหญิง โทรศัพท์ 0-2513-2780, 0-2513-1001