อาหารเป็นพิษ มันมากับอากาศร้อน

อาหารเป็นพิษ มันมากับอากาศร้อน

อาหารเป็นพิษ มันมากับอากาศร้อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาการไข้ขึ้นสูง หนาวๆ ร้อนๆ เดี๋ยวหนาวจนต้องห่มผ้า เดี๋ยวเหงื่อออกจนที่นอนเปียก พร้อมกับปวดหัวหนักๆ เหมือนโดนค้อนมาทุบ ตาลายคล้ายจะเป็นลม และมวนท้อง ท้องเสียจนแทบคลาน ยังแอบบอกตัวเองว่า เอาอยู่! คงเหนื่อย เมื่อย เพลีย ตามประสาคนทำงาน พร้อมกินยาพาราเซตามอล ยาครอบจักรวาลสำหรับคนที่บ้านฉัน 2 เม็ด เดี๋ยวไข้ก็ลด แต่เกือบจะม่องเท่ง! เพราะมันไม่ใช่อาการเป็นไข้ธรรมดา และนี่คือ อาการที่ตัวเองเพิ่งเป็นสดๆ ร้อนๆ ร้อนจนต้องมีคนมาหามพาไปโรงพยาบาล

ไข้ขึ้น ปวดตามตัว ปวดมวนท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย = อาหารเป็นพิษ

ชัดเจน! อาการที่ว่ามานั้น ฉันเป็นหมด แถมที่มีอาการปวดมวนท้องตลอด ปวดหัวแบบสุดๆ แทบจะยกหัวตัวเองไม่ไหว เบื่ออาหาร และซึมสนิท บางครั้งก็หน้ามืดวูบๆ ด้วย คลื่นไส้ อาเจียน ไข้ขึ้นสูง ปวดตามตัวตามหลัง เหมือนตัวรุ่มๆ ตลอดเวลาไปอีกหลายวัน เพราะพิษที่เกิดขึ้น นอน นั่ง ยืนคิดตั้งนานว่า เป็นเพราะอะไรก็หาคำตอบไม่เจอ จนต้องหามไปส่งโรงพยาบาลนั่นแหละ ถึงจะเข้าใจ

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราอีก เช่น สูญเสียแร่ธาตุจากร่างกาย เป็นตะคริวจากแร่ธาตุไม่สมดุล ความดันต่ำ หน้ามืดจากการเสียน้ำและกินข้าวไม่ได้ ช็อคหมดสติได้ และในเด็กเล็ก รวมทั้งผู้สูงอายุ จะมีอาการได้มากกว่าคนหนุ่มสาวอย่างเราๆ



เพราะอากาศร้อนๆ ส่งตรงถึงอาหาร จากอาหารดี กลายเป็นอาหารพิษ

อากาศร้อน เป็นปัจจัยที่ทำให้อาหารกลายเป็นพิษต่อร่างกายของเรา อากาศร้อนจะพาให้เชื้อโรคลำไส้ระบาด ซึ่งในอาหารนั้นอาจปนเปื้อนเชื้อ คนป่วยสามารถแพร่เชื้อไปได้จากการสัมผัสอาหาร หรืออาหารนั้นถูกเก็บไว้ในที่เย็นไม่เพียงพอ จึงทำให้เชื้อนี้มีการเจริญเติบโต หรือ เพราะตัวอาหารเองเกิดบูด เพราะอากาศร้อนทำให้อาหารเสียง่าย โดยเฉพาะ อาหารไขมันและอาหารแป้ง เช่น กะทิ ครีม น้ำสลัด ไข่แดง นมและขนมปังต่างๆ

พอเราได้รับเชื้อนี้เข้าไปจากการกินของเราเอง ก็จะทำให้ทางเดินอาหารผิดปกติไป หากภูมิคุ้มกันไม่ดี หรือไม่ค่อยแข็งแรง เชื้อก็จะทำให้ลำไส้อักเสบได้ง่ายขึ้น มีอาการอาหารเป็นพิษได้นั่นเอง แต่เราจะป่วยหลังจากที่เรากินอาหารต้องสงสัยไปแล้ว นับย้อนราวประมาณ 6-12 ชั่วโมงที่แล้ว ไม่ใช่มื้อที่เพิ่งกินเข้าไป

ไอศกรีม อาหารเฝ้าระวังในช่วงหน้าร้อน

อย่างไอศรีมของโปรดที่กินเพียงเพื่อคลายร้อนของเรานั้น ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาหารเป็นพิษได้ เพราะบางทีตู้แช่ไอศกรีม ก็โดนถอดปลั๊กเป็นระยะๆ เพราะอยากประหยัดไฟ นั่นจะทำให้ไอศกรีมละลายเป็นอาหารพิษได้ หรือเพราะเราเองปิดเปิดตู้เย็นบ่อยๆ ก็ทำให้อุณหภูมิไม่คงที่ แช่ของสด หรือไอศกรีมไม่ได้
นอกจากนี้อาหารมัน พวกมีไส้มากๆ เช่น ซาลาเปาครีม สลัดน้ำข้น วุ้นกะทิ ข้าวเหนียวน้ำกะทิ และของทอดทั้งปวง ขนมปัง และเบเกอรี่ต่างๆ ก็ควรจับตาอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

วิธีป้องกันที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ

1. ล้างมือให้บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ

2. แยกอาหารสด กับ น้ำแข็งที่เราแช่ไว้กิน แยกคนละส่วน

3. พยายามอย่าเปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยๆ เดี๋ยวอุณหภูมิจะไม่คงที่ แช่ของสด หรือไอศกรีมก็ไม่แข็งเต็มที่สักที

4. ไม่ต้องประหยัดไฟให้มากนัก ในกรณีของการถอดปลั๊กตู้เย็นออกเป็นระยะ เพราะอาหารในตู้จะกลายเป็นพิษได้

วิธีดูแลอาการอาหารเป็นพิษ ให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น

1. ต้องหลีกเลี่ยงอาหารต้องสงสัยเป็นพิเศษ

2. ไม่กินของมัน หรือเผ็ด ตอนที่เราป่วยอยู่

3. ดื่มน้ำให้มากๆ หากอาเจียนและท้องเสียมาก

4. น้ำที่ดื่มก็ต้องเป็น น้ำเกลือแร่ น้ำหวานผสมน้ำ หรือน้ำเปล่า แต่ไม่ใช่น้ำอัดลม

เวลาท้องเสีย อย่ากินยาหยุดถ่าย ให้มันเอาเชื้อโรคออกมาให้หมด และหากไม่มีข้อชี้ชัดว่า ติดเชื้อ ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อ ส่วนในเด็กเล็ก ถ้าท้องเสียให้เปลี่ยนจากกินนมวัว มาเป็นนมถั่วเหลือง (นมผงถั่วเหลือง) แทนไปก่อน หากกินอาหารไม่ได้จริงๆ หรือเสียน้ำมากๆ จนความดันต่ำ ก็ควรให้น้ำเกลือก็จะช่วยได้

ขอขอบคุณ
นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook