กรุงเทพมหานคร ชวนผู้ปกครองนำเด็กอายุ 2 เดือนหยอดวัคซีนไวรัสโรต้าฟรี!

กรุงเทพมหานคร ชวนผู้ปกครองนำเด็กอายุ 2 เดือนหยอดวัคซีนไวรัสโรต้าฟรี!

กรุงเทพมหานคร ชวนผู้ปกครองนำเด็กอายุ 2 เดือนหยอดวัคซีนไวรัสโรต้าฟรี!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเด็กๆ ก้าวสู่วัยอยากรู้อยากเห็น ก็มักจะอยากลองสัมผัสสิ่งรอบตัวด้วยการเอาสิ่งของเข้าปาก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ของเล่น ไปจนถึงสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งอาจเป็นช่องทางหนึ่งที่นำไปสู่การติดเชื้อไวรัสโรต้าที่เป็นสาเหตุทำให้เด็กๆ เจ็บป่วยเป็นโรคท้องร่วมแบบเฉียบพลัน และอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้


กรุงเทพมหานคร ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กไทย ให้สามารถเข้าถึงวัคซีนที่เป็นประโยชน์ และได้รับการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า จึงมอบให้สำนักอนามัยดำเนินโครงการ "การให้บริการวัคซีนไวรัสโรต้าในศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย" เพื่อเป็นการสานต่อนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนากรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งความปลอดโรค ปลอดภัย มีสุขภาวะอนามัยที่ดี และเป็นเมืองน่าอยู่ โดยผู้ปกครองสามารถนำบุตรหลานมารับบริการหยอดวัคซีนไวรัสโรต้าได้ที่ศูนย์บริการสาธรณสุขทั้ง 68 แห่งในกรุงเทพมหานครโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป



"นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์" รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครตระหนักและให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพ รวมทั้งพัฒนาและขับเคลื่อนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้ครอบคลุมทุกมิติทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะในมิติของการส่งเสริมสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรคที่ป้องกันด้วยวัคซีนที่มักพบบ่อยในเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี เช่น โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการหยอดวัคซีน

ในปี 2561 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงที่เป็นเด็กแรกเกิดถึง 4 ปี จำนวนกว่า 17,000 คน ข้อมูลจากการศึกษายังพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคอุจจาระร่วงที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าถึงร้อยละ 43 นอกจากนี้ จากการศึกษาของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติพบว่าในผู้ป่วย 1 ราย มีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลสูงถึง 4,300 บาท ดังนั้น การให้บริการวัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าจะช่วยลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กไทย ทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับผู้ปกครองได้มาก



"ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา" นายกแพทยสภา กล่าวว่านับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่กรุงเทพมหานครได้ริ่เริ่มโครงการการให้บริการหยอดวัคซีนไวรัสโรต้าในเด็กเล็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กไทยมีภูมิคุ้มกันจากเชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งโดยปกติแล้วการติดเชื้อไวรัสครั้งแรกจะมีโอกาสอาการรุนแรงมากที่สุด เด็กเล็กจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ วีธีการป้องกันเด็กจากเชื้อไวรัสโรต้าที่สำคัญคือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สร้างสุขอนามัยที่ดี และรักษาความสะอาด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้ปกครองจะพยายามดูแลเด็กไม่ให้เอาสิ่งของเข้าปาก หรือเอาใจใส่ในเรื่องความสะอาดของสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นอย่างดีแล้ว แต่เด็กวัยนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ง่าย วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดจึงเป็นการรับวัคซีน โดยช่วงอายุที่เหมาะสมในการรับวัคซีนคือช่วง 2 เดือนขึ้นไปแต่ไม่เกิน 15 สัปดาห์ สำหรับการรับวัคซีนครั้งแรก และไม่เกิน 8 เดือน สำหรับการรับวัคซีนครั้งสุดท้าย ทั้งนี้  เด็กที่ได้รับวัคซีนจะมีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโรต้าน้อยลงถึง 70-80%    



"รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วนัทปรียา พงษ์สามารถ" กุมารแพทย์ จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อธิบายเพิ่มเติมว่า “การติดเชื้อไวรัสโรต้าอาจเกิดขึ้นได้หลายครั้ง เนื่องจากไวรัสโรต้ามีหลายสายพันธุ์ เมื่อเป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกันของสายพันธุ์นั้น แต่อาจจะติดเชื้อสายพันธุ์อื่นได้อีก ไวรัสโรต้าจึงไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่การหยอดวัคซีนจะสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ แม้แต่เด็กที่เคยติดเชื้อโรต้าไวรัสมาแล้ว หมอยังแนะนำให้หยอดวัคซีน หากอายุยังไม่เกินที่กำหนด เพราะวัคซีนมีประสิทธิภาพดีมากในการป้องกันโรค สามารถช่วยลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน ปัจจุบัน หลายๆ ประเทศได้บรรจุวัคซีนไวรัสโรต้าไว้ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเรียบร้อยแล้ว สำหรับในประเทศไทย เรากำลังอยู่ระหว่างดำเนินการผลักดันให้บรรจุวัคซีนไวรัสโรต้าในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพื้นฐาน จึงเป็นเรื่องดีที่กรุงเทพมหานครนำร่องให้บริการวัคซีนไวรัสโรต้าแก่เด็กแรกเกิดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตเด็กไทยทั้งประเทศจะได้รับวัคซีนนี้ด้วย” 



ผู้ปกครองสามารถนำบุตรหลานที่มีอายุ 2 เดือน มารับบริการหยอดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่งในกรุงเทพมหานคร โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร 0 2203 2887-9 ในวันและเวลาราชการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook