เบื่อหน่ายทุกสิ่ง หันมาสวดมนต์ก็ไม่สำเร็จ จิตใจยังฟุ้งซ่าน

เบื่อหน่ายทุกสิ่ง หันมาสวดมนต์ก็ไม่สำเร็จ จิตใจยังฟุ้งซ่าน

เบื่อหน่ายทุกสิ่ง หันมาสวดมนต์ก็ไม่สำเร็จ จิตใจยังฟุ้งซ่าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หนูเกิดความเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่าง หันมาสวดมนต์นั่งสมาธิก็ไม่สำเร็จ จิตใจยังฟุ้งซ่านไม่เลิก ควรเริ่มจากตรงไหนดีคะ?

ถ้าปากเราสวด แต่ใจไม่ได้สวด แก้วเสียงไม่ได้เปล่งออกมาเต็มที่ หรือสวดไม่มากรอบพอ

หรือเลือกสวดบทที่ปรุงแต่งให้ใจร้อน หรือตั้งความอยากไว้ก่อนว่าจะสวดเพื่อกำจัดความฟุ้งซ่าน หรือตั้งความคาดหวังไว้ว่าจะสวดเพื่อเอาเลข เอาดวงชะตาดีๆ เอาเทพบุตรหล่อๆ เหล่านี้ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของการสวดมนต์เพื่อส่งเสริมความฟุ้งซ่าน ไม่ใช่ลดความฟุ้งซ่าน

‘ความอยากคือต้นเหตุของทุกข์’ ขอให้จำไว้เลยว่านี่คือหลักธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าท่านชี้ให้เห็น เพียงท่องไว้ให้แม่นๆ ว่า ยิ่งอยากก็ยิ่งกระวนกระวาย หายอยากได้ค่อยสงบลงเอง แล้วเราจะเห็นความจริงดังกล่าวจากจิตของตนเอง โดยไม่ต้องหาคำยืนยันจากใครเลย

และเมื่อเข้าใจแล้ว ความเข้าใจก็จะมีส่วนสำคัญในการสวดมนต์ครั้งต่อๆ ไป กล่าวคือก้าวแรกเราจะเริ่มด้วยใจที่ไม่อยาก ไม่คาดหวัง ไม่คิดว่าสวดปุ๊บจะต้องสงบปั๊บ

คำถามคือถ้าไม่ให้หวังความสงบ แล้วจะให้หวังอะไร? ก็หวังว่าจะได้สวดไงครับ! ให้ลองสวดอิติปิโสในแบบที่เราไม่คาดหวังอะไรมากไปกว่าการได้เปล่งเสียงออกมาเต็มปากเต็มคำ โดยคิดว่า จะขอเอาแก้วเสียงของเราแทนแก้วมณี และขอใช้ใจของเราต่างแสงเทียนบูชาพระในครั้งนี้

คิดแค่นี้นะครับ สั้นๆ แค่นี้เลย เรียกว่าคิดในทางที่เป็นมหากุศลแล้ว เพราะใจเล็งไปที่การบูชาพุทธคุณเต็มๆ และธรรมชาติของมหากุศลจะปรุงแต่งจิตให้สว่างขึ้น อย่างน้อยรู้สึกโล่งหัวขึ้นนั่นแหละคือสว่างขึ้นแล้ว ความสว่างของจิตจะค่อยๆปรับสำเนียงเสียงให้ไพเราะขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าประหลาดใจ และแก้วเสียงที่ไพเราะนั่นเองจะย้อนกลับไปปรุงแต่งใจให้รู้สึกใสเหมือนแก้วบูชาพระรัตนตรัยได้จริงๆ

ก่อนสวดถ้าฟุ้งซ่านอยู่มาก สวดรอบเดียวมักจะน้อยไปและยังไม่เห็นผล ขอให้สวดหลายๆรอบ ถ้าเป็นบทอิติปิโสนี่จะศักดิ์สิทธิ์และมีความวิเศษมากกว่าบทอื่นๆ เพราะเป็นพุทธพจน์ สวดแค่สองสามรอบจะรู้สึกสว่างไสวออกมาจากภายในราวกับใครมาไขเทียนอย่างนั้นแหละ

ขณะสวดอยู่ ถ้ารอบไหนรู้สึกว่าใจสว่างน้อยลง หรือสุ้มเสียงขุ่นมัวลงบ้าง ก็ไม่ต้องไปพยายามทำให้กลับฟื้นขึ้นทันที เพราะนั่นจะเป็นความมุ่งหวังอยากได้ขึ้นมาใหม่ เลยกลายเป็นคลื่นซัดจิตให้เสื่อมลงกว่าเก่า ขอให้ยอมรับตามจริงไปว่าใจเสื่อมลง เพราะพระพุทธเจ้าสอนให้ดูความเสื่อมไปของทุกสิ่ง ไม่เว้นกระทั่งความเสื่อมของกุศลจิต เมื่อรู้เห็นความไม่เที่ยง ก็ย่อมได้ชื่อว่าปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว แถมจะเป็นมหากุศลเหนือกว่าการสวดมนต์เสียอีก

การสวดมนต์แบบที่เห็นว่าเดี๋ยวจิตสว่างขึ้นบ้าง เดี๋ยวจิตลดความสว่างลงบ้าง จะช่วยให้น้องต่อยอดไปฝึกเจริญสติในระหว่างวันได้ด้วย เช่น ถ้าระหว่างวันเรามีความไม่พอใจโน่นนี่นั่นอยู่เรื่อยๆ ก็ให้รู้ทัน และยอมรับตามจริงว่าเกิดความไม่พอใจขึ้นแล้ว น้องจะสังเกตออกว่าเพราะเราไม่พอใจจะอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานๆ มันจะทำให้สมาธิสั้นลงเรื่อยๆ ไม่สามารถหันไปโฟกัสกับสิ่งอื่นได้ตามปรารถนา

พอเห็นโทษของการปล่อยให้ตัวเองหมกอยู่กับความไม่พอใจบ่อยเข้า จิตจะค่อยๆ ฉลาดขึ้น และถอนตัวออกมาจากอารมณ์ไม่พอใจได้เอง น้องจะรู้สึกว่าจิตเป็นกุศลมากขึ้น และพบความจริงที่ว่าถ้าจิตสว่างเพราะหลุดจากอารมณ์ไม่พอใจได้ทุกครั้ง เราจะสวดมนต์หรือทำสมาธิก็สงบง่าย แต่ถ้าปล่อยให้ปั่นป่วนอยู่ 8 ชั่วโมง แล้วจะให้ใช้เวลา 5 นาทีในการทำให้สงบตอนกลางคืน มันเหมือนเอาไม้ซีกไปงัดกับท่อนซุงดีๆ นี่เอง ซึ่งก็คงชนะง่ายอยู่หรอกเนาะ

สมาธิที่แท้ไม่ได้เกิดขึ้นขณะที่เราพยายามนั่งเค้นกัน 5 นาที 10 นาที แต่รากเหง้าของสมาธิเกิดขึ้นและค่อยๆ ตั้งมั่นจากการไม่ปล่อยใจให้หลงไปตามอารมณ์ขุ่นมัว พระพุทธเจ้าตรัสว่าจิตนั้นเดิมทีผ่องใสอยู่ครับ แต่เรายอมตัวให้กับความขุ่นมัวมากเกินไป ใจเลยเหมือนกลับมาผ่องใสยากหน่อย ต่อเมื่อตั้งใจฝึก ไม่ปล่อยใจให้ไหลตามความขุ่น ในที่สุดความผ่องใสก็แสดงสภาพดั้งเดิมของมันออกมาเอง
 

บทความโดย : ดังตฤณ
Facebook.com/AskDungtrin

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook