อยากเผยผิว แต่ดันมี สิวที่หลัง จัดการอย่างไรได้บ้าง
ปัญหาสิว ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเพียงกับหน้า แต่สิวสามารถขึ้นได้ทุกส่วนบนร่างกาย ที่มีรูขุมขนและต่อมไขมัน อย่างเช่นที่แผ่นหลัง ซึ่งสิวที่หลัง ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสิวที่พบได้บ่อย รองจากสิวบนใบหน้า และทำให้หลายคนหมดความมั่นใจ ในเวลาที่ต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่โชว์แผ่นหลัง แต่หากใครกำลังประสบปัญหามีสิวที่แผ่นหลัง ก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะสิวที่หลังสามารถป้องกันและรักษาได้ไม่ยาก
สิวที่หลัง เกิดจากอะไร
ผิวหนังทั่วร่างกายของเรา รวมไปถึงบริเวณแผ่นหลัง จะมีต่อมไขมัน (Sebaceous Gland) ที่เชื่อมต่อกับรูขุมขน คอยหลั่งน้ำมันที่เรียกว่า ซีบัม (Sebum) หรือไขผิวหนังออกมาเพื่อช่วยให้ผิวหนังและเส้นขนชุ่มชื้นอยู่เสมอ แต่หากต่อมไขมันผลิตซีบัมมากเกินไป ประกอบกับมีแบคทีเรียและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วอยู่บนแผ่นหลัง อาจทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดเป็นสิวชนิดต่างๆ เช่น สิวอักเสบ สิวหัวหนอง รวมไปถึงเป็นสิวหัวขาวที่แผ่นหลัง ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นสิวหัวดำได้เมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนนอกรูขุมขน สิวที่หลังนั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยได้แก่
- กรรมพันธุ์ แม้การเกิดสิวจะไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่สภาพผิวหนังที่ทำให้เป็นสิวง่าย เช่น รูขุมขนกว้าง หน้ามัน นั้นสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
- การใช้ยา ยาบางชนิด เช่น ยาต้านซึมเศร้า (antidepressants) อาจส่งผลข้างเคียงทำให้ผู้ใช้เกิดสิวได้
- ฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนถือเป็นสาเหตุหลักของการเกิดสิวในช่วงวัยรุ่น และสำหรับผู้หญิง ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงมีประจำเดือนหรือช่วงตั้งครรภ์ ก็สามารถทำให้เกิดเป็นสิวได้
- เหงื่อ เมื่อมีเหงื่อออก โดยเฉพาะช่วงที่สวมเสื้อผ้ารัดๆ ก็สามารถทำให้เกิดสิว หรือกระตุ้นให้ปัญหาสิวที่หลังของคุณแย่ลงได้
- ความเครียด แม้จะไม่ได้เป็นสาเหตุของสิวโดยตรง แต่ก็สามารถทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายแปรปรวน เช่น ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดสิวได้เช่นกัน
- อาหาร ผลการวิจัยพบว่า การกินอาหารบางชนิด เช่น ธัญพืชขัดสี น้ำตาล ผลิตภัณฑ์นม อาหารฟาสต์ฟู้ด ชอกโกแลต ในปริมาณมากเกินไปก็เป็นตัวการกระตุ้นให้เกิดสิว
สิวที่หลัง...รักษาและป้องกันได้
หากไม่อยากมีสิวที่หลัง หรืออยากรักษาสิวที่เป็นอยู่ และป้องกันสิวใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ควรทำตามคำแนะนำเหล่านี้
-
อาบน้ำทันทีหลังออกกำลังกาย
หากคุณออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก ควรรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที หรือให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรกหมักหมมที่ผิวหนัง จนเกิดเป็นสิวที่แผ่นหลัง หรือทำให้สิวที่เป็นอยู่แล้วแย่ลง นอกจากนี้ คุณไม่ควรทิ้งเสื้อผ้าที่ชุ่มเหงื่อเอาไว้ แต่ควรซักทันที เพื่อป้องกันเชื้อโรคเชื้อราสะสมในผ้า
-
สวมเสื้อผ้าหลวมๆ
การสวมเสื้อผ้าคับหรือรัดเกินไปทั้งในขณะออกกำลังกาย หรือใช้ชีวิตประจำวัน จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดสิวที่หลัง เพราะทำให้เหงื่อและสิ่งสกปรกเสียดสีกับผิวหนังของคุณได้มากขึ้น ดังนั้นคุณจึงควรสวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ หรือเนื้อผ้าที่โปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี ไม่ระคายเคืองผิวหนัง เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน
-
ดูแลผิวอย่างเหมาะสม
หากเป็นสิวที่หลัง ควรทำความสะอาดผิวด้วยผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่มีส่วนผสมของซาลิไซลิก แอซิด (Salicylic Acid) และหลีกเลี่ยงการสครับผิว ซึ่งอาจเป็นการรบกวนผิวมากเกินไป บำรุงผิวเป็นประจำด้วยครีมหรือโลชั่นที่อ่อนโยนต่อผิว และไม่มีส่วนผสมที่อุดตันรูขุมขน รวมไปถึงห้ามบีบ หรือแกะเกาสิวที่หลังเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผิวหนังอักเสบกว่าเดิม และอาจเป็นแผลเป็นหรือรอยดำหลงสิวหาย
-
อย่าละเลยเรื่องเส้นผม
สำหรับคนที่ผมยาว หากเส้นผมของคุณสัมผัสผิวหนังบริเวณแผ่นหลังบ่อยๆ สิ่งสกปรกหรือน้ำมันที่ติดอยู่บนเส้นผมอาจทำให้เกิดสิวที่หลังได้ คุณจึงควรสระผมให้สะอาดอยู่เสมอ และหากต้องออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกเยอะ ก็ควรรวบผมให้เรียบร้อย ไม่ให้เส้นผมโดนหลัง นอกจากนี้ควรเลือกยาสระผมหรือครีมนวด ที่ไม่มีส่วนผสมที่อุดตันรูขุมขน เมื่อสระผม ควรล้างผมและผิวหนังให้สะอาด ไม่ให้มีผลิตภัณฑ์ตกค้างบนผิวหนัง
-
กินอาหารที่มีประโยชน์
ผลจากศึกษาชี้ว่า อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล glycemic index (GI) หรือปริมาณน้ำตาลสูง รวมไปถึงธัญพืชขัดสี อย่าง ขนมปังขาว ข้าวขาว และอาหารทอด สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวได้ คุณจึงควรงดหรือลดอาหารเหล่านี้ และหันมากินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อไก่ เนื้อปลา ธัญพืชไม่ขัดสี ให้มากขึ้น
-
รักษาสิวที่หลังด้วยยา
วิธีรักษาสิวที่หลังที่ได้รับความนิยมที่สุดวิธีหนึ่งก็คือ การใช้ยาทาและยากิน หากคุณเป็นสิวไม่รุนแรง สามารถซื้อครีมหรือยาทาสิวที่มีส่วนผสมของ ซาลิไซลิก แอซิด หรือเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) จากร้านขายยาหรือร้านค้าที่ได้รับการรับรองมารักษาเองได้ โดยทายาเป็นประจำวันละ 1-2 ครั้ง จะช่วยให้สิวที่หลังของคุณลดลงและหายได้ภายใน 4-8 สัปดาห์ หากคุณเป็นสิวที่หลังรุนแรง รวมถึงมีสิวซีสต์ หรือสิวอักเสบแบบเป็นก้อน (Nodules) ควรปรึกษาปัญหาสิวจากแพทย์ผิวหนัง และแพทย์อาจให้คุณกินยาที่สามารถรักษาสิวได้ เช่น
- ยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและลดอาการอักเสบของสิว โดยอาจต้องกินยาชนิดนี้เป็นเวลา 2-6 เดือนจึงจะเห็นผล
- ยาคุมกำเนิด หรือยาที่ส่งผลกับฮอร์โมน เพื่อช่วยลดปริมาณซีบัมหรือน้ำมันที่ผิวหนัง โดยอาจต้องใช้เวลา 3-4 เดือนจึงจะเห็นผล อย่างไรก็ตามยาจำพวกนี้อาจรบกวนการตกไข่ จึงไม่เหมาะกับวัยรุ่นเท่าใดนัก
- ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) จัดเป็นยารักษาสิวประสิทธิภาพสูง ที่สามารถป้องกันสิวได้ถึง 2 ปีหลังหยุดกินยา แต่ยาชนิดนี้สามารถเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ จึงไม่เหมาะกับหญิงท้อง หรือผู้ที่วางแผนมีลูก อีกทั้งยังอาจทำให้ผู้ที่ใช้ยาเกิดอาการซึมเศร้า รวมไปถึงมีผิวแห้ง โดยเฉพาะบริเวณริมฝีปาก ผู้ป่วยที่จะรับยาชนิดนี้ จึงต้องตรวจเลือด และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อความปลอดภัย
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด