ทำงานเป็นนักร้องในบาร์ แต่งตัวใส่สั้น ผิดศีลมั้ย?

ทำงานเป็นนักร้องในบาร์ แต่งตัวใส่สั้น ผิดศีลมั้ย?

ทำงานเป็นนักร้องในบาร์ แต่งตัวใส่สั้น ผิดศีลมั้ย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าเราตั้งใจประพฤติตนอยู่ในศีล 5 แต่ต้องทำงานเป็นนักร้องในบาร์ และการแต่งตัวที่ต้องใส่สั้น ยั่วยวนบ้าง แบบนี้ผิดศีลมั้ยคะ?

ให้มองว่า ‘ตัวเรา'กับ ‘ใจเรา' อยู่คนละที่กันครับ ในแง่ของศีลแล้ว ถือว่า ‘ตัวเรา' อยู่ในที่สลัว

เพราะต้องกินเหล้าผิดศีลข้อ 5 บ้างด้วยความจำใจ แต่ถ้าเล็งกันจริงๆ ก็ต้องบอกว่า ‘ใจเรา' อยู่ในที่สว่าง เพราะรักศีล แล้วก็รังเกียจเหล้า

การฝืนใจกินเหล้าทั้งที่ไม่อยากกิน จัดเป็น ‘กตัตตากรรม' คือกรรมที่ทำโดยไม่ได้เจตนาให้เป็นเช่นนั้น กรณีของเราคือถูกความจำเป็นทางอาชีพบีบอยู่ ไม่ใช่เริ่มตั้งต้นด้วยความอยากมัวเมาของเราเอง ถ้าพฤติกรรมในการกินเหล้าของเราเป็นแบบจิบๆ พอเป็นพิธี ไม่เคยซดด้วยความนึกครึ้มเองเลย ผลคือจะไม่ต้องฟุ้งซ่านจัด ไม่ต้องเป็นบ้า ไม่ต้องมีจิตวิญญาณฉ่ำน้ำเมาอันเป็นกลิ่นนรกเหมือนพวกขี้เมา แต่เศษกรรมอาจทำให้คิดฝันอะไรเพี้ยนๆจากความจริงบ้าง ขาดสติในเวลาที่ควรมีสติบ้าง

ในแง่ของการประกอบอาชีพ น้องมีความสุขอยู่กับอาชีพนักร้อง กล่อมคนด้วยแก้วเสียง เตะตาคนด้วยรูปกาย โดยความเป็นอย่างนี้ถือว่าประกอบกรรมหลัก ด้วยการสร้างชีวิตให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจจากเหล่าชายที่อยากไปเที่ยวกลางคืนหาความบันเทิง เป็นที่คาดหมายว่าเขาเห็นเขาก็ต้องอยากได้ ถ้ายังมีความเป็นชายตามปกติอยู่

ธรรมชาติของรูปและเสียงแห่งความเป็นหญิงนั้น มีความยวนตายวนใจอยู่แล้ว การเป็นนักร้องก็คือการไปเพิ่มดีกรีความเย้ายวนให้เข้มข้นขึ้น แทนที่เดิมจะเร้าใจได้แค่จ้อง พอดูพอฟังไปพักหนึ่งเขาก็ร่ำๆ จะห้ามใจไม่อยู่ เกือบๆ จะขึ้นเวทีไปฉุดกันอยู่แล้ว อันนี้จะบอกว่าเราไม่จงใจคงไม่ได้ เพราะโดยอาชีพนักร้องในผับบาร์นั้น ขืนไม่สะดุดหูสะดุดตาแขก ก็คงไม่มีใครเขาจ้างกันพอดี

ตรงจุดนี้คือสิ่งที่น้องต้องยอมรับด้วยความเข้าใจคือ เมื่อเราจงใจดึงดูดเขา ใจเราเองก็ย่อมมีใจอ่อนไหว ถูกดึงดูดได้ง่ายเช่นกัน

พูดก็พูดเถอะครับ สังคมของผู้ชายที่เที่ยวกลางคืนนั้น เป็นพวกอยากออกมาหาเศษหาเลยเป็นหลัก ไม่ใช่พวกแสวงหารักแท้มาแต่งงาน โอกาสที่เราจะถูกดึงดูดด้วยเสน่ห์ของใครคนหนึ่งในเหล่าพวกชอบหาเศษหาเลย ก็อาจจะสูงหน่อย เว้นแต่เราจะมีอีกสังคมหนึ่งนอกเหนือจากที่ทำงาน ซึ่งยุคไอทีก็ง่ายครับ เราเล่นทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กก็มีโอกาสเจอผู้ชายดีๆ ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใจจริงของเราจะผูกอยู่กับสังคมแบบไหนมากกว่ากันเท่านั้น

เพื่อความสบายใจ ขอให้คำนึงว่าโดยกฎหมายแล้ว นักร้องเป็นอาชีพสุจริต และโดยธรรม พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสว่านักร้องเป็นหนึ่งในอาชีพที่ผิดศีลธรรม คือหมายความว่าน้องไม่ได้ก่อบาปอย่างพราน อย่างโจร หรืออย่างนักต้มตุ๋น เราแค่อยู่ในที่ที่หมิ่นเหม่กับสารพัดกิเลส ถ้าใจไม่เอากิเลสที่พาเข้ารกเข้าโพรง เท้าเราทั้งสองข้างก็ยังยืนอยู่ในเขตสว่าง แม้ปลายนิ้วอาจล้ำๆ เข้าไปในเขตมืดบ้างก็ตาม

มองด้านดี อาชีพของน้องพาน้องไปเล่นเกมชีวิตแบบที่ต้องระวังรักษาใจยิ่งกว่าคนที่ทำงานในออฟฟิศทั่วไป ในเมื่อต้อง ‘ทำตัว' เป็นแม่เหล็กดูดสายตาชายทั้งหลาย แต่ขณะเดียวกันต้องไม่เผลอ ‘ทำใจ' เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนมีเจ้าของเข้าหาตัว ซึ่งตรงนี้นับว่าเล่นยากครับ ยากที่จะไม่เผลอ แต่ถ้าสร้างความเคยชินที่จะไม่เผลอ เส้นทางของเราก็กลายเป็นเกมสั่งสมพลังต้านทานที่จะตกต่ำเช่นกัน คือ หม่นเหม่เหมือนจะตกอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ตก ยังเลี้ยงตัวไว้ที่ปากเหวได้อยู่

ถ้าผ่านตรงนี้ได้เรื่อยๆ ก็จะเกิดความเข้มแข็ง เหมือนไม่มีบาปใดที่เราต้านไม่ได้เช่นกัน

มีเทคนิคอยู่นิดหนึ่งในการสร้างคาแร็กเตอร์ของเสียงให้ปรุงแต่งจิตคนฟังไปในทางกุศล คือ หมั่นสวดอิติปิโสเต็มเสียง ด้วยเจตนาจะถวายแก้วเสียงเป็นเครื่องบูชาแด่พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ถ้าสวดได้วันละหลายๆ รอบเพื่อสังเกตว่าแต่ละรอบที่สวดนั้น ใจของเรามีความชื่นบานมากหรือน้อยต่างกันแค่ไหน ไม่เร่งให้ชื่นบานมาก แต่รับรู้ความชื่นบานอย่างเป็นธรรมชาติ นานๆ ไปจะพบว่าแก้วเสียงของเรามีพลังบันดาลความสุขสดชื่นอย่างเป็นธรรมชาติได้

หลังจากนั้น แม้ยามพูดคุยปกติ ถ้าตั้งใจพูดให้คนรู้สึกดี พูดให้คนใจเย็น พูดให้คนรู้สึกเกิดสติตื่นขึ้นคิดได้ เสียงเราจะแปลกไป กล่าวคือคาแร็กเตอร์ของเสียงจะไม่ออกแนวดึงดูดให้คนมาหลงติดท่าเดียว แต่จะมีพลังที่บันดาลให้คนฟังเกิดความรู้สึกในทางที่เป็นกุศลรู้สึกปลอดโปร่ง คิดกับเราในทางดีได้มากด้วย

และเพื่อความสบายใจยิ่งกว่านั้น เมื่อมีโอกาสก็ใช้เงินที่ได้มาจากการขายเสียงไปทำทานแก่คนยาก ตอบแทนพ่อแม่ บำรุงพระศาสนา ไปเรื่อยๆจนชั่วชีวิต ในที่สุดน้ำหนักกุศลจะเกินน้ำหนักอกุศล รู้สึกได้จากภายในว่า ‘เราสว่าง' มากกว่า ‘เราสลัว' แล้วเกิดความมั่นใจขึ้นเองว่าแม้ตายก็ไม่ต้องกลัว เราจะเป็นผู้หนึ่งที่สว่างแน่ครับ


บทความโดย : ดังตฤณ
Facebook.com/AskDungtrin

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook