อาการบวมตอนท้อง เกิดจากอะไร และว่าที่คุณแม่รับมือยังไงดี?
คุณแม่ตั้งครรภ์มักประสบปัญหา เท้าบวม ขาบวม มือบวม จนถึงขั้นแหวนที่ใส่อยู่คับแน่น อาการบวมตอนท้อง เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับว่าที่คุณแม่ทุกคน แต่ก็เป็นสิ่งที่สร้างความลำบากให้ว่าที่คุณแม่อยู่ไม่น้อย แต่หากการทำความเข้าใจถึงสาเหตุของอาการบวม และเรียนรู้วิธีลดอาการบวมเหล่านี้ ก็จะทำให้คุณแม่ท้องสามารถใช้ชีวิตในช่วงตั้งครรภ์ได้สบายขึ้น
อาการบวมตอนท้อง เกิดจากอะไร
อาการบวมตอนท้อง หรือที่เรียกว่า อาการบวมน้ำ (oedema หรือ edema) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับว่าที่คุณแม่ เนื่องจากมีของเหลวสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของร่างกายมากเกินไป จนทำให้ส่วนต่างๆ ในร่างกายบวมขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณข้อเท้าและเท้า สาเหตุหลักของอาการบวมตอนท้อง ได้แก่
- ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ทำให้มีของเหลวสะสมคั่งค้างมากกว่าปกติ
- ร่างกายของคุณแม่ต้องผลิตเลือดและของเหลวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50% เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของทารกในครรภ์
- มดลูกที่เจริญเติบโตขึ้นไปกดทับหลอดเลือดดำที่อุ้งเชิงกราน และหลอดเลือดเวนาคาวา (vena cava) ซึ่งเป็นหลอดเลือดดำใหญ่ของร่างกายซีกขวาที่คอยลำเลียงเลือดจากขา (lower limb) กลับไปยังหัวใจ แรงกดที่เกิดขึ้นทำให้เลือดไหลเวียนได้ช้าลง ส่งผลให้ของเหลวในหลอดเลือดถูกดันเข้าสู่เนื้อเยื่อบริเวณข้อเท้าและเท้ามากขึ้น
- ปัจจัยภายนอก เช่น อากาศร้อน การยืนนานๆ การทำกิจกรรมตลอดวัน การขาดโพแทสเซียม การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป การบริโภคโซเดียมมากเกินไป ก็สามารถทำให้เกิดอาการบวมตอนท้องได้เช่นกัน
อาการบวมตอนท้องสามารถเกิดได้ตลอดช่วงตั้งครรภ์ แต่มักพบในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป โดยบางรายอาจมีอาการนิ้ว ใบหน้า และลำคอบวมร่วมด้วย อาการบวมนี้อาจมากขึ้นอีกเมื่อถึงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ และจะยิ่งรุนแรงขึ้น หากว่าที่คุณแม่มีน้ำคร่ำมากเกินไป หรือตั้งท้องลูกแฝด แม้จะคลอดลูกแล้ว อาการบวมตอนท้องนี้ก็ยังจะไม่หายไปทันที แถมในช่วง 3-4 วันแรกหลังคลอดลูก อาการอาจยิ่งหนักขึ้น หลังคลอดร่างกายจำเป็นต้องกำจัดส่วนเกิน เช่น เลือด ของเหลวที่เพิ่มขึ้นมาในตอนท้องออก จึงทำให้คุณแม่เพิ่งคลอดปัสสาวะบ่อยและเหงื่อออกมาก แต่ไตก็ไม่สามารถกำจัดของเหลวส่วนเกินออกได้หมดในทันที ทำให้ยังมีของเหลวคั่งค้างอยู่ในเนื้อเยื่อ อาการบวมจึงยังคงอยู่ จนกว่าร่างกายจะสามารถกำจัดของเหลวเหล่านั้นออกไปได้หมด
วิธีลดอาการบวมตอนท้อง
อาการบวมตอนท้องเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ก็สามารถลดความรุนแรงได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- ลดการบริโภคโซเดียม น้ำตาล ไขมันทรานส์ และคาร์โบไฮเดรต เพราะจะทำให้ของเหลวส่วนเกินคั่งค้างอยู่ในร่างกาย
- ดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ เพื่อให้ร่างกายมีน้ำเพียงพอ ช่วยลดอาการบวมน้ำและภาวะขาดน้ำระหว่างตั้งครรภ์
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด
- หากต้องยืนนานๆ ไม่ควรอยู่ในท่าเดิมตลอด ควรเหยียดแข้งเหยียดขา หรือเปลี่ยนท่าบ้าง
- งดนั่งไขว้ห้าง นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งทับข้อเท้า
- สวมรองเท้าที่สบายเท้า หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าที่มีสายรัดแน่นเกินไป
- สวมเสื้อผ้าหลวมๆ ที่ไม่รัดบริเวณข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้าและน่อง
- นอนตะแคงซ้าย เพื่อให้เลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้สะดวกขึ้น หรือนอนยกขาสูงโดยอาจใช้หมอนรองใต้ขาเพื่อช่วยลดอาการบวม
- ออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำ เช่น เดิน ว่ายน้ำ แอโรบิกในน้ำ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
- ออกกำลังกายบริหารเท้าง่ายๆ เช่น ยืดเหยียดเท้าขึ้นลง 30 ครั้ง หมุนเท้าเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกาอย่างละ 8 ครั้ง
- นวดผ่อนคลาย นวดกดจุดตามฝ่ามือและฝ่าเท้า (reflexology) หรือประคบเย็นบริเวณที่บวม
- งดสูบบุหรี่ เพราะนอกจากอาจทำให้เกิดอาการบวมแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมด้วย
อาการบวมตอนท้องแบบไหนที่ควรกังวล
แม้อาการบวมตอนท้องจะเป็นเรื่องปกติของว่าที่คุณแม่ แต่หากคุณมีอาการเหล่านี้ รีบปรึกษาคุณหมอทันที
- อาการบวมเกิดขึ้นตั้งแต่เช้า หรือพักผ่อนแล้วไม่ดีขึ้น
- หน้าและรอบดวงตาบวม กดน่องแล้วบริเวณที่กดมีรอยบุ๋มไม่หาย รวมไปถึงมือ เท้า ข้อเท้าบวมแบบกะทันหันหรือบวมมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าคุณมีภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ซึ่งเป็นอันตรายกับทั้งแม่และลูกในครรภ์
- ขาข้างหนึ่งบวมกว่าอีกข้าง โดยเฉพาะหากมีอาการปวด หรือกดเจ็บบริเวณน่องและต้นขา เพราะเป็นสัญญาณของภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (thrombosis)
- ข้อมือและมือบวม เพราะเนื้อเยื่อที่บวมอาจไปกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ จนทำให้เป็นโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome หรือ CTS) ได้
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด