โรคมือเท้าปาก ภัยร้ายในเด็ก
เป็นที่ตื่นตระหนกกันยกใหญ่ เมื่อองค์การอนามัยโลก (ฮู) ประกาศเตือนโรคลึกลับในเอเชียกับการเสียชีวิตของเด็กเขมรจากโรคประหลาด ในเวลาเพียงแค่ 3 เดือนด้วยอาการระบบหายใจล้มเหลว ทำเอาสาธารณสุขต้องตื่นตัวกับเรื่องนี้ว่ามันคือโรคอะไรกันแน่...
ล่าสุด....กระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชาและองค์การอนามัยโลก (ฮู) ได้ออกมาแถลงการณ์ร่วมกัน ว่าเด็กที่เสียชีวิตด้วยโรคปริศนาตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 55 ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 52คนจากจำนวนเด็กที่ป่วย 59 คน โดยเด็กที่เสียชีวิตมีอายุตั้งแต่ 3 เดือนถึง 11 ขวบ อีกทั้งผลการตรวจตัวอย่างจากคนไข้ 24 คน พบ 15 คนติดเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 ( อีวี-71) ที่ทำให้เกิด "โรคมือเท้าปาก" ซึ่งเป็นสายพันธุ์ชนิดรุนแรงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบประสาทที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กเหล่านั้น
ส่วนในประเทศไทยนั้น นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ออกมากล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 ในประเทศไทย โดยได้มีการแจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทั่วประเทศ ติดตามสถานการณ์ของโรคอย่างใกล้ชิด โดยพื้นที่ที่ให้เฝ้าระวังโรคเป็นพิเศษ คือ ศูนย์เด็กเล็กตามแนวชายแดน ซึ่งจะต้องระมัดระวัง ดูแลเรื่องสุขอนามัยของเด็ก ต้องสอนเด็กล้างมือให้สะอาด ทั้งนี้ โรคนี้ไม่ถือเป็นโรคระบาด แต่พบประปราย
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมือเท้าปาก ในประเทศไทยเมื่อปี 2554พบ มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อสายพันธุ์นี้ 6คน แต่ในปีนี้เป็นลักษณะกระจาย ไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มใหญ่ครั้งเดียว ตั้งแต่เดือนม.ค.-สิ้นเดือน มิ.ย.ทั่วประเทศมีรายงานเด็กป่วย 10,813ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยในปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกับปี 2554กว่า 2เท่าตัว แต่ไม่มีการเสียชีวิตเช่นกัน โดยพบว่าผู้ป่วยในประเทศไทยคือ เชื้อไวรัสคอกซากี่ เอ 16และเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71พบได้อย่างละครึ่ง
ซึ่งจริงแล้ว โรคมือเท้าปาก นี้ เป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กซึ่งติดต่อกันง่าย แต่มักไม่รุนแรงและหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อกลุ่มไวรัสเอนเทอโร (enterovirus) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ค็อกแซกกีเอ (coxsackie A) ค็อกแซกกีบี ไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 โรคนี้ส่วนใหญ่ติดต่อจากการกินอาหาร น้ำดื่ม การดูดเลียนิ้วมือ หรือของเล่นที่ปนเปื้อนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระ น้ำเหลืองจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง หรือละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ส่วนน้อยที่ติดต่อโดยการสูดเอาฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด เชื้อก่อโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ ค็อกแซกกีเอชนิด 16 ซึ่งทำให้เกิดอาการที่ไม่รุนแรง และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ ที่พบน้อยแต่รุนแรงคือ ไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 ซึ่งเป็นต้นเหตุการตายของเด็กเล็กในประเทศต่างๆ ดังกล่าว
โดยอาการที่จะสังเกตได้เมื่อเป็นคือ หลังติดเชื้อ 3-7 วัน เด็กจะมีอาการไข้ และอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย หลังจากนั้น 1-2 วัน จะมีน้ำมูก เจ็บปาก เจ็บคอ ไม่ยอมดูดนม ไม่อยากกินอาหาร เด็กเล็กอาจร้องงอแง เมื่อตรวจดูในปากพบจุดนูนแดงๆ หรือมีน้ำใสอยู่ข้างใต้ ขึ้นตามเยื่อบุปาก ลิ้นและเหงือก ซึ่งต่อมาจะแตกกลายเป็นแผลตื้นๆ เจ็บมาก ในเวลาไล่เลี่ยกันก็จะมีผื่นขึ้นที่มือและเท้า บางคนขึ้นในฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือแก้มก้น ตอนแรกขึ้นเป็นจุดแดงราบก่อน แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำตามมา มักไม่คันไม่เจ็บ ส่วนน้อยอาจมีอาการคัน อาการไข้มักเป็นอยู่ 3-4 วันก็ทุเลาไปเอง ส่วนแผลในปากมักจะหายได้เอง และตุ่มน้ำที่มือและเท้าจะหายได้เองเช่นกัน ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนรุนแรง ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบเหนื่อย
ถึงแม้จะรู้อาการและสาเหตุของโรคนี้ ปัจจุบันก็ยังไม่มีตัวยาที่ใช้รักษาโดยตรง ทั่วไปแล้วแพทย์จะรักษาตามอาการของผู้ป่วย ทางที่ดีเราจำเป็นต้องดูแลป้องกันตัวเองและป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายสู่คนหมู่มาก โดยเมื่อพบเด็กที่ป่วยควรแยกเด็ก ไม่ให้คลุกคลีกับเด็กอื่น เวลาไอหรือจาม ควรใช้ผ้าปิดปาก อย่าจากรดใส่กันล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หลังถ่ายอุจจาระ หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม ก่อนเตรียมและก่อนทานอาหารหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของ เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ขวดนม ช้อนชาม เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ของเล่นร่วมกับคนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้สุดท้ายฝึกเด็กให้มีสุขนิสัยที่ดี รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใส่นิ้วมือหรือของเล่นเข้าปากเพียงเท่านี้เราก็จะยับยั้งโรคมือเท้าปาก ไม่ให้แพร่เข้าสู่ตัวเราและคนรอบข้างได้แล้ว
จากข่าวคราวนี้คงบอกกับเราได้ว่าเชื้อโรคอยู่รอบตัวเรามีอยู่มากมาย ทั้งชนิดที่รักษาได้ รักษาไม่ได้ เราคงต้องพร้อมรับมือกับมันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาวุธสำคัญที่จะชนะมันคือการมีสุขภาพดี ด้วยการออกกำลังกาย ทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและมีประโยชน์ เริ่มเสียแต่วันนี้ เพื่อชีวิตที่ยืนยาว
เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Teamcontent www.thaihealth.or.th