ไวรัสโรต้าอาจทำลูกรัก พัฒนาการชะงัก

ไวรัสโรต้าอาจทำลูกรัก พัฒนาการชะงัก

ไวรัสโรต้าอาจทำลูกรัก พัฒนาการชะงัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมครับว่า การติดเชื้อไวรัสโรต้าที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงอย่างรุนแรงนั้น อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและการเรียนรู้ของลูกน้อยด้วย! โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีอาการท้องเสียจากการติดเชื้อซ้ำๆ หรือมีอาการท้องเสียเรื้อรัง แต่ไม่ต้องกังวลจนเกินไปนะครับ ผมมีคำแนะนำดีๆและวิธีป้องกันมาฝากครับ

ไวรัสโรต้า เชื้อโรคร้ายที่ต้องระวัง
เชื้อไวรัสโรต้า เป็นเชื้อที่มีชีวิตอยู่ได้หลายชั่วโมงบนมือหรือหลายวันบนพื้นผิวทั่วไป และฝังตัวอยู่ในอุจจาระมนุษย์เราได้นานเป็นสัปดาห์ การติดเชื้อไวรัสโรต้าอาจจะมาจากการกินอาหารที่ปนเปื้อน การสัมผัสพื้นผิวต่างๆ หรือการสัมผัสมือของคนอื่น

คุณแม่ที่มีลูกเล็ก ต้องระวังและคอยเตรียมพร้อมป้องกันเจ้าเชื้อไวรัสโรต้านี้เพราะเชื้อโรต้าเป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงรุนแรงพบได้บ่อยในเด็กตั้งแต่ 6 เดือน เด็กที่ติดเชื้อจะมีอาการท้องร่วง อาเจียนซ้ำ และมีไข้ บางรายที่เป็นมากอาจทำให้ลูกน้อยต้องนอนโรงพยาบาลไปหลายวันหรือเสียชีวิตได้หากเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงและรักษาไม่ทัน และที่สำคัญอาการท้องร่วงไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่รุนแรงจะมีผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกได้ครับ

ติดเชื้อโรต้าส่งผลกระทบต่อพัฒนาการลูก
เมื่อเด็กติดเชื้อไวรัสโรต้าแล้ว บางคนต้องนอนโรงพยาบาลเพราะเกิดภาวะขาดน้ำ ถ้าเป็นในเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน มีโอกาสต้องนอนโรงพยาบาลมากถึง 20-50% มีการศึกษาพบว่าเด็กที่ท้องร่วงซ้ำๆจาการติดเชื้ออาจส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ เพราะเมื่อติดเชื้อร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมสารอาหารและเกลือแร่ได้ ทำให้การพัฒนาทางร่างกายและสมองของลูกหยุดชะงัก ผลคือเด็กในวัยก่อน 7 ปี จะเตี้ยกว่าเด็กวัยเดียวกันได้และหากเด็กที่ท้องร่วงซ้ำๆ ก่อนวัย 2 ปี จะอาจทำให้มี IQ ต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกันได้เด็กอาจเรียนรู้ช้า

ไวรัสโรต้าป้องกันได้ตั้งแต่ลูก 2 เดือน
แน่นอนว่าคงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนอยากเห็นลูกป่วย ไม่ว่าจะป่วยด้วยโรคอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด รวมไปถึงการติดเชื้อจากไวรัสโรต้าด้วยใช่มั้ยครับ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้ด้วยการให้ดื่มนมแม่ และรักษาความสะอาดและในปัจจุบันมีวัคซีนทางเลือกที่ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ เป็นชนิดกินแบบ 2 ครั้ง และ 3 ครั้ง โดยวัคซีนที่กิน 2 ครั้ง ให้เมื่อเด็กอายุ 2 และ 4 เดือน ทำให้เด็กๆ ได้รับการป้องกันที่เร็วขึ้น สำหรับคุณแม่ที่มีลูกเล็กอายุ 2 เดือน ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการป้องกันนะครับ

 

ข้อความโดย นพ.วรมันต์ ไวดาบ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคติดเชื้อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook