ถ้ารังแครังควานหนุ่มๆ ควรรับมืออย่างไร
มาทำความรู้จักกับรังแคกันก่อน รังแคมีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
ประเภทที่ 1 รังแคที่เกิดจากหนังศรีษะหลุดลอกเพราะแห้งเกินไป
อาการ : หนังศรีษะหลุดลอกเป็นสะเก็ดสีเทาขุ่น
สาเหตุ : รังแคประเภทนี้เกิดจากหนังศรีษะแห้งมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะสระผมบ่อยเกินไป อากาศแห้ง โดนสารเคมีหรือแดดเผา เป็นรังแคที่มักเกิดขึ้นชั่วคราว คล้ายๆ กับอาการผิวลอกเมื่ออากาศแห้ง เมื่อรักษาหนังศรีษะจนชุ่มชื้นดีเหมือนเดิม รังแคก็จะหาย
ความรุนแรง : ต่ำ
วิธีรับมือ : รักษาสุขภาพหนังศรีษะให้ชุ่มชื้นอนยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ประเภทที่ 2 รังแคที่เกิดจากเชื้อรา
อาการ : หนังศรีษะหลุดลอกเป็นสะเก็ดหรือขุยสีขาวทั้งเล็กและใหญ่เต็มหัว อาจมีอาการคันร่วมด้วย
สาเหตุ : รังแคประเภทนี้เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่มีอยู่บนผิวและหนังศรีษะของเราทุกคนโดยปกติอยู่แล้ว แต่จะเจริญเติบโตได้ดีเป็นพิเศษในผิวหนังที่บอบบางหรือระคายเคืองจนอักเสบ และทำให้เซลล์ผิวหนังตาย แล้วหลุดลอกเป็นสะเก็ดสีขาวๆ
ความรุนแรง : ปานกลาง
วิธีรับมือ : ใช้แชมพูยาขจัดรังแคสูตรสำหรับเชื้อราโดยเฉพาะ
ประเภทที่ 3 รังแคประเภท Seborrheic Dermatitis
อาการ : หนังศรีษะหลุดลอกเป็นสะเก็ดหรือเป็นแผ่น และอักเสบรุนแรงจนเป็นรอยแดง แสบ และคัน
สาเหตุ : รังแคประเภทนี้แพทย์ผิวหนังจะเรียกว่าซีบอเรอิกเดอร์มาไททิส ( Seborrheic Dermatitis ) ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของต่อมไขมันบนหนังศรีษะ กรรมพันธุ์ หรือสุขภาพไม่แข็งแรง เพราะพักผ่อนน้อย ขาดสารอาหาร หรือเครียดจัด เป็นต้น
ความรุนแรง : มาก
วิธีรับมือ : ใช้ยาทำทรีตเม้นท์หนังศรีษะในความควบคุมของแพทย์ผิวหนัง
X DDT : Don't Do That! พฤติกรรมก่อรังแค
- อย่าสระผมบ่อยเกินไป เพราะน้ำมันตามธรรมชาติจะถูกทำลายไป ทำให้หนังศรีษะแห้งและตกสะเก็ด
- อย่าสระผมด้วยน้ำร้อน ซึ่งจะล้างน้ำมันหล่อเลี้ยงหนังศรีษะออกมากเกินไป หนังศรีษะจึงแห้ง หลุดลอกเป็นขุยได้ง่าย
- อย่าเป็นสิงห์อมควัน เพราะควันบุหรี่ไม่ได้ทำร้ายแค่ปอดและตับเท่านั้น แต่จะเข้าไปเกาะเส้นผมและหนังศรีษะ ทำให้ผมแห้งเสีย ขาดความเงางาม และหนังศรีษะแห้งจนหลุดลอก
- อย่าหมั่นลองของแปลก การลองผลิตภัณฑ์ใหม่บ่อยๆ อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการแพ้จนหนังศรีษะอักเสบได้
- อย่าเกาหรือหวีผมแรงเกินไป เพราะจะขูดหนังศรีษะจนถลอกเป็นแผลและมีโอกาสอักเสบได้
- อย่าจมกับความเครียด เพราะความเครียดทำให้ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ มีส่วนทำให้เกิดรังแคได้โดยไม่รู้ตัว
Emergency!!! วิธีรับมือกับรังแคฉบับเฉพาะหน้า
Mission 1 : เปลี่ยนแนวเป็นหนุ่มติสท์
อุปกรณ์ : หมวกแนวฮิปฮ็อป / เร็กเก้
ผลลัพธ์ : ดีเยี่ยม หมวกผ้าแนวนี้จะคลุมศรีษะได้มิดชิด ปกปิดรังแคได้ดีไม่มีหลุดร่วง
Mission 2 : ใฝ่ธรรมกะทันหัน
อุปกรณ์ : เสื้อผ้าสีขาว
ผลลัพธ์ : ดี เพราะสีขาวจะช่วยลดความโดดเด่นของรังแคบนเสื้อผ้า
มันคืออะไร??
นอกจากคำว่า "Anti - Dandruff" ( แอนติแดนดรัฟฟ์ ) ที่แปลว่า "ขจัดรังแค" แล้ว ยังมีศัพท์คำอื่นที่เกี่ยวกับแชมพูขจัดรังแคที่เราควรรู้ไว้อีก ดังนี้
Zinc Pyrithion ( ซิงค์ไพริไทออน ) แชมพูขจัดรังแคส่วนมากที่เราคุ้นหูและได้ยินกันบ่อยๆ มักจะเป็นสูตรที่ผสมซิงค์ไพริไทออน ซึ่งจะช่วยขจัดรังแคและดุแลหนังศรีษะ เมื่อใช้สระผมสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง อาการก็จะดีขึ้น
Ketoconazole ( คีโตโคนาโซล ) ส่วนแชมพูขจัดรังแคที่ผสมคีโตไคนาโซลนั้นจะแรงขึ้นมาอีกหน่อย เพราะเป็นแชมพูยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราบนหนังศรีษะโดยเฉพาะ เหมาะสำหรับคนที่เป็นรังแคจากเชื้อรา
Selenium Sulfide ( ซีลีเนียมซัลไฟด์ ) แชมพุที่ผสมตัวยานี้ใช้สำหรับรักษาเชื้อราบนหนังศรีษะ กลากเกลื้อน และรังแคประเภท Seborrheic Dermatitis โดยเฉพาะ
สิ่งที่มักตามมาหลังจากการใช้แชมพูสูตรขจัดรังแคก็คือ ผมที่แห้งกระด้าง ไม่นุ่มนวล ขาดชีวิตชีวา กรณีนี้อนุโลมให้สระผมรอบสองด้วยแชมพูธรรมดาได้ แล้วจึงตามด้วยครีมนวด